โศกนาฏกรรม 'กระเทียมไทย' อำมหิตเงียบ 'FTA'

ไทยโพสต์ 25 กุมภาพันธ์ 2550

ถ้าใครเป็นคนเดินตลาดซื้อกับข้าวกับปลาเป็นประจำ ก็คงจะรู้ว่าในช่วงเวลาประมาณเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ราคากระเทียมไทยที่กลีบเล็กๆ กลิ่นฉุนจัด

ราคาถีบตัวขึ้นสูงอย่างมากจากช่วงก่อนกระเทียมรุ่นใหม่จะออกสู่ตลาด ที่มักจะมีราคาแพงอย่างมากไม่เกินกิโลกรัมละ 70-80 บาท ก็พุ่งพรวดขึ้นมาเป็น 110-120 บาทต่อกิโลกรัม

อะไร? ที่เป็นปัจจัยทำให้กระเทียมไทย ทำสถิติราคาแพงสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน

จากรายงานการศึกษาเรื่อง "ภาพรวมการผลิตกระเทียมไทย" ที่เป็นการศึกษาเบื้องต้นของ มูลนิธิชีวิตไทย ระบุว่า ภายหลังการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.46 เป็นต้นมา กระเทียมซึ่งถูกจัดเป็นสินค้าในหมวดผัก ผลไม้ (รหัสสินค้า 07-08) ไทยต้องลดภาษีนำเข้าในโควตาเหลือ 0% ทันที ทำให้กระเทียมสินค้าในกลุ่มรหัส 07 ต้องลดภาษีนำเข้าในโควตาเป็น 0% ทันที ส่วนการนำเข้านอกโควตาให้คงผูกพันตามเงื่อนไขของ WTO ที่กำหนดไว้ที่อัตรา 57% ส่วนโควตานำเข้า (ที่คิดภาษีนำเข้า 0%) จะมีปริมาณอยู่ที่ 65 ตัน

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ร่วมกับกรมศุลกากร ในการเก็บข้อมูลการนำเข้าของกระเทียมจีน ชี้ให้เห็นว่า การนำเข้ากระเทียมจีนในปี 2545 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นที่ประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ได้กระโดดจากปี 2543 ที่มีปริมาณแค่ 18 ตัน/ปี และ 65 ตัน/ปีในปี 2544 เพิ่มพรวดมาเป็น 14,825 ตัน/ปี และหลังจากปี 2546 เป็นต้นมา แนวโน้มการนำเข้ากระเทียมจีนก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างหยุดไม่อยู่

ในรายงานฉบับนี้ ได้อ้างถึงการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายหนึ่ง ที่ระบุว่า "นับตั้งแต่มีการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน การนำเข้ากระเทียมจีนส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ากระเทียมนอกโควตาทั้งสิ้น และสัดส่วนนำเข้ากระเทียมจีนในโควตาถือได้ว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณนำเข้ากระเทียมทั้งหมด และต้องยอมรับว่ารัฐบาลก็ไม่สามารถควบคุมปริมาณนำเข้ากระเทียมจีนได้ เนื่องจากกระเทียมจีนมีต้นทุนที่ถูกกว่ากระเทียมไทยมาก"

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จ.เชียงใหม่ ได้วิเคราะห์ต้นทุนกระเทียมจีนเพื่อชี้ให้เห็นว่า มีต้นทุนถูกกว่ากระเทียมไทยมากน้อยแค่ไหน โดยพบว่ากระเทียมจีนมีราคานำเข้าที่ 7 บาท/กิโลกรัม ถ้านำเข้าในโควตาจะมีอัตราภาษีเท่ากับ 0% นอกจากนี้ มีค่าใช้จ่ายจากการนำเข้า 3 บาท ค่าขนส่ง 1 บาท โดยรวมแล้วกระเทียมจีนมีราคาต้นทุนที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม และมีราคาขายถึงมือผู้บริโภคที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนกระเทียมไทย พบว่าเกษตรกรมีต้นทุนปลูกที่กิโลกรัมละ 15.62 บาท ราคาที่เกษตรกรขายให้พ่อค้าอยู่ที่ 22.50 บาทต่อกิโลฯ เมื่อรวมกับค่าขนส่งที่ตกกิโลฯ ละ 1 บาท ทำให้ราคาขายในตลาดกรุงเทพฯ ถ้าเป็นจุกขนาดเล็กจะอยู่ที่ 28.54 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นจุกขนาดใหญ่จะมีราคาอยู่ที่ 41.08 บาทต่อกิโลกรัม

และแม้ว่ากระเทียมจีนที่นำเข้าจะใช้สิทธิ์นอกโควตา ทำให้ถูกเก็บภาษีอัตราสูงถึง 57% แต่ด้วยต้นทุนที่แตกต่างกันอย่างมาก ก็ยังทำให้กระเทียมจีนมีราคาถูกกว่ากระเทียมไทยอยู่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การนำเข้ากระเทียมจีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหากระเทียมจากภายนอกเข้ามาตีตลาดกระเทียมไทย ไม่ได้มีเฉพาะกระเทียมจีนที่นำเข้าโดยอาศัยผลจากข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทยกับจีนเท่านั้น ยังมีกระเทียมที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าหรือลาว อีกด้วย (แต่อย่างไรก็ตาม กระเทียมจีนยังคงครองส่วนแบ่งนำเข้ามากที่สุดในสัดส่วน 67%) นอกจากนี้ ยังมีกระเทียมอีกส่วนหนึ่งที่ลักลอบนำเข้ามา โดยภาพรวมจึงมีการนำกระเทียมเข้าสู่ประเทศไทยมากมายมหาศาล และทำให้กระเทียมไทยตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ ราคาขายตกต่ำ ทั้งที่มีต้นทุนการผลิตที่สูง

รายงานระบุว่า ในช่วงปี 2546/2547 ผลผลิตกระเทียมไทยมีราคาค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยราคากระเทียมสด ณ ไร่นาทั้งประเทศอยู่ที่ 6.25 บาทต่อกิโลฯ และในปี 2548 ราคากระเทียมสด ณ ไร่นาของเกษตรกร 10 ราย บ้านดงป่าสัก ต.ศรีดงเย็น อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ที่เป็นแหล่งปลูกกระเทียมแหล่งใหญ่ในภาคเหนือ มีราคาที่ประมาณ 5.50 บาทต่อกิโลฯ ซึ่งถือได้ว่าราคากระเทียมในปี 2548 ตกต่ำมากที่สุด เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากเครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) กล่าวว่า ผลกระทบจากเอฟทีเอที่ไทยทำกับจีน ทำให้เกษตรกรที่ปลูกกระเทียมต้องลดพื้นที่ปลูกลง โดยขณะนี้สามารถประเมินได้ว่า พื้นที่ที่เคยปลูกกระเทียมไทยลดลงไปแล้วประมาณ 4-5 หมื่นไร่ หรือประมาณ 30-40% แต่บางปีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเคยลดลงมากถึง 50% นอกจากนี้ รัฐบาลเองก็ยังออกประกาศที่จะทำการผลิตกระเทียมในประเทศอีกด้วย

"ถ้าถามว่าผลกระทบนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เขารู้ปัญหาหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่ารู้ รู้ตั้งแต่มีข่าวว่าไทยจะเซ็นเอฟทีเอกับจีนแล้ว แต่ก็ไม่มีปากมีเสียงอะไร และทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล" วิฑูรย์กล่าว

ข้อมูลจากรายงานเรื่องการผลิตกระเทียมแจกแจงอีกว่า การนำเข้ากระเทียมจีนอย่างมากมายมหาศาล ทำให้รัฐบาล (สมัยทักษิณ) รู้ตัวว่าไม่สามารถแข่งขันหรือควบคุมปริมาณการนำเข้ากระเทียมจากจีนได้อีกต่อไป เนื่องจากได้ทำข้อตกลงเอฟทีเอกับจีนไปแล้ว ทำให้การนำเข้ากระเทียมจากจีนทั้งหมดต้องเป็นไปอย่างเสรี และถือว่าเป็นการนำเข้าที่ถูกกฎหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้ากระเทียมจากประเทศเพื่อนบ้านได้ เป็นผลให้รัฐบาลทักษิณตัดสินใจหันมาแก้ปัญหาด้วยการ "ควบคุมปริมาณกระเทียม" ที่ผลิตในประเทศแทน และผุดโครงการ "ลดพื้นที่ปลูกกระเทียมปี 2546/2547" โดยมีเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่ปลูกกระเทียมทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคกลางรวม 15 จังหวัด โดยอ้างว่าเป็น "การปรับโครงสร้างการผลิตกระเทียม"

การศึกษาเรื่องการผลิตกระเทียม ยังเจาะลึกไปถึงสถานการณ์ความยากลำบากของเกษตรกรบ้านดงป่าสัก ต.ศรีดงเย็น อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบว่าพอรัฐบาลมีคำสั่งให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูก ภายใต้เงื่อนสัญญาว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ ทำให้เกษตรกรที่เข้าโครงการเลิกหรือลดปลูกกระเทียมหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน หรือปลูกพืชอื่นสลับหมุนเวียนกับการปลูกกระเทียม ส่วนพืชที่รัฐบาลแนะนำให้ปลูก อาทิ มันฝรั่ง ซึ่งเป็นพืชที่ต้องปลูกตาม Contract โรงงานที่ผูกสัญญากับชาวบ้าน หรือพริกเขียว ข้าวโพดหวาน พวกผักกินใบ เช่น บร็อกโคลี คะน้า กะหล่ำดอก เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนต่อวิถีชีวิตเกษตรกรบ้านดงป่าสักอย่างมาก อย่างแรกทำให้พวกเกษตรกรต้องทำงานหนักขึ้น เพราะพืชบางชนิดที่ปลูกทดแทนกระเทียม มีรอบระยะเวลาการปลูกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น นอกจากนี้ เหล่าเกษตรกรยังต้องหันมาใช้ปุ๋ยเคมีรวมทั้งพึ่งยาฆ่าแมลงมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตตามจำนวนที่ทำสัญญากับโรงงานไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพเกษตรกรในอนาคต

"พวกเกษตรกรเล่าให้ฟังว่า เพราะกระเทียมมีราคาตกต่ำ เพราะสู้กระเทียมจีนไม่ได้ พวกเขาไม่มีทุนทำการเพาะปลูกรอบใหม่เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูง ตรงข้ามกับการปลูกมันฝรั่งที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ทั้งเชื้อพันธุ์, ปุ๋ย, ยา เอามาจากบริษัท ประกันราคาขายได้ก่อน พอขายได้หักต้นทุนแล้วก็พออยู่ได้ อย่างไรก็ตาม สารเคมีตัวใหม่ก็มาพร้อมกับมันฝรั่ง เป็นยาใช้เฉพาะโรค อาทิ ยากันรากเน่า โคนเน่า ยาแก้โรคซัดดำ เมื่อเทียบกับกระเทียมแล้ว มันฝรั่งใช้ยาที่มีราคาแพงกว่ามาก แถมยังใช้ปุ๋ยมากกว่ากระเทียมถึง 2 เท่า และยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่าอีกด้วย" รายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม แต่สำหรับชาวบ้านดงป่าสักฝั่งตะวันตก กลับไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนชนิดอื่นๆ ได้เหมือนกับเพื่อนบ้านที่ตั้งทางฝั่งตะวันออก ซึ่งอยู่ใกล้ลำน้ำฝาง จึงจำเป็นต้องอาศัยกระเทียมเป็นพืชเศรษฐกิจหลักหล่อเลี้ยงชุมชนต่อไป เกษตรกรกลุ่มนี้ยืนยันว่า ทุกวันนี้พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับกระเทียม ไม่ว่าการขึ้น-ลงของราคา ปริมาณผลผลิตที่ล้นตลาด หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับกระเทียมไทย

ผลจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ลดพื้นที่ปลูกกระเทียม วิฑูรย์กล่าวว่า ไม่ได้มีผลกระทบแต่เฉพาะภาวะเศรษฐกิจของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนอีกด้วย เพราะทั้งกระเทียมและผลไม้เมืองหนาวเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวภาคเหนือ การเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่นมีผลกระทบต่อการบำรุงดินและการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะมีการทำลายความสมดุลของดิน เนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงมากขึ้นกว่าเดิม

อีกด้านหนึ่งที่อาจยังมองไม่เห็นผลกระทบในวันนี้ วิฑูรย์กล่าวว่า คือปัญหาการสูญเสียทางวัฒนธรรม เขากล่าวว่ากระเทียมถือว่าเป็นพืชวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นวัฒนธรรมทางอาหารของไทยมานาน ซึ่งการนำเข้ากระเทียมจากจีนส่งผลอีกทางหนึ่งคือ จะเป็นการทำลายวัฒนธรรมความมั่นคงอาหารของไทย เพราะถือว่ากระเทียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการปรุงอาหารไทย การใช้กระเทียมจากที่อื่นอาจทำให้รสชาติอาหารไทยผิดเพี้ยนไป และถ้าหากว่ากระเทียมไทยสูญหายไปเนื่องจากเกษตรกรเลิกปลูก เพราะไม่สามารถแข่งขันทางตลาดกับกระเทียมจีนได้ นั่นถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

"ผมมองว่าเรื่องนำเข้ากระเทียมจีน มีประเด็นลึกซึ้งมากกว่าที่มองเห็นว่ามาตีตลาดกระเทียม ไทย เวลานี้พวกเรากำลังคิดกันว่าจะทำวิจัยเรื่องสถานการณ์น้ำพริกไทย ว่าได้รับผลกระทบจากกระเทียมจีนที่เข้ามามากบ้างหรือเปล่า รสชาติน้ำพริกไทยที่กินกันมานับร้อยปี เปลี่ยนไปไหมจากสมัยดั้งเดิมรุ่นปู่ย่าตายายของเรา และเท่าที่เคยคุยกับอาจารย์สมร คงพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญทำอาหาร แกก็บอกว่า ตัวแกเองก็พยายามบอกคนอื่นให้หันมาใช้กระเทียมไทยทำอาหาร โดยเฉพาะน้ำพริกอย่าไปใช้กระเทียมจีนเลย ไม่งั้นรสชาติอาหารไทยจะเปลี่ยนไปหมด แต่ปีนี้กระเทียมไทยก็แพงมากเพราะผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากการลดพื้นที่ปลูกจำนวนมาก คนก็เลยอาจหันไปใช้กระเทียมจีนทำอาหารไทยแทน โดยเฉพาะภาคใต้นี่ไม่มีกระเทียมไทยหัวเล็กให้เห็นเลย หายากมาก" วิฑูรย์กล่าว

เจ้าหน้าที่จากไบโอไทยกล่าวอีกว่า ไม่ได้มีแต่เฉพาะกระเทียมไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับจีน แม้กระทั่งพืชผักเมืองหนาวของโครงการหลวงเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะผู้บริโภครวมทั้งภาคธุรกิจ เช่น ร้านอาหารหรือโรงแรมต่างๆ หันไปใช้พืชผัก ผลไม้ ที่นำเข้าจากจีนเพราะมีราคาถูกกว่าแทน

"การทำเอฟทีเออย่างไม่ลืมหูลืมตาเหมือนอย่างรัฐบาลที่แล้ว จะทำให้เกษตรกรไทยลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ และเกษตรกรปลูกกระเทียมเป็นกลุ่มแรกของตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอกับต่างชาติ"

"ผมมองว่าพอรัฐบาลทำเอฟทีเอทีหนึ่ง ก็จะมีผลกระทบกับเกษตรกรบ้านเรา อย่างพวกที่เคยปลูกกระเทียม จะหันไปเลี้ยงวัวนมแทนก็เจอเอฟทีเอที่ไทยทำกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือถ้าจะปลูกถั่วเหลือง ข้าวโพด ก็เจออีกเอฟทีเอสหรัฐ ที่วันนี้ยังไม่มีการเซ็น แต่ก็ต้องมีการเซ็นกันสักวันในอนาคต จึงถือได้ว่านโยบายเปิดเขตการค้าเสรี เป็นนโนบายที่ทำลายเกษตรกรของประเทศ ทำลายฐานเศรษฐกิจของเราเอง โดยรัฐไม่ได้ปกป้อง แตกต่างจากญี่ปุ่นที่แม้ว่าเขาจะมีชาวนาแค่ 3% แต่เอฟทีเอที่เขาทำกับประเทศอื่นๆ เช่นทำกับไทย เขาจะไม่เปิดตลาดข้าวของเขาเด็ดขาด เพราะเขาเห็นความสำคัญของชาวนาของเขา ในฐานะผู้ดำรงสืบทอดทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติไม่ให้สูญหาย เป็นการทำการค้าที่ไม่ลืมดูแลรักษาความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากบ้านเราที่ทำอยู่ขณะนี้" วิฑูรย์กล่าว

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด