
16 ก.ค. 49 - นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา กล่าวระหว่างการเสวนาหัวข้อ "สิทธิชุมชน : เส้นทางกระจายอำนาจจัดการทรัพยากรของชุมชน" ในมิตินักวิชาการ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมว่า ในโลกนี้สามารถแบ่งรูปแบบของรัฐเป็น 2 แบบ คือ รัฐมหาอำนาจ (Super state) กับรัฐบริวาร (Modern nation state) ซึ่งรัฐบริวารนั้นถูกครอบงำจากรัฐมหาอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้กำลังทหาร ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง หรือระบบกฎหมาย โดยอ้างอิงกระบวนการโลกาภิวัตน์ กลไกตลาดเสรี เพื่อเป็นช่องทางในการดูดซับทรัพยากรธรรมชาติจากทุกแหล่งทั่วโลกเข้าไปสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับมหาอำนาจ ทั้งนี้ สิ่งที่ถูกถ่ายทอดจากมหาอำนาจสู่รัฐบริวารคือทุนเทคโนโลยี หรือวิชาการ สินค้าและบริการ แต่สิ่งที่ไม่มาหรือมาก็น้อยมาก คือมาตรฐานทางคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม
"ผมฟังนายกฯพูดในรายการ (นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน) ตอนเช้าท่านก็บอกว่าโลกาภิวัตน์มี 4 อย่าง คือ ทุน คน สินค้า และข้อมูลข่าวสาร ไม่ปรากฏว่ามีการเคลื่อนตัวลงมาของคุณธรรม ความถูกต้องชอบธรรม เมื่อสังคมไม่มีมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม ระบบกฎหมายของรัฐบริวารจึงเป็นระบบกฎหมายที่เป็นเครื่องมือของผู้กุมอำนาจรัฐที่ในการสร้างความชอบธรรม แล้วก็ปกครองประชาชนตามที่ผู้ทรงอำนาจต้องการซึ่งจะต้องสอดคล้องกับรัฐมหาอำนาจ ดังนั้น มีอะไรก็ต้องรายงานให้รัฐมหาอำนาจทราบว่าจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ ภาพความเชื่อมโยงนี้ตรงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ระบบกฎหมายในรัฐนั้นต้องเป็นไปเพื่อปกป้องฐานทรัพยากรของรัฐ ปกป้องสภาวะแวดล้อมของรัฐไม่ให้เกิดพิษภัย ปกป้องความเป็นธรรมในสังคม ไม่ใช่ใช้กฎหมายปกป้องคุ้มครองอำนาจรัฐและผลประโยชน์ของอำนาจรัฐ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้กุมอำนาจ" นายจรัญกล่าว
นายจรัญกล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐก็เช่นกันแทนที่จะเป็นเครื่องมือของชุมชนที่คอยปกป้องสิทธิประชาชนและชุมชน ให้พ้นจากผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่อยู่ในกรอบศีลธรรม จริยธรรม กลับกลายเป็นเครื่องมือค้ำบัลลังก์ให้กับคนที่เข้าไปอยู่ในอำนาจรัฐ และเป็นอาวุธทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม สภาพอย่างนี้ทำลายสิทธิชุมชนแน่นอนที่สุด การที่ชุมชนตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ก็เพราะผู้กุมอำนาจรัฐที่ฉลาด ฉลาดกว่าคนก่อนๆ "แต่เราขอถามที่มาของผู้ทรงอำนาจรัฐ 16 ล้านเสียง แค่คูณด้วยเสียงละพัน มันก็เป็นเงินแค่ 1.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้นเอง เป็นเศษเงินของฐานทุนที่กุมอำนาจรัฐ เป็นสภาวะที่บกพร่องอยู่ในรัฐบริวารไม่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เกิดกับประเทศที่เป็นรัฐบริวารที่ลอกเลียนแบบมหาอำนาจ" เลขาธิการประธานศาลฎีกากล่าว