ร้อยแปดวิถีทัศน์:เกษตรกรฆ่าตัวตายพรรคไหนจะดูแล?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 07:00:00

สุกัญญา หาญตระกูล

เกษตรกรในฝรั่งเศสฆ่าตัวตายมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รายงานดังกล่าวมีออกมาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ตามหลังเกษตรกรคนหนึ่งที่เพิ่งฆ่าตัวตาย เพราะเครียดหาทางออกไม่ได้เรื่องแปลงเกษตรไร่ข้าวโพดพันธุ์ที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ที่ได้ปลูกไว้ เกษตรกรวัยกลางคนผู้นี้แขวนคอตายที่ต้นไม้หน้าไร่ข้าวโพด ของตนเองในเช้าวันหนึ่ง

ในรายงานบอกว่าวิธีฆ่าตัวตายที่เกษตรกรชาวฝรั่งเศสใช้มากที่สุดคือ แขวนคอตาย รองลงมาถึงจะเป็นการใช้อาวุธ

ข่าวและรายงานดังกล่าวทำให้นึกถึงรายงานของกรมสุขภาพจิตของบ้านเรา เมื่อปี 2548 เพราะมีความน่าห่วงใยคล้ายคลึงกันเสียเหลือเกิน กล่าวคือในปี 2527 ชาวเหนือ 6 จังหวัดติดอันดับการฆ่าตัวตายสูงสุดของประเทศ วิธีที่ใช้ฆ่าตัวตายมากที่สุดก็คือ แขวนคอตาย จิตแพทย์ชี้ว่าส่วนใหญ่เนื่องมาจากความเครียดปัญหาหนี้สิน ปัญหาการทำกิน หรือถึงแม้จะมีปัญหาสุรา ยาเสพติด ปัญหาครอบครัว แต่ในที่สุด ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาการเงินก่อนนั่นเอง

ในปีเดียวกัน เกษตรกรในภาคอีสาน เช่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และขอนแก่น ก็มีปัญหาความเครียดทำนองเดียวกัน

ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า ในจังหวัดอื่นๆ ในอีสานนอกจากสามจังหวัดนี้แล้ว จะไม่มีปัญหาความเครียดของเกษตรกรเรื่องหนี้สินหรือเรื่องปัญหาทำกิน แต่เป็นเพียงเพราะกรมสุขภาพจิตมีสถานพยาบาลดูแลเรื่องนี้อยู่ในจังหวัดเหล่านี้ จึงมีรายงานออกมาให้ได้รู้กัน

บรรดานักการเมืองทั้งหลายแทนที่จะคอยแต่แถลงรายวันเรื่องจะตั้งพรรค ย้ายพรรค หรือแก้รัฐธรรมนูญ ลงยันต์กันเปรตการเมืองตัวนั้นตัวนี้ สีนั้นสีนี้ ก็น่าจะได้มาทำงานติดตามความเป็นไปทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวร่วมกับข้าราชการประจำอย่างแข็งขัน เพราะสะท้อนถึงความลำบากสุดๆ ของเกษตรกรที่จะยิ่งลำบากมากขึ้นในโลกยุคโลกาภิวัตน์อย่างยากจะหยุดยั้ง แม้ในประเทศพัฒนา เกษตรกรพ้นปัญหาเรื่องที่ทำกินเรื่องน้ำแล้ว ก็ต้องมาผจญปัญหาพันธุ์พืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) เป็นปัญหาที่รัฐต้องบริหารจัดการให้ลงตัว

ปัญหาหนี้สินไม่ว่าจะของเกษตรกร ของเหล่าบรรดาแม่พิมพ์ของชาติ ของผู้ใช้แรงงาน ของนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนของนักการเมืองและนักธุรกิจนักการเงิน ต่างมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน ผู้จะเสนอตัวมาบริหารบ้านเมือง น่าจะลองเสนอนโยบายแก้ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความเครียดความกังวล ปัญหาทำกินของเกษตรกรภาคเหนือและภาคอีสาน ก่อนปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่นๆ ให้ได้ภาพรวมดีๆ สักครั้งเถอะว่า มันเกาะเกี่ยวกันอย่างไร จะแก้อย่างไรเป็นเปลาะๆ อย่างรอบด้านสอดรับกัน ไม่ใช่แก้หนี้ทางหนึ่ง แต่ไปโผล่อีกทางหนึ่ง

เอาให้เหมาะๆ รับรองว่าย่อมมีหนทางไม่มากก็น้อย ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์การออกเสียงของคนภาคเหนือและคนภาคอีสาน ที่นักวิชาการนักวิเคราะห์ทางการเมืองยืนยันนักหนาว่า เป็นเสียงที่มีความภักดีทางการเมืองในเชิงบุคคลมากกว่า จะเป็นความเข้าใจและคุณค่าที่ให้แก่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เพิ่งลงประชามติไปร้อนๆ

พรรคการเมืองน่าจะลองเสนอตัวเลือกผู้แทนที่มีคุณภาพแต่ไม่จบปริญญาตรีลงสนามเลือกตั้งสักจำนวนหนึ่ง ป่าวประกาศลงไปด้วยว่านี่เป็นข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้วให้โอกาสเขาเหล่านี้ได้มีสิทธิมีเสียงในพรรค ได้สื่อสารกับประชาชนซึ่งพรรคจะต้องคิดสร้างนวัตกรรม หรือรูปแบบที่จะอำนวยให้เกิดขึ้นได้ทุกทาง เช่น

สร้างบรรยากาศใหม่ในเวทีการเมือง ยอมรับเสื้อผ้าธรรมดาของชนชั้นล่าง ขอให้สุภาพสะอาด ลดใช้เสื้อนอกเนกไท วาจาปราศรัยให้มีหลายรูปแบบ ยอมรับภาษาถิ่นทั้งนอกสภาและในสภา โดยมีล่ามภาษาไทยกลางช่วยแปลให้หากจำเป็น สามารถหารูปแบบการพูดใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องสวมวิญญาณนักการเมืองพันธุ์เก่าๆ เป็นต้น ตลอดจนการเลี่ยงคัดเลือกผู้สมัครผัวเมียวนกันไปเวียนกันมา

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องความหมายและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ การที่พลเมืองเต็มขั้นธรรมดาๆ จะสามารถใช้สิทธิที่ตนมีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ขนาดไหน เอากันตั้งแต่เรื่องการมีความหวังในชีวิต จะรักษาชีวิตของพลเมืองจากความรู้สึกสิ้นหวังไร้ศักยภาพได้อย่างไร เพียงเท่าที่บัญญัติไว้เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องการศึกษา เรื่องการใช้อำนาจของประชาชนในการตรวจสอบการกระทำอันเสียหายต่อรัฐจากฝีมือนักการเมืองและข้าราชการ

บทบัญญัติเหล่านี้จะใช้ได้จริงขนาดไหนในภาคปฏิบัติ ซึ่งหากเกษตรกรหรือพลเมืองคนไหนไม่ว่าจะมีปัญหาหนี้สินขนาดไหน แต่ไม่สิ้นหวัง ไม่มืดแปดด้าน ไม่เครียดจนเสียสติสัมปชัญญะ ยังรู้สึกมีศักยภาพที่จะแก้ปัญหา ยังรู้สึกว่าตนเองมีความหมายทางสิทธิและทางสังคม การคิดสั้นก็น่าจะลดลงเป็นเงาตามตัว

การคอยแต่ตั้งรับแก้ปัญหาด้วยการจัดบริการสุขภาพจิต หรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ด้านการเงินการธนาคาร การบริการต่างๆ รังแต่จะเป็นการประทังชีพไปวันๆ ไม่ใช่การรักษาตรงเหตุของโรค กลุ่มผู้ขายแรงงานที่ถูกลอยแพ เพราะโรงงานปิดก็จะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อไปเรื่องจะทำลายชีวิตตน เป็นสิบๆ ปีมาแล้วที่นักวิชาการหลายคนเตือนแล้วเตือนอีกเรื่องการไม่พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิงที่เป็นแรงงานสำคัญสร้างรายได้ประชาชาติในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 แต่ในที่สุด ความหายนะก็เกิดขึ้นจนได้

พรรคการเมืองจึงต้องมีวิสัยทัศน์มองไปถึงปัญหาที่รออยู่ข้างหน้าแล้วนำมาเสนอบอกกล่าวแก่ประชาชน ไม่ใช่วันๆ หนึ่ง มีแต่เรื่องจะย้ายพรรค ตั้งพรรค เลือกตั้ง และแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งขอบอกตามตรงว่าไม่ห่วงเรื่องจะแก้จะร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ตามอุดมคติ เรามาจนถึงขนาดนี้ ยังไงๆ ก็จะมีโอกาสแก้และเขียนกันอีกต่อไปในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน

การลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นี้ ได้เปิดทางให้ผู้ยึดอำนาจการปกครองด้วยรถถังได้หาทางลงอย่างสง่างามแล้ว พอกันทีกับการหยุดชะงักงันในการพัฒนาประเทศ และการใจหายใจคว่ำเครียดหวาดเสียวเสียสุขภาพจิตประสาท อันเนื่องจากความไม่แน่นอนต่างๆ ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายนเป็นต้นมา

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด