การที่นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาเกือบสองพันคน รวมตัวกันเดินทางไปรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย โดยมีกรรมการจากสภานิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สสนท.) และผู้นำนิสิตจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมชุมนุมคัดค้านการออกนอกระบบด้วยนั้น มองกันไปได้หลายทรรศนะ ซึ่งเป็นธรรมดาของทุกเรื่องที่จะต้องมีทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายที่เห็นด้วย
แต่เรื่องนี้แปลกตรงผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการออกนอกระบบส่วนใหญ่ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้น้อยมาก(ในจำนวนนี้ยังมีหลายคนที่เป็นพวก "ไม่รู้ชอบชี้") ในขณะที่คนรู้ก็ไม่พูด หรือพูดไม่หมด(ทำเป็น ไม่รู้ไม่ชี้") จึงสร้างความคลุมเครือให้กับสังคมโดยทั่วไป
ยิ่งใกล้ "โค้งสุดท้าย" ที่จะชี้ชะตาของมหาวิทยาลัย เราจึงได้เห็นบรรยากาศที่เข้มข้นดุเดือดขึ้นทุกวัน
มีการตีแผ่แฉโพยใส่สีตีไข่ฝ่ายตรงข้าม และการกดดันกันทุกรูปแบบเป็นรายวัน
ในขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาวาระแรกไปแล้ว วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการพิจารณาวาระสองและสามในคราวเดียวกัน นับได้ว่าเป็นหัวหอกในการออกนอกระบบ
ผู้เขียนซึ่งเป็นทั้งศิษย์เก่าสมัยยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน ปัจจุบันเป็นทั้งอาจารย์และผู้บริหารระดับเล็กๆ ในมหาวิทยาลัย จึงอยากจะร่วมวิเคราะห์และเสนอแนะตามทรรศนะ ประสบการณ์ และข้อมูลที่มีอยู่เพื่อเล่าสู่กันฟังว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะเกิดผลกระทบกับหลายฝ่ายดังนี้
การที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะช่วยลดภาระของรัฐในการจัดหางบประมาณมาสนับสนุนมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการได้มาก จึงมีการอ้างเงื่อนไขเงินกู้ ADB มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 มกราคม 2541 ว่าต้องเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่มีผู้ทักท้วงว่า ในเงื่อนไข ADB กำหนดให้เป็น Autonomous University คือบริหารตนเองโดยอิสระเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องออกนอกระบบ
แต่รัฐบาลเจ้าหลักการก็ทำเป็นดื้อตาใสตามถนัดจนหมดวาระไป และได้รัฐบาลเอื้ออาทรเข้ามาบริหาร ก็มีการยกฐานะสถาบันราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นใหม่พร้อมกันทีเดียวถึง 41 แห่ง ซึ่งก็ยังคงเป็นส่วนราชการ และใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.)ฉบับใหม่แกะกล่อง ที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา แม้กระทั่งนายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา ต่างกล่าวถึงคุณงามความดีของ พ.ร.บ.นี้ไว้มากมาย
ชวนให้สงสัยว่า ทำไมไม่ยอมให้มหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้อานิสงส์ร่วมใช้ด้วย
ผู้บริหารมหาวิทยาลัย
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ ความคล่องตัวในการบริหาร ซึ่งปกติอำนาจส่วนใหญ่ในการบริหารก็อยู่ที่สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี นับว่าคล่องตัวมากอยู่แล้ว(คล่องขนาดเป็นส่วนราชการแท้ๆ มหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ท่านเลขาฯ กกอ.รู้จักดีมากๆ ยังถูกลากไปเป็นจำเลยร่วมกับบริษัทที่มารับจัดสอนบัณฑิตศึกษาแล้วทำเจ๊งไปหลายสิบล้านบาท)
การออกนอกระบบจะยิ่งทำให้ประชาคมในมหาวิทยาลัยไร้อำนาจที่ตรวจสอบผู้บริหารมากยิ่งขึ้น
ความพยายามเรียกร้องไม่ให้อธิการบดีเป็นกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยเพื่อป้องกันระบบอุปถัมภ์และประโยชน์ต่างตอบแทน
การเรียกร้องไม่ให้อธิการบดีเป็นประธานสภาวิชาการเพื่อความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร
และการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัยเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจที่เรียกร้องกันมาโดยตลอด จึงถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนอกระบบ
น่าเป็นห่วงว่า กรณีเช่นการขึ้นเงินให้อธิการบดีเป็นเดือนละหนึ่งแสนแปดหมื่นบาท มากกว่านายกรัฐมนตรีตามข่าวใน ITV การเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยแบบเร่งรัดเกินเหตุ ที่นิสิตรวมตัวประท้วงจนต้องล้มเลิกไปแล้วนั้น จะหนักข้อกว่าเดิมเพียงใดเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
คณาจารย์และบุคลากร
ผลที่เห็นได้ชัดเจนคือ อัตราเงินเดือนที่จะได้เพิ่มขึ้นอีกคนละเกือบเท่าตัวเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
แต่ก็ดูเหมือนว่าไร้พลังเพียงพอที่จะโน้มน้าวจิตใจของคณาจารย์และบุคลากรให้เห็นดีเห็นงามได้
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความไม่แน่ใจว่าจะหาเงินมาจากไหนในเมื่อมหาวิทยาลัยต้องพึ่งตนเองมากขึ้น
การสูญเสียศักดิ์และสิทธิ์ในการเป็นข้าราชการ กลายเป็นเพียงลูกจ้างมหาวิทยาลัยที่อาจถูกกลั่นแกล้งให้ออกได้ง่ายกว่าข้าราชการ จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการต่อต้านการออกนอกระบบ
นิสิตและผู้ปกครอง
การออกนอกระบบจะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้(ไม่ว่าใครจะเล่นลิ้นอย่างไรก็ตาม) ไม่ขึ้นทางตรงก็ต้องขึ้นทางอ้อม
นิสิตและผู้ปกครองอาจต้องซื้อสินค้าเดิม(หลักสูตร อาจารย์ และอาคารสถานที่เดิม) ในราคาที่แพงขึ้น
เมื่อการศึกษาขั้นปริญญาถือว่าเป็นการลงทุนของผู้เรียนเป็นหลัก ไม่ใช่ของรัฐ มหาวิทยาลัยต้องดิ้นรนหารายได้มาเลี้ยงตนเองมากขึ้น โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคนยากจนและคนชั้นกลางก็จะน้อยลง
สัมพันธภาพระหว่างครูกับศิษย์ที่เปลี่ยนไปเป็นผู้รับจ้างสอนกับลูกค้าจะออกมาในรูปใด จึงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงยิ่งนัก
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คงเห็นได้ว่า การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยเป็นปัญหาที่กำลังรอคำตอบ จะปล่อยให้อึมครึมพูดกันไปคนละทางเช่นนี้ไม่ดีแน่
ฝ่ายการเมืองต้องออกมาฟันธงว่าจะเอาอย่างไร
ถ้าดีจริงก็เดินหน้า แต่ถ้าไม่ดีก็ยุติ หากจะปล่อยให้เป็นธุระของรัฐบาลชุดใหม่เราก็คงต้องถามใจของพรรคการเมือง ซึ่งตอนนี้ก็เห็นมีเพียงพรรคน้องใหม่ที่ชูนโยบายให้เรียนฟรีถึงมหาวิทยาลัย และไม่ออกนอกระบบ
คงต้องติดตามต่อไปว่า จะทำได้ตามที่อ้างหรือไม่(ถ้ามีโอกาสได้ทำ)
พงศ์ประเสริฐ หกสุวรรณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา