
บรรจุเงื่อนการใช้แรงงานเป็นจุดขาย
สืบเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับการจับตามองมาก ไม่เพียงในฐานะเมืองชายแดนไทย-พม่า ที่มีมูลค่าการค่าปีละนับหมื่นล้านบาท และเป็นหนึ่งในเมืองหน้าด่านโครงการอีส-เวสต์ คอริดอร์ นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุมัติในหลักการให้ อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา และล่าสุดที่ประชุมครม.สัญจร เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเมื่อมีการบังคับใช้จะครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากด้วย "ฐานเศรษฐกิจ"ได้สัมภาษณ์นายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ถึงทิศทางเศรษฐกิจของอำเภอแม่สอดนับจากนี้
-มองภาพแม่สอดอย่างไร
ถึงตอนนี้คนแม่สอดต้องรอการกำหนดให้ชัดเจนก่อนว่า ยุทธศาสตร์ของแต่ละอำเภอจะมีศักยภาพอย่างไร และนำมาใช้ เท่าที่คุยกันในกลุ่มหอการค้า อย่างเช่นอำเภอพบพระที่เป็นแหล่งเกษตรให้ ก็จะส่งเสริมให้มีการเกษตรที่สมบูรณ์แบบและครบวงจร สำหรับแม่ระมาด เป็นอำเภอที่เราคาดว่า มีความเป็นไปได้ว่า อุตสาหกรรมทั้งหมดไปลงที่แม่ระมาด สำหรับแม่สอด สิ่งที่เราอยากเห็น คือ เป็นแหล่งให้บริการพาณิชยกรรมและธุรกิจการเงินรวมถึงภาคบริการทั้งหมดมาลงที่อำเภอแม่สอด ส่วนที่อำเภออุ้มผาง ท่าสองยางนั้น อุ้มผางโดยศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทำอย่างไรจะส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวที่สามารถทำให้นักท่องเที่ยวมีความสะดวกและความสบายใจในการเดินทางมาเที่ยวที่อุ้มผาง สำหรับอำเภอท่าสองยางนั้น ตามประวัติศาสตร์แล้วเป็นเมืองที่น่าศึกษามาก ซึ่งก็น่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มีชนเผ่าหลายเผ่าอยู่ที่นั่น และมีวัฒนธรรมที่มีความแตกต่าง เราก็น่าจะดึงจุดเด่นนั้นมาใช้ หากมองในแง่เศรษฐกิจ เราพร้อมแล้ว มีทั้งการท่องเที่ยว มีวัฒนธรรม การศึกษา พาณิชยกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมครบหมด
-อุตสาหกรรมที่อยากให้เกิด
อุตสาหกรรมที่เราอยากให้เกิด คือ อุตสาหกรรมเบา ซึ่งเจตนาจริงก็รู้ว่า เราต้องการที่จะใช้เรื่องแรงงาน แต่การที่เราจะใช้แรงงานที่นี่ มันก็ต้องมีกฎระเบียบการใช้ให้สมดุลกับความเป็นจริง คงไม่ต้องการอุตสาหกรรมที่มีมลภาวะ ทั้งหมดเราคงไม่ยินดีต้อนรับ ขอความกรุณาอย่าเข้ามา แต่ถ้าเป็นในเรื่องของแรงงาน เรายินดี แต่ว่าคงต้องอยู่ในกฎระเบียบด้วย
สิ่งที่เราอยากจะเห็นในการร่างกฎหมายเศรษฐกิจชายแดนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเราอยากให้มีเรื่องของกฎหมายแรงงานเป็นหัวใจด้วยว่า มาตรการหรือวิธีการป้องกันการใช้แรงงานมีอะไรบ้าง และเราก็หยิบส่วนนี้ออกมาก่อนและมาคุยว่าการที่เรามาอยู่ที่นี่ เราสามารถให้อะไรท่านได้ ถ้าเราไม่มีจุดเด่นในเรื่องนี้ คงไม่มีโรงงานไหนมา เพราะว่าไปตั้งที่อยุธยาก็ได้ ตนว่าเขต 3 ไปตั้งที่สิงห์บุรี ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาถึงแม่สอด
-แรงงานในที่นี้หมายถึงแรงงานต่างด้าว
ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว เดิมมีการมองว่า จุดขายของอุตสาหกรรมชายแดน คือ เรื่องของแรงงานต่างด้าว ตอนนี้คงไม่สำคัญเท่าไร เพราะรัฐบาลประกาศแล้วว่า สามารถนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้ทั่วประเทศ แต่ตอนนี้ต้องมองว่า จะทำอย่างไรให้แรงงานที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ โดยไม่ต้องออกไปทำงานในจังหวัดอื่น อันนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่เราน่าต้องทำให้เป็นจุดเด่น อาจจะมีกฎหมายเฉพาะว่าถ้ามีแรงงานเข้ามาในแม่สอดแล้ว จะไม่ไปในจังหวัดอื่น จังหวัดอื่นมีแรงงานอยู่เท่าไร ก็ให้มีอยู่เท่านั้น อย่างเช่นแม่สอดนั้น มีสิทธิในการนำแรงงานมาเช้ากลับเย็นจะได้หรือไม่ คือ สามารถเพิ่มปริมาณแรงงานตามความต้องการของธุรกิจได้ แต่มีข้อแม้ว่าแรงงานเหล่านี้จะต้องไม่สร้างมลภาวะทั้งหมดของประเทศไทย ทั้งเรื่องขยะ อนามัย สาธารณสุขและความมั่นคงด้วย
-มองประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจจะเชื่อมโยงกับท้องถิ่นอย่างไร
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช้ท้องถิ่น แต่เป็นเศรษฐกิจของชาติด้วย เพราะมองจากตัวเลขการส่งออกที่ผ่านมาในปี 2547 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 100 % และผลประโยชน์ก็เป็นประเทศไทยที่ได้รับผลประโยชน์ ภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดเติบโตขึ้น สามารถส่งสินค้าไปประเทศพม่าได้มากขึ้น ถ้าเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้น เกิดการค้าชายแดนเพิ่มมากขึ้น และมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าในการยกเลิกข้อยกเว้น มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเที่ยวได้ และเราได้รับการพัฒนาจากประเทศเพื่อนบ้านจากการท่องเที่ยวเชื่อว่าหลายประเทศไม่น่าจะมีเที่ยวบินตรงเข้าสู่เมืองย่างกุ้ง และคงต้องเดินทางผ่านประเทศไทยเข้าสู่แม่สอด อาศัยแม่สอดเป็นประตูสู่พม่า เป็นประตูนำนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าสู่ประเทศพม่า เป็นการนำนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายเงินในแม่สอดอย่างน้อยก็ไปกลับ ไปก็มาค้างที่นี่ 1 คืน กลับอีก 1 คืน ก็น่าจะทำให้มีการใช้เงินที่นี่
-ความร่วมมือในพื้นที่ระหว่างไทยกับพม่า
ในแง่ของภาคประชาชนถือว่า ดีมาก ในภาครัฐก็ถือว่า ขึ้นอยู่กับนโยบายบริหารของยุคนั้น อย่างในเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในยุคนายพลขิ่นยุ้น ถือว่าบรรยากาศดี แต่ว่าพอเปลี่ยนผู้บริหารก็ต้องให้เวลาอีกนิด ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
-สถานการณ์การค้าชายแดน
การค้าชายแดนโตขึ้น แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำไปแล้ว ก็กระทบมูลค่าการส่องออกในระยะสั้นเท่านั้นเอง ตอนนี้ก็เกือบเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เฉลี่ยเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนในช่วงเปลี่ยนตัวผู้บริหารเหลือประมาณ 700 ? 800 ล้านบาท/เดือน แต่ที่เราเคยทำไว้สูงสุด คือ 1,200 บาท/เดือน
มอง-การเชื่อมโยงเศรษฐกิจพิเศษกับโครงการอีสต์-เวสต์ คอริดอร์อย่างไร
เป็นการย่นระยะทางการเดินทาง ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และจะเป็นการลดต้นทุนสินค้าในด้านการขนส่ง ถ้าท่าเรือน้ำลึกที่เวียดนามสำเร็จ ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้ในเดือนเมษายน 2548 นี้ ถ้าท่าเรือทางพม่าเสร็จเรียบร้อย มีท่าเรือรองรับได้ และทางถนนที่รัฐบาลบอกว่า จะให้งบไปก่อสร้าง ซึ่งยังไม่ได้ทำ ถ้าได้ทำและการพัฒนาต่อไปอีกประมาณ 50 กิโลเมตร และเราก็ได้มีการเสนอไปทางรัฐบาลว่า เพิ่มอีก 500 ล้านบาทได้ไหม ไปลงจากเทือกเขาตะนาวศรีตรงเนินเขาไปจังหวัดกรุกริ จะใช้เงินอีกประมาณ 500 ล้านบาท ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญแล้ว ต่อไปการขนส่งสินค้าจะเกิดความสะดวก โดยเฉพาะสินค้าจากภาคเหนือ ภาคอีสานของไทย เราไม่ต้องลงไปที่ท่าเรือแหลมฉบัง จากอีสานเหนือไปพักที่แม่สอดไปลงเรือที่ย่างกุ้ง เพื่อที่จะส่งไปทางยุโรปได้ ไม่ต้องไปอ้อมแหลมมะละกาทางสิงคโปร์
-ปัจจุบันพม่ามีการเปิดกว้างมากขึ้น
-พม่าค่อยqเปิด แต่ไม่เหมือนประเทศอื่นที่เปิดประตูกว้าง แต่เขาจะค่อยๆเปิด ตอนนี้การเดินทางเข้าพม่ายังมีปัญหาในเรื่องของชนกลุ่มน้อย แต่คิดว่าทางพม่าสามารถที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ เนื่องจากมีความตั้งใจและความพยายามในการแก้ไขอยู่แล้ว
-จุดขายของแม่สอด
เราสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าขายในท้องถิ่น เราสามารถค้าขายได้กับอีกหนึ่งประเทศ ผู้บริโภคเรามากกว่าที่อื่น เรายังมีโอกาสได้ผู้ประชาการอีก 40 ล้านคนจากประเทศพม่า เพราะฉะนั้นมูลค่าการบริโภคจึงสูงมาก ตรงนี้น่าจะเป็นจุดเด่นของแม่สอดมากกว่าเรื่องของแรงงาน
-ภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่ปี 2548
เศรษฐกิจในพื้นที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพราะด้านการเกษตรมีการพัฒนาและมีการขยายอย่างต่อเนื่อง และสินค้าที่ภาคเกษตรที่เราปลูกอยู่ทุกวันนี้ มีความจำเป็นต่อการบริโภคทั้งหมด และสินค้าเกษตรบางตัวสามารถผลิตได้เป็นอันดับต้นๆของประเทศ อย่างดอกกุหลาบมูลค่าการส่งออกของเราสูงมาก และพืชผักต่างๆเรามีตลาดที่ใหญ่และเรายังมีผลไม้หลายตัวที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ แม้บางท่านจะพูดว่าราคาพืชผลทางการเกษตรเป็นปัญหาอุปสรรค แต่จริงๆแล้วไม่มีปัญหา อย่างข้าวโพดเราก็ผลิตได้มากขึ้น ถั่วเหลืองเราก็เยอะ สินค้าหลักของเรายังคงเป็นความต้องการ ของผู้บริโภคอยู่
สำหรับในภาคธุรกิจการเติบโตทางการก่อสร้างก็ยังสูง ด้านวัสดุ ก่อสร้างก็ยังสามารถไปได้ไกลและเมื่อมารองรับเขตเศรษฐกิจชายแดนส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการก่อสร้างมากขึ้น และเชื่อว่าทางการเกษตร ด้านการค้าขาย บริการการ ท่องเที่ยวยังสูงมาก หลังจากที่ครม.มาประชุมที่แม่สอดเมื่อเดือนตุลาคม 2547 หลังจากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวหลังไหลเข้าแม่สอดอย่างต่อเนื่อง ร้านค้า ร้านอาหาร ในช่วงนี้ก็มีความสุขเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น
-นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่
นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ตอนนี้เป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ และรองลงมาเป็นนักท่องเที่ยวในยุโรป เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีความต้องการทางด้านธรรมชาติ ส่วนมากที่มาแล้วจะไปที่น้ำตกทีลอซู โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และส่วนใหญ่จะมาที่แม่สอดก่อน ซึ่งถ้าแม่สอดมีการพัฒนาและการสร้างที่พักมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะมาพักที่แม่สอดมากขึ้น ก่อนที่จะไปที่อุ้มผาง โดยส่วนใหญ่จะมาพักเฉลี่ย 2-3 คืน
ภาคธุรกิจใดที่เป็นหัวใจหลักของแม่สอด
หากมองในตอนนี้ ยังคงเป็นภาคการเกษตร ซึ่งมีมูลค่าสูงมากในตอนนี้ รองลงมา ก็เป็นการค้าชายแดน ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว
30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2548