โรงไฟฟ้าถ่านหินพลังงานทางเลือกบนความขัดแย้ง

มติชน - 12 ก.พ. 50

ระวัง"หยิกเล็บเจ็บเนื้อ"

การคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของกลุ่มองค์กรภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) และชาวบ้านจากอำเภอบางสะพาน และทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กว่า 200 คน ในงานการเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2550-2564 หรือพีดีพี 2007 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้การเปิดรับฟังความเห็นในวันนั้นเป็นอันต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

เกิดจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าเบื้องต้นที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำขึ้นสำหรับปี 2550-2564 มีการกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินรวมอยู่ด้วย

โดยวางทางเลือกไว้ 3 กรณี คือ 1.แผนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด กำหนดให้โรงไฟฟ้าถ่านหินสูงสุด คือ 31 ยูนิต รวม 21,700 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าก๊าซ 3,500 เมกะวัตต์ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กหรือเอสพีพีจำนวน 1,700 เมกะวัตต์ ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 5,177 เมกะวัตต์

กรณีที่ 2 กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินตามพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ จะมีทั้งหมด 4 ยูนิต รวม 2,800 เมกะวัตต์ ทำให้มีโรงไฟฟ้าก๊าซสูงสุด 22,400 เมกะวัตต์ และกรณีที่ 3 คือ พิจารณานำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าแผนด้วยจำนวน 5,000 เมกะวัตต์ และให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 25 ยูนิต รวม 17,500 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซ 3,500 เมกะวัตต์ ทั้ง 3 แผน โรงไฟฟ้าถ่านหินจะเข้าระบบได้เร็วที่สุดอีก 7 ปีข้างหน้า หรือในปี 2557

นอกจากนี้ ตามแผนดังกล่าวยังได้ระบุว่า กฟผ.ได้มีสถานที่รองรับที่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดกระบี่สามารถสร้างได้ 1 โรง และที่ทับสะแกก่อสร้างได้ถึง 3 โรง รวมแล้วเป็น 4 โรง (ยูนิต) สอดคล้องกับทางเลือกที่ 2 ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจว่ากระทรวงพลังงานจะเลือกแนวทางที่ 2 แน่นอน

แต่กระทรวงพลังงานก็ยืนยันว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ ทั้ง 3 แนวทางเป็นเพียงทางเลือกเบื้องต้นเท่านั้น เพราะจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาปรับแก้ไขในส่วนที่มีความเห็นแตกต่าง ก่อนจะจัดทำแผนพีดีพีฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพลังงานเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น มีตั้งแต่การจัดทำแผน จากที่ผ่านมาจะกำหนดแผนและอนุมัติให้เอกชนหรือ กฟผ.ก่อสร้างก่อน จึงให้เจ้าของโครงการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชน เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่ผู้ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกลับรวมกลุ่มคัดค้านอย่างจริงจัง ตั้งแต่ยังไม่ทันได้พูดคุยรายละเอียดของแผนที่จัดทำขึ้น แถมยังประกาศเจตนารมณ์ว่า "มึงสร้าง กูเผา"

การคัดค้านดังกล่าวอาจจะเร็วไปหน่อยสำหรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทำให้การคัดค้านไม่ค่อยมีน้ำหนักในการดึงกระแสสังคมให้เป็นแนวร่วม เพราะขณะนี้แทบทุกคนรู้ดีว่าสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤตเพียงใด

สถานการณ์ในขณะนี้กับช่วงที่เกิดเหตุการณ์คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-หินกรูดอย่างรุนแรงเมื่อปี 2540-2541 จนเป็นเหตุให้ทั้ง 2 แห่งต้องย้ายพื้นที่ก่อสร้างและเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนนั้น แตกต่างกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี

เพราะวิกฤตพลังงานของประเทศขณะนี้ ส่อเค้าสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากพลังงานส่วนใหญ่ต้องนำเข้า แหล่งพลังงานที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันใช้ในการผลิตไฟฟ้าถึง 70% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

มีการคาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปีจะเพิ่มขึ้นถึง 90% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี ถือเป็นสัดส่วนที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากจะมีปัญหาในการจัดหาปริมาณก๊าซธรรมชาติมารองรับ เพราะลำพังในอ่าวไทย และการรับซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านคงจะไม่เพียงพอ ประเทศไทยจึงต้องหาพลังงานทางเลือกอื่นเข้ามาเพิ่ม

ถ่านหินจึงกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะมีราคาถูกเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเมื่อเทียบกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา

สิ่งที่สังคมอยากเห็นคือ "ความสมานฉันท์" การหันหน้าเข้าหากันด้วยการพูดกันอย่างมีเหตุและผลที่อยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวม

หากได้มีการแสดงความเห็นตามกรอบแล้ว กระทรวงพลังงานไม่รับฟังหรือแก้ไข การออกมาคัดค้านภายหลังย่อมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้และยังทันการณ์อยู่ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่จะได้รับการสนับสนุนจากสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามครรลองของกรอบกติกาอย่างถูกต้อง ชอบธรรม และในอีกทางหนึ่งจะเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพ "ดันทุรัง" ของรัฐบาลที่ไม่ยอมฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ทั้งที่มีการทำประชาพิจารณ์แล้ว

ที่สำคัญเหตุการณ์ในอดีตก็มีตัวอย่างให้เห็น หากชุมชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย โรงไฟฟ้าถ่านหินก็เกิดยาก

ทางฝ่ายนโยบายเองก็ต้องมีความจริงใจในการรับฟังความคิดเห็น และกำหนดนโยบายด้วยความรอบคอบ เพื่อลดความขัดแย้งและไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีบ่อนอก-หินกรูด เพราะท้ายที่สุดผู้รับก็คือผู้ใช้ไฟฟ้า หากวางแผนผิดพลาด สร้างโรงไฟฟ้าน้อยไปก็เกิดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ หากมากเกินความจำเป็น ค่าไฟก็เพิ่มขึ้น เพราะเกิดต้นทุนส่วนเกิน

หรือหากไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการ ก็จะเกิดปัญหาเหมือนกรณีที่ กฟผ.ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับบริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เจ้าของโครงการ "หินกรูด" ประมาณ 5,000 ล้านบาท กรณีที่ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ขณะที่บริษัทยังได้รับสิทธิให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเดียวกัน แต่ให้เปลี่ยนเชื้อเพลิงไปเป็นก๊าซธรรมชาติ และให้ย้ายพื้นที่ตั้งไปยังจังหวัดราชบุรี

ส่วนบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด เจ้าของโครงการ "บ่อนอก" นั้น แม้จะไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน แต่รัฐบาลก็ต้องอนุมัติให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 โรง รวมเป็น 2 โรง ที่จังหวัดสระบุรี หรือโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอยในปัจจุบัน เพื่อแลกกับเงินค่าชดเชยกว่า 4,000 ล้านบาท การชดเชยทั้ง 2 กรณีนี้ กลายเป็นภาระของประชาชนทุกคน เพราะถูกบวกอยู่ในต้นทุนค่าไฟฟ้า

แม้ว่าในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเบื้องต้น กระทรวงพลังงานจะกำหนดไว้ว่าเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงเอง หากไม่สามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมรับ แต่ก็ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า หากในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านระเบียบหรือกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมแล้วกระทบต่อโครงการ รัฐบาลจะเป็นผู้รับความเสี่ยงนั้นให้ การกำหนดนโยบายจึงควรคำนึงถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงนโยบายในอนาคต และต้องให้ความสำคัญกับต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมทั้งให้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอกับการพัฒนาประเทศ

ก็หวังแต่เพียงว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ท้ายที่สุดผลที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่กับ "ประชาชน" ทั้งประเทศ

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด