ค่าบาทแข็งไม่กระทบ ผู้ส่งออกต้องฟังหูไว้หู

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เป็นผลเชื่อมโยงกับทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลง สาเหตุหลักเชื่อกันว่ามาจากนโยบายสหรัฐมุ่งที่จะกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง เพื่อชะลอปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมหาศาล ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวโดยทั่วไป

ธนาคารแห่งประเทศไทยจับตาการเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลง ค่าเงินสหรัฐโดยตลอด และออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 2-3 ครั้งเมื่อทั้งสัปดาห์ที่แล้วและสัปดาห์นี้ ฟังได้ความว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ เพื่อให้กระทบกับการส่งออกน้อยที่สุด แต่นั่นก็เป็นเพียงการออกข่าวแบบไม่ได้ให้หลักประกันว่า จะไม่มีปัญหาในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งแนวทางในการปฏิบัติก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำได้เพียงเป็นไปตามกรอบเท่านั้น ไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขไปจากข้อเท็จจริงทั้งหมดทุกอย่างได้

สมัยก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 พบว่า ประเทศไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย และด้วยความมั่นใจไทยเสนอไปยังไอเอ็มเอฟว่าไทยมีเงินพร้อมที่จะให้ไอเอ็มเอฟไปปล่อยกู้ต่อแก่ประเทศสมาชิก แต่เวลาให้หลังไม่ถึงหนึ่งปี เรากลับเป็นประเทศแรกๆ ที่ไปก่อหนี้กับไอเอ็มเอฟ เพราะการเงินในประเทศประสบปัญหาวิกฤตินั่นเอง

ต้นปี 2540 เรายังเชื่อมั่นว่าจะไม่ประสบปัญหา เพราะปริมาณเงินสำรองเงินตราต่างประเทศยังสูงอยู่ และยังสามารถรับมือกับการโจมตีค่าเงินบาทได้ แต่พอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง หรือเข้ากลางปีไทยก็จนแต้ม ประกาศลดค่าเงินบาท ประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน ปรับเปลี่ยนทฤษฎี ทางการบริหารเศรษฐกิจ มาใช้ระบบอินเฟรชัน มาร์เก็ตติ้ง หรือมาใช้ระบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นประการสำคัญ

เราขอเตือนผู้ประกอบการทั้งหลาย อย่าได้วางใจกับความผันผวน ของค่าเงิน ต้องเตรียมแผนรับมือให้เพียบพร้อม จะไปฝากความหวังอยู่ที่การบริหารจัดการของภาครัฐ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เพราะประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า ท้ายที่สุดแล้วเราไม่อาจพึ่งใครได้

อย่างไรก็ดีควรพิจารณาด้วยว่า ภาระหนี้ภาครัฐและเอกชนสมัย ปัจจุบันกับอดีต มีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน ก็ไม่ควรปริวิตกมาก นัก และควรพิจารณาด้วยว่า ระบบอินเฟรชัน มาร์เก็ตติ้ง ทำให้บริหารการเงินและเศรษฐกิจมหภาคได้ดีกว่าระบบเดิม สังเกตได้จาก แม้ต่างประเทศปรับอัตราดอกเบี้ย ก็ไม่เสมอไปว่าเราต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตามขึ้นไป ระบบใหม่สามารถวางแผน หรือวางวาระเวลาได้ดีกว่าในระบบเดิม

ไม่มีใครบอกได้ว่าทิศทางค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไรในอนาคตอันใกล้ จะแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ จะอ่อนค่าลงในระยะเวลาอันสั้น หรือจะผันผวนขึ้นลงในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นอย่าไปวางใจว่าค่าเงินจะกระทบหรือไม่กระทบการส่งออก ทางที่ดีเตรียมเผชิญหน้ากับความผันผวนของค่าเงินเอาไว้ก่อนจะดีกว่า

editorial

25 - 27 พฤศจิกายน 2547

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด