อาเซียนทำเมินเสียงคัดค้านไทย ดันแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่

สภาหอการค้าไทยหวั่นแหล่งกำเนิดอาเซียนใหม่ทำไทยเสียเปรียบสิงคโปร์ แนะรัฐตั้ง export processing zone ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากนอกอาเซียน เตรียมจัดสัมมนา 8 กลุ่มสินค้า ธ.ค.นี้ รวมข้อมูลให้รัฐบาลเสนอต่อที่ประชุมมนตรีอาเซียน เม.ย. 2548 ด้าน คต.คาดรถยนต์-อิเล็ก ทรอนิกส์ได้ประโยชน์ แต่อุตฯกลาง-เล็กเสียเปรียบ

ปัจจุบันอาเซียนถือเป็นตลาดอันดับ 1 ของผู้ส่งออกไทย ในปี 2546 ไทยส่งออกไปอาเซียนสูงถึง 16,486.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุสำคัญมาจากสภาพภูมิประเทศและการลดภาษีระหว่างประเทศสมาชิกภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) แต่ในปี 2548 อาเซียนจะมีการหารือเพื่อปรับระบบในการคำนวณ "แหล่งกำเนิดสินค้า" ใหม่ ซึ่งตรงจุดนี้อาจจะส่งผลทั้งด้านบวกและลบต่อผู้ส่งออกไทย

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานกรรมการข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง แหล่งกำเนิดสินค้าแบบสะสมของอาเซียนจะเกิดผลกระทบธุรกิจท่านอย่างไร จัดโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการไทยว่า สำหรับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าแบบใหม่ของอาเซียน จะใช้วิธีคำนวณแบบสะสม (cumulative rule of origin หรือ CRO) ในช่วงแรกภาคเอกชนคัดค้านมาก เพราะเกรงว่าจะปรับตัวไม่ทันช

สำหรับกฎแหล่งกำเนิดสินค้าแบบใหม่ จะใช้ในกรณีที่เป็นภาคีอาเซียนเช่นกัน แต่หากเปอร์เซ็นต์ของวัตถุดิบ (local content) ของประเทศภาคีประเทศใดประเทศหนึ่งมีไม่ถึงตามที่กำหนดไว้ ให้ประเทศสมาชิกสามารถไปนำวัตถุดิบจากประเทศคู่สัญญาอีกประเทศมารวมกับวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในประเทศของตนเองจนมีมูลค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ครบตามที่สัญญากำหนด โดยถือว่าได้แหล่งกำเนิดเป็นของตนเอง

ช"CRO จะส่งผลดี ทำให้ผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีไม่ดีพอ และเป็นผู้ส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่แปรรูปบางส่วนออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ไทยมีวัตถุดิบร้อยละ 20 มาเลเซียมีวัตถุดิบร้อยละ 20 มาผลิตสินค้าในไทย เท่ากับว่ามีวัตถุดิบจากอาเซียนร้อยละ 40 (ส่วนอีกร้อยละ 60 เป็นวัตถุดิบจากนอกกลุ่มอาเซียน) ถือว่าได้แหล่งกำเนิดในไทย แต่ในทางกลับกัน แหล่งกำเนิดสินค้าแบบใหม่ไม่กระตุ้นให้ผู้ส่งออกพยายามเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เพราะสามารถส่งเป็นวัตถุดิบแล้วนำมารวมกับวัตถุดิบของประเทศอื่นได้" นายพรศิลป์กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านโครงสร้างภาษีของไทยที่เก็บภาษีนำเข้าจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียนในอัตราร้อยละ 25-30 กลายเป็นข้อเสียเปรียบ เพราะ CRO เปิดโอกาสให้นำวัตถุดิบจากนอกกลุ่มอาเซียนเข้ามาผลิตในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น แต่ยังได้แหล่งกำเนิดในประเทศอาเซียน ส่งผลดีกับสิงคโปร์ที่มีวัตถุดิบในประเทศน้อย แต่มีอัตราภาษีนำเข้าต่ำร้อยละ 0-5 ขณะเดียวกันรูปแบบใหม่เปิดโอกาสให้ปลอมแปลงแหล่งกำเนิดสินค้าได้ง่าย และตรวจสอบได้ยาก เพราะเอกสารค่อนข้างมาก

สำหรับวิธีการปรับตัวเบื้องต้นนั้น ภาครัฐควรเข้าช่วยสนับสนุนด้านการเพิ่มมูลค่าในการผลิตสินค้าให้มากขึ้น ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีทั้งประเทศนั้นทำได้ยาก แต่อาจจะทำบางพื้นที่ หรือเรียกว่าทำไทยให้เป็นสิงคโปร์ ด้วยการกำหนดเขตพื้นที่ export processing zone (EPZ) ให้ใช้อัตราภาษีพิเศษที่มีระดับต่ำ เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ CRO ส่วนผู้ผลิตต้องพยายามนำเข้าวัตถุดิบแล้วนำมาพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าประกอบกันไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สินค้าแต่ละประเภทย่อมมีส่วนได้ส่วนเสียจากการใช้แหล่งกำเนิดสินค้า CRO ต่างกัน ดังนั้น ทางสภาหอฯจะได้จัดให้มีการสัมมนากลุ่มย่อยในเดือนธันวาคม 2547 เบื้องต้นแบ่งเป็น 8 กลุ่มสินค้า ได้แก่ รถยนต์และอะไหล่ เฟอร์นิเจอร์ อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟฟ้า เครื่องหนังรองเท้า ปิโตรเคมี และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อรับทราบข้อเท็จจริง และปัญหาที่เกิดขึ้นกับแต่ละอุตสาหกรรมแล้วนำเสนอต่อให้ภาครัฐพิจารณา

ด้านเรือตรีวิเชียร อินสุข ผู้อำนวยการกองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเอกชนไทยส่วนใหญ่จะคัดค้าน แต่สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน สนับสนุน จนในที่สุดไทยต้องยอม ซึ่งหากมองในภาพรวมพบว่าการใช้ CRO จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีวัตถุดิบมาก ช่วยให้ปริมาณการค้าในภูมิภาคเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถนำวัตถุดิบที่มี ASEAN Content น้อยกว่าร้อยละ 40 มาใช้ในการคำนวณหา ASEAN Content ในการผลิตขั้นถัดไป

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเครือข่ายที่มีการเปิดสาขาในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากจะสามารถเลือกนำเข้าวัตถุดิบได้ แต่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอาจจะเสียเปรียบในจุดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการคำนวณนั้นถือว่าเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าให้กลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น

"ในวันนี้เรายังไม่ได้ตัดสินใจว่าถูกหรือผิด แต่ถ้าเป็นปัญหามากจะต้องทบทวน ซึ่งการบังคับใช้กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Council) ซึ่งจะมีการประชุมครั้งต่อไปในเดือนเมษายน 2548 แต่ก่อนหน้านั้นจะมีการประชุมกลุ่มเล็กก่อนเพื่อพิจารณาในรายละเอียดแต่ละเรื่อง ในระหว่างนี้แต่ละประเทศจะพิจารณาว่าจะได้รับหรือเสียประโยชน์อย่างไร ดังนั้น ภาคเอกชนควรเข้ามาให้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เพื่อให้รัฐรับทราบ" เรือตรีวิเชียรกล่าว

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด