ธปท.เตือนภัยเปิดเอฟทีเอ ชี้รัฐพลาดท่า'โลตัส-เซเว่น'

แฉคอรัปชั่นยังเรื้อรัง

'หม่อมอุ๋ย' ออกโรงชี้ปีหน้าเงินทุนต่างชาติไหลเข้า เตือนรัฐบาลเจรจาเอฟทีเอเปิดเสรี พาณิชย์ ขนส่ง การเงินเสียเปรียบ ค้าปลีก "โลตัส-เซเว่น" ตัวอย่างทำคนไทยหมดอนาคต

ทีดีอาร์ไอ จี้ปราบคอรัปชั่นเอื้อพวกพ้อง นักวิชาการจี้รัฐยึดกรอบปฏิญญา WTO รอบโดฮากดดันสหรัฐผ่อนปรนเอฟทีเอยืดหยุ่นข้อจำกัดในสิทธิบัตรยา

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ 66 ปี คณะพาณิชยศาสตร์และบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "การแข่งขันธุรกิจข้ามชาติ" ว่า ธุรกิจข้ามชาติยังจำเป็นและสำคัญต่อการผลักดันการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจไทย และยังเป็นประโยชน์ในการรับเทคโนโลยีใหม่ทั้งการผลิตและการจัดการซึ่งจำเป็นต่อการแข่งขัน ขณะที่มาตรฐานการครองชีพของไทยก็สูงขึ้นด้วย แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่มักจะกระจุกตัวในมือผู้ลงทุนต่างชาติและผู้ร่วมทุนชาวไทยจำนวนไม่มาก แม้ว่าจะทำให้ความยากจนในประเทศลดลงบ้างแต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการกระจายรายได้และลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนได้

"ธุรกิจข้ามชาติจำเป็นมากสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่จำเป็นต้องระมัดระวังโดยเฉพาะกรณีการเปิดการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอเมริกา ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว และว่าการกำหนดนโยบายของรัฐต่อบริษัทข้ามชาติเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะการเปิดเสรีธุรกิจบางประเภท เช่น การพาณิชย์ การขนส่ง ธุรกิจสถาบันการเงินในประเทศและการค้าปลีก เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่กระทบการทำมาหากินของคนไทยที่ทำอยู่แล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเราเคยผิดพลาดมาครั้งหนึ่งแล้วกรณีการปล่อยให้เทสโก โลตัส แม็คโคร และเซเว่น อีเลฟเว่น ตั้งขึ้นในประเทศไทย

รัฐบาลควรซื้อเวลาเปิดเสรีธุรกิจบางประเภทเพื่อปรับปรุงและเตรียมความพร้อมของนักลงทุนไทยให้สามารถแข่งขันก่อนเปิดให้ต่างชาติเข้ามา เตรียมความพร้อมด้านพื้นฐานของไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า ปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้าโอกาสที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) จะไหลเข้ามาในไทยมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาตามอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 75-80% จากปัจจุบันที่ 70% ขณะที่อังค์ถัดได้คาดการณ์ว่า ภายใน 4 ปีข้างหน้าเอฟดีไอที่เข้ามาลงทุนในไทยจะมีทิศทางที่ดี โดยจากการสำรวจพบว่าไทยมีความพร้อมในการดึงดูเอฟดีไอเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย และสหรัฐเมริกา

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในการเจรจาเอฟทีเอ รัฐบาลควรตระหนักเรื่องการส่งเสริมการแข่งขันในสาขาที่มีการผูกขาดหรือการแข่งขันน้อย โดยเฉพาะสินค้าหรือบริการที่เป็นวัตถุดิบสำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ รวมทั้งต้องแก้ไขปัญหาเรื่องคอรัปชั่น เช่น การหนีภาษี ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบรัฐ การผูกขาดของภาคธุรกิจ การอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมและการใช้สัมปทานผูกขาด เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจที่เอื้อต่อพวกพ้องรัฐบาล ขณะที่กฎกติกาของรัฐไม่ควรจะสร้างภาระต้นทุนที่สูงเกินควรแก่ภาคเอกชนไทย และส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพ

นายจักรกฤษณ์ ควรพจน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาพยายามกดดันประเทศคู่เจรจาให้เปิดกว้างด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้ประโยชน์ฝ่ายเดียวโดยเฉพาะด้านสิทธิบัตร เช่น สิทธิบัตรยาที่กดดันให้ประเทศคู่เจรจาคุ้มครองสิทธิบัตรยาของบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐ ส่งผลให้คู่เจรจาเสียโอกาสเข้าถึงยา ถูกบังคับซื้อยาแพงและปิดโอกาสการนำเข้ายาชนิดเดียวกันจากประเทศอื่นโดยอ้างการละเมิด ถือเป็นการบล็อกทุกทาง ซึ่งรัฐบาลไทยควรยึดกรอบปฏิญญาโดฮาการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2545 ที่ระบุให้สิทธิบัตรยาที่จะได้รับความคุ้มครองต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาและสมาชิกสามารถใช้กฎหมายภายในประเทศในการยืดหยุ่นเข้าถึงยาได้

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเปิดเผยข้อเสนอต่อรองกับสหรัฐ เพราะการเจรจาเอฟทีเอไม่ใช่การไปรับฟังข้อเสนอของสหรัฐแล้วนำมาปฏิบัติ แต่ควรเป็นการแลกเปลี่ยนสัญญาที่ประเทศควรให้ความสำคัญในเรื่องประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด