ธุรกิจไทยแข่งขันอย่างไร?...ข้ามโลก

หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานฉลองครบรอบการจัดตั้ง 66 ปี โดยมีการจัดสัมมนาวิชาการ "ธุรกิจไทยแข่งขันอย่างไรข้ามโลก" เนื่องจากในยุคโลกไร้พรมแดนการเคลื่อนย้ายการลงทุนไหลเวียนไปทั่ว ประเทศไทยในฐานะผู้รับการลงทุน จำเป็นต้องทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมทั้งรุกและรับอย่างไร เพื่อไม่ต้องเพลี่ยงพล้ำ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ในปีนี้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับประมาณ 70% และกำลังขยับใกล้ถึงระดับ 75-80% ซึ่งเป็นระดับที่ต้องเพิ่มการลงทุน จึงคาดว่าต้นปีหน้าจะถึงจุดการขยายการลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งจะมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment : FDI) หรือเอฟดีไอ เข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการจัดอันดับความน่าลงทุนพบว่า ไทยเป็นที่ 4 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย และสหรัฐ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มองว่าการลงทุนข้ามชาติเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายในขณะเดียวกัน โดยประเทศผู้ออกไปลงทุนต่างชาติจะได้รับประโยชน์จากการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น แรงงานราคาถูก แต่ข้อเสียคือ รัฐของประเทศผู้ออกไปลงทุนจะกังวลว่าการจ้างงานของประเทศตัวเองจะลดลง จนมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจตัวเองได้ ซึ่งจะแก้ไขโดยธุรกิจในประเทศต้องพัฒนาเทคโนโลยี และคุณภาพแรงงานให้สูงมากขึ้น
สำหรับประเทศที่เป็นผู้รับการลงทุน ซึ่งประเทศไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี การจัดการ การจ้างงานที่สูงขึ้น การลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และสินค้าราคาถูก ส่วนข้อเสีย ถ้าหากประเทศผู้ลงทุนนำเอาเทคโนโลยีล้าสมัยเข้ามาแทน และเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ อันนี้ต้องระวังให้ดี เพราะเคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว
และสิ่งสำคัญคือ ทั้งผู้เข้าไปลงทุน และผู้รับการลงทุน ต้องระวังคือ อย่าหวังพึ่งการลงทุนจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไป เพราะหากเศรษฐกิจของประเทศนั้นมีปัญหา การขยายลงทุนก็จะชะงัก เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับละตินอเมริกา สำหรับประเทศไทยจัดว่าการลงทุนโดยตรงไม่ได้พึ่งเพียงแค่แหล่งเดียว แต่อยากเตือนคนไทยให้ระมัดระวังเรื่องการบริโภคนิยมด้วย เพราะขณะนี้ความชัดเจนว่าคนไทยยึดติดกับวัตถุพอสมควรแล้ว
40 ปีที่ผ่านมา ผลประโยชน์จากธุรกิจข้ามชาติในประเทศไทยยังกระจุกตัวอยู่ที่นักลงทุนต่างชาติ และผู้ประกอบการคนไทยจำนวนหนึ่งเท่านั้น การกระจายรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งธุรกิจข้ามชาติบางประเภทส่งผลข้างเคียงทางลบสูงมากต่อการทำมาหากินของคนไทย ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่งโดยเฉพาะกรณีของธุรกิจค้าปลีกที่ไทยปล่อยให้แม็คโคร โลตัส และค้าปลีกอย่าง เซเว่น-อีเลฟเว่น เข้ามาทำธุรกิจในไทยเร็วไป โดยยังไม่ได้ปรับปรุงความพร้อมของคนไทยที่ประกอบอาชีพนี้อยู่ อย่างเซเว่นฯขณะนี้มีความภูมิใจกระจายสาขาถึง 3,000 แห่ง แต่ได้ทำลายคุณลุงคุณป้าที่เราเคยมีความสุขกับการเข้าซื้อสินค้า บรรยากาศและคุณภาพชีวิตรูปแบบนี้มันหมดไป ถ้าหากก่อนที่จะอนุญาตให้กลุ่มธุรกิจข้ามชาติค้าปลีกเข้ามา เราได้เตรียมการสอนวิธีจัดระบบสต๊อค สอนวิธีบริหารจัดการต่างๆ ให้คนไทยก่อน เหตุการณ์แบบนี้คงจะไม่เกิด ในระบบโลกาภิวัตน์การลงทุนข้ามชาติเป็นสิ่งจำเป็น และหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันลามไปทุกที่ รัฐจำเป็นต้องซื้อเวลา เพื่อให้ธุรกิจในประเทศเตรียมตัวรองรับให้ได้ และพร้อมที่จะแข่งขันไม่ส่งผลทำลายโอกาสในการทำมาหากินของผู้ค้ารายย่อยจำนวนไม่น้อย
ดังนั้นการกำหนดนโยบายของรัฐต่อบริษัทข้ามชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการเจรจาความร่วมมือระหว่างประเทศ เรื่องหนึ่งที่ทุกรัฐบาลต้องการคือ เรื่องส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน เช่น การเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) เพื่อขยายปริมาณการค้า และการลงทุน และที่สำคัญเพื่อรักษาระดับการไหลเข้าของเงินทุนจากเอฟดีไอ ขณะนี้ประเทศคู่ค้าทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น ได้เริ่มทำเอฟทีเอกับประเทศเพื่อบ้านของไทยไปแล้ว หากไทยอยู่เฉยไม่ทำอะไรอาจจะต้องสูญเสียตลาดและการลงทุนที่สำคัญไป ประเทศไทยจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปิดเสรีได้ แต่หากเศรษฐกิจบางภาคยังมีความอ่อนแอ ไม่พร้อมจะแข่งขันก็ควรต้องให้เวลาก่อน
นอกจากนี้สิ่งที่ไทยควรตระหนักคือ ควรเตรียมความพร้อมด้านพื้นฐานของแรงงานไทยให้มีความสามารถมากขึ้น เพราะต่อจากนี้ค่าจ้างแรงงานราคาถูกจะไม่ใช่ตัวดึงดูดเอฟดีไอมาที่ประเทศไทยอีกต่อไป ที่ผ่านมาการศึกษาของไทยไม่มีการโฟกัสว่า จะมุ่งพัฒนาแรงงานฝีมือเพื่อรองรับกับเศรษฐกิจในรูปแบบใดในอนาคต นอกจากนี้แล้วประเทศไทยควรสร้างแรงดึงดูดต่อการลงทุนของบริษัทข้ามชาติด้วย เช่น กฎระเบียบสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมต้องเอื้อกับการประกอบธุรกิจ ส่วนงานราชการต้องทำงานเร็ว โปร่งใส ทันสมัย มีธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน
สำหรับบทบาทของ ธปท.ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้ามชาติ คือ การทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และดูแลระบบการเงินของประเทศให้มั่นคง ทั้งอัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน เพราะจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่ง ธปท.ได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้สร้างความผันผวนต่อค่าเงิน โดยเฉพาะการไหลเข้ามาของเงินทุนระยะสั้นที่สร้างความผันผวนต่อค่าเงินและระบบการเงินได้ เช่น อดีตที่เคยได้รับบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่เงินไหลเข้าประเทศจำนวนมากและก็ไหลออกไปอย่างรวดเร็ว ธปท.ยังคงต้องดูแลเรื่องอัตราเงินเฟ้อไม่ให้อยู่ในระดับที่สูงเกินไปด้วย เพราะไม่มีประเทศใดที่ต้องการลงทุนในประเทศที่มีเงินเฟ้อระดับสูง
บทสำคัญของ ธปท.อีกด้าน คือ การกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพทั้งระบบ เพราะมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ โดย 3 ปีที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งมากขึ้น นอกจากนี้ ธปท.กำลังดำเนินตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินขนาดเล็ก ประเภทบริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จะควบรวมเข้าด้วยกันมีความแข็งแกร่งเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ
มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
การค้าขายระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเห็นว่าการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีจะต้องส่งเสริมให้มีการเข้ามาแข่งขันในธุรกิจที่ผูกขาดหรือมีการแข่งขันน้อยจึงจะเกิดประโยชน์ เพราะธุรกิจที่ผูกขาดเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม แต่สำหรับธุรกิจที่การแข่งขันในประเทศมีสูงอยู่แล้วและเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำไปแลกในการเปิดเสรี เพราะไม่เกิดประโยชน์ โดยผลการศึกษาของนักวิจัยต่างประเทศเมื่อปี 1999 พบว่า การที่ประเทศไทยไม่เปิดเสรีด้านโทรคมนาคมได้มีผลทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าบริการแพงกว่าที่ควรถึง 86% และการที่เปิดให้สัมปทานทำให้คนไทยจ่ายค่าบริการแพงถึง 26%
จากการทำวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบว่าอุปสรรคในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการจัดลำดับดังนี้ การตัดราคา ,การหนีภาษี ,แหล่งเงินทุน, การไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของรัฐ, การผูกขาดช่องทางการจัดจำหน่าย การได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐไม่เท่าเทียมกัน, มีการหลีกเลี่ยงกฎระเบียบด้านแรงงาน, และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งเหล่านี้รัฐจะต้องเร่งแก้ไขให้เกิดความเสมอภาค
นอกจากนี้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในการให้บริการของหน่วยงานรัฐต่อผู้ประกอบธุรกิจขนาดต่างๆ โดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจะต้องเสียเวลาในการติดต่องานกับหน่ายงานราชการมากกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมจากค่าธรรมเนียมที่เป็นทางการก็สูงกว่าด้วยเช่นกัน ทั้งจากการจัดซื้อจัดจัดจ้าง ศุลกากร ไฟฟ้า โทรศัพท์ และภาษี หากรัฐทำจุดนี้ให้เท่าเทียมกันได้ประเทศไทยจะน่าลงทุนมากขึ้น และธุรกิจรายเล็กก็จะสามารถแข่งขันได้
ภวิดา ปานะนนท์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ
การออกไปลงทุนยังต่างประเทศยังเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย และยังมีปริมาณไม่มากนัก ซึ่งประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีการออกไปลงทุนต่างประเทศสูงกว่าไทยมาก โดยไทยมีมูลค่าการลงทุนต่างประเทศเมื่อปี 2003 จำนวน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ขณะที่จีนมีมูลค่าถึง 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, มาเลเซีย มีมูลค่า 29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสิงค์โปร์ 90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งการขยายตัวของบริษัทไทยในต่างชาติยังอาศัยลักษณะการสร้างเครือข่าย ไม่ได้ใช้ความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะสำหรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศว่า ควรเลือกลงทุนในประเทศที่ได้รับประโยชน์ทางภาษี นอกเหนือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ประเทศสมาชิกใหม่ของกลุ่มสหภาพยุโรป และควรมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ และควรให้ความสำคัญกับความโปร่งใสของนโยบายรัฐในการสนับสนุนธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเราควรต้องจับตาว่านโยบายรัฐจะเอื้อให้กับกลุ่มหรือเครือข่ายของคนในรัฐบาลเท่านั้นหรือไม่

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด