
ทีดีอาร์ไอระดมสมองพยากรณ์อนาคต 20 ปี ศก.ไทยเติบโตได้ปีละ 5-7 % ระบุกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะยุ่งเหยิง หลากหลายมีทั้ง เอฟทีเอ, ดับบลิวทีโอ,อาเซียน และเอเปค ในขณะที่องค์กรที่จะทำหน้าที่เจรจาไม่พร้อม ประชาชนขาดการมีกฎ-กติกาหลากหลายมาก ชี้ไทยเดินไปสู่ยุค 'สังคมคนชรา' เพราะชนบทที่แต่คนแก่ คนหนุ่มสาวเข้ามาเรียนหนังสือ-หางานทำในเมืองแล้วไม่กลับบ้าน งานวิจัยเผยคนวัย 15-34 หายไปจากภาคเกษตรอย่างรวดเร็ว
วานนี้(28 พ.ย.)ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี มีการสัมมนาวิชาการประจำปี 47 "เหลียวหลังแลหน้า : ยี่สิบปีเศรษฐกิจสังคมไทย" จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นวันที่สอง
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า ผลสรุปของการสัมมนาในครั้งนี้ อยากให้มองว่า เป็นเพียงแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพื่อนำมาใช้ในการผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ด้วยยึดแนวทางหลัก 2 ประการ คือ การให้ความรู้ที่เป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นมากกว่าการพัฒนาตัวเลขเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
"ปีหน้าจากภาวการณ์ จีดีพี สัก 5 % ก็น่าพอใจแล้วกับภาวะกดดันจากปัจจัยภายนอก ส่วนสถานการณ์ภายในรัฐต้องเร่งสร้างกลไก ลดความขัดแย้ง "นายโฆสิต กล่าว
**การค้าดีแต่เกษตรตกต่ำ
ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยนโยบายการคลังและกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเทศไทยในสังคมเศรษฐกิจโลก แม้ในอดีตที่ผ่านมาช่วงก่อนเกิดและหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 การค้าจะดี แต่สินค้าเกษตรของประเทศไทยราคาตกต่ำ สินค้าล้นตลาด เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องเปิดเขตการค้าเสรีเพื่อระบายสินค้าเหล่านี้ ด้านการลงทุนพอใช้ได้ สามารถผลิตสร้างฐานผู้ประกอบการไทยให้ดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการต่างชาติยังมีอิทธิพล เหมือนคนไทยอยู่
ส่วนระบบการเงินแย่มากไม่มีความพร้อม นโยบายเศรษฐกิจไม่สอดคล้องไม่สามารถบริหาร เพื่อต่อสู้กับสงครามทางการเงินได้ ซ้ำร้ายการเมืองก็มีแต่ซ้ำเติมไม่ช่วยเหลืออะไรเลย
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตนั้น รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเกิดความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยไปมีกรอบเจรจาที่มีความแตกต่างมากมายหลากหลายเต็มไปหมด เช่น WTO, FTA ,ASEAN และ APEC ทำให้เกิดรูปแบบระเบียบกติกา กฎหมายการค้าที่หลากหลาย
" องค์กรเจรจาไม่พร้อม ต้องประสานงาน เยอะแยะกับกลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งคนเสียเปรียบและได้ประโยชน์ จึงขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพราะต้องไปเจรจาหลากหลายกลุ่ม"
นายณรงค์ชัย กล่าวด้วยว่า ความยุ่งยากอีกอย่างหนึ่งต้องบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะ กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา กิจการสาธารณูปโภค ขณะที่เทคโนโลยีที่จะมารองรับทางการค้ากลับไร้ทิศทาง ขาดการพัฒนางานวิจัย ไปสู่การสร้างการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ มารองรับ เพราะนโยบายระดับชาติถูกกำหนดจากคนในวงแคบ
**อนาคตสังคมคนชรา
นายฉลองภพ สุสังกรณ์กาญจน์ ประธานทีดีอาร์ไอ. กล่าวว่าแนวโน้มในอนาคต 20 ปีข้างหน้า เนื่องจากความหลากหลายของระบบเศรษฐกิจ ประเทศไทยน่าจะขยายตัวในระดับปานกลางได้ (5-7%) ซึ่งจะทำให้ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วในเชิงรายได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายและความเสี่ยงของการพัฒนาในหลายเรื่อง ได้แก่ ความเสี่ยงที่มาจากต่างประเทศ คือ ความไม่สมดุลในระบบการเงินของโลกที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาอันใกล้ รวมทั้งการพัฒนาระบบการเงินของประเทศให้มีความเข้มแข็งเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง การเชื่อมโยงกันระหว่างเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาคและพหุภาคี จะทำให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบซึ่งกันและกันมากขึ้น เช่น ในเรื่องราคาน้ำมัน เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจไทยต้องวางตัวเองให้เหมาะสมคือ หา Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรระดับต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน
ประธานทีดีอาร์ไอ. กล่าวว่า รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรที่แนวโน้มในอนาคตจะขาดแคลนแรงงาน จะมีแต่คนแก่คนชรา คนหนุ่มสาวอพยพอยู่ในเมือง ประชากรในสังคมไทยในอนาคตจะเป็นสังคมคนชรา ช่องว่างรายได้ห่างมากขึ้น ควรปรับเปลี่ยนนโยบายเอื้ออาทร เพราะจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี น่าจะมุ่งเน้นเสนอนโยบายการกระจายรายได้มากกว่า
งานวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่อง "ชราภาพของภาคเกษตร อดีตและอนาคตของชนบทไทย" โดยนายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณของทีดีอาร์ ไอ. ซึ่งได้รับการนำเสนอในการสัมนาครั้งนี้ ระบุว่า ในช่วงปี 2532-2541 แรงงานจากภาคเกษตรและจากชนบทได้เคลื่อนย้ายออกในอัตราที่เร็วขึ้น โดยผู้ที่เคลื่อนย้ายออกส่วนใหญ่ เป็นคนหนุ่มสาวในวัย 15-34 ปี ซึ่งผู้ที่หายไปจากวัยทำงานในภาคชนบทเหล่านี้ ไม่ได้ไปทำงานในเมืองแต่อย่างเดียว แต่ที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นเพราะไปเรียนหนังสือ แต่ผู้ที่ย้ายออกจากภาคเกษตรในวัยหนุ่มสาว ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด มักจะไม่ค่อยกลับมาทำงานในภาคเกษตร
ผลพวงของการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งหมดนี้คือ อายุเฉลี่ยของแรงงานในภาคเกษตรได้ค่อยๆสูงขึ้นจากประมาณ 33 ปีในปี 2523 เป็น 40 ปี ในปี 2545 ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการผลิตในภาคเกษตรคือ การขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ทำให้เกษตรกรไทยในบางที่ หันไปใช้แรงงานต่างประเทศแทน และ ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี่เพื่อทดแทนการใช้แรงงาน ซึ่งเป็นการลดขีดจำกัดในการทำไร่ทำนาของเกษตรกรแต่ละราย และสามารถเอื้อให้เกษตรกรสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ ในส่วนนี้จะมีผลในระยะยาวต่อโครงสร้างการผลิตสินค้าการเกษตรของประเทศไทย
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจชนบท เมื่อชนบทไทยที่เคยเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของประเทศ แต่ในปัจจุบัน เมื่อมีเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น และไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้อย่างเต็มที่เหมือนเดิม แต่ต้องอาศัยเงินที่ส่งมาจากลูกหลานที่ทำงานในเมืองส่วนหนึ่ง ชนบทไทยก็ลดบทบาทในการผลิตลง มีการบริโภคมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นศูนย์กลางการบริโภคแต่ถ่ายเดียว เพราะยังมีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ คนรุ่นใหม่ซึ่งหมายถึงเกษตรกรที่ปัจจุบันอายุประมาณ 35 ปี ที่เข้ามาแทนที่นั้น นับวันจะมีจำนวนน้อยลง แต่น่าจะเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อสูงกว่าเพราะทำการเกษตรแบบ "มืออาชีพ" ที่น่าจะให้รายได้เหนือกว่าระดับเฉลี่ยของเกษตรกรในปัจจุบันมาก ทว่าเกษตรกรรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องจับจ่ายใช้สอยเงินของตนในหมู่บ้าน เพราะมีโอกาสสูงที่วิถีชีวิตของเขาจะผูกพันกับเมืองมากกว่าหมู่บ้านของตน เนื่องจากการเข้าออกหมู่บ้านจะเป็นไปได้โดยสะดวก เพราะคนเหล่านี้จะมีรถยนต์เป็นของตัวเองมากขึ้น
"ดังนั้นถ้าจะเสี่ยงพยากรณฺ์สถานการณ์ในอนาคตของชนบทไทยก็กล่าวได้ว่า ชนบทไทยจะมีประชากรลดลง และจะลดลงอย่างรวดเร็วในยี่สิบปีข้างหน้า แต่น่าจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ค่อยๆดีขึ้น สมการที่เป็นสมมติฐานหลักของการเมืองไทยคือ ชนบท =เกษตรกรรม=ความยากจน น่าจะเป็นจริงน้อยลง อย่างน้อยก็ในส่วนที่ระบุว่า เป็นชนบทหรือเกษตรกรแล้วต้องยากจน" งานวิจัยของนายอัมมารกล่าวในท้ายที่สุด
28 พฤศจิกายน 2547