นายจักรกฤษณ์ ควรพจน์ อาจารย์ประจำสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บรรยายทางวิชาการเรื่อง "ระบบทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ FTAs" จัดโดยโครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก(WTO Watch) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า การเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับสหรัฐนั้น สหรัฐพยายามกดดันประเทศคู่เจรจาให้เปิดกว้างด้านทรัพย์สินทางปัญญาและเสนอเงื่อนไขที่ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะด้านสิทธิบัตร เช่น สิทธิบัตรยา ที่จะเป็นการส่งผลให้ประเทศคู่เจรจาเสียโอกาสที่จะเข้าถึงยา เท่ากับถูกบังคับให้ซื้อยาในราคาแพงจากสหรัฐ และส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
นายจักรกฤษณ์กล่าวว่า นอกจากนี้สหรัฐกำลังปิดกั้นและสร้างเงื่อนไขในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านการเกษตร และการใช้ดิจิตอลเทคโนโลยี ผ่านการเจรจาเอฟทีเอสหรัฐ ซึ่งการเจรจาทำเอฟทีเอกับสหรัฐจะมีในรอบ 3 ช่วงเดือนธันวาคมนี้ แต่ประชาชนยังไม่ทราบความชัดเจนและจุดยืนของรัฐบาลไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อเสนอที่จะนำไปเจรจาต่อรองกับสหรัฐ ที่ไม่ควรคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ทางการค้าอย่างเดียว แต่ต้องดูผลได้ผลเสียให้รอบด้านและมองผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวด้วย
"การเจรจาเพื่อต่อรองกับสหรัฐ ไทยควรยึดกรอบภายใต้ปฏิญญาโดฮา ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก(WTO) โดยยืนยันว่าไทยจะยึดกติกาของ WTO เกี่ยวกับสิทธิของประเทศสมาชิกที่ระบุว่าสิทธิบัตรยาที่จะได้รับความคุ้มครองจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา และสมาชิกสามารถใช้กฎหมายภายในประเทศในการยืดหยุ่นในการเข้าถึงยาได้ ควรดูกรณีออสเตรเลียที่สหรัฐยอมผ่อนปรนให้ หลังพรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้กดดันให้รัฐบาลออสเตรเลียได้เห็นถึงผลกระทบของข้อตกลงเอฟทีเอที่จำกัดการเข้าถึงยาจนมีการแก้ไขเป็นกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลไทยควรยึดเป็นแบบอย่างได้