โพสต์ทูเดย์ 24 ส.ค. 50 ? สธ.นัดประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง เอ็นจีโอ กำหนดท่าทีปัญหา ซีแอล-ตอบโต้อียู ทูตสหรัฐ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ในฐานะประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) กล่าวว่า ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ได้นัดประชุมหารือกับ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดท่าทีของไทย ต่อกรณีนายปีเตอร์ แมนเดอร์สัน ประธานคณะกรรมการการค้าสหภาพยุโรป (อียู) และนายราล์ฟ บอยซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ทักท้วง การทำซีแอลยา โดยขอให้ไทยยุติการทำซีแอล
?ทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหนังสือให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตลอดจนเอ็นจีโอ เช่น เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคมะเร็ง เพื่อร่วมกำหนดท่าทีของไทย เพราะการที่เอกอัครราชทูตสหรัฐ และประธานคณะกรรมาธิการการค้าอียู มีจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี น่าจะเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน? นพ.วิชัย กล่าว
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีพรรคหรือกลุ่มการเมืองใดที่นำเสนอนโยบายด้านสุขภาพ และความชัดเจนในการสานต่อนโยบายซีแอลต่อจากรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้นต้องการให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีการนำเสนอนโยบายนี้ให้ชัดเจน ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และเข้าใจในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
?ขณะนี้องค์กรภาคประชาชนกำลังติดตามว่า พรรคการเมืองใดจะมีนโยบายเรื่องซีแอลออกมาอย่างไรบ้าง เพื่อทำให้ประชาชนอุ่นใจในเรื่องการรักษาพยาบาล? นายนิมิตต์ กล่าว
ทั้งนี้ สธ.ประกาศทำซีแอลยา 3 รายการ เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี และยาสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยประกาศทำซีแอลยาต้านไวรัสเอชไอวีที่เชื้อดื้อยา เมื่อปลายเดือน พ.ย. ปี 2549 มีชื่อการค้าคือยา ?เอฟฟาไวเรนซ์? และ ?คาเลตรา? ส่วนยารักษาโรคหัวใจ คือยาพลาวิกส์ ซึ่งเป็นชื่อการค้า และชื่อยาสามัญคือ ?โคลพิโดเกรล? ทาง สธ.ประกาศทำซีแอลยาตัวนี้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา
ล่าสุด องค์การเภสัชกรรม ตัดสินใจสั่งนำเข้ายารักษาโรคหัวใจที่ผลิตโดย บริษัท เอ็มเคียวของอินเดีย เนื่องจากเสนอขายราคาเม็ดละ 1.01 บาท ซึ่ง ยาตัวเดิมราคาเม็ดละ 70 บาท และขายในโรงพยาบาลเม็ดละ 90-150 บาท คาดว่าคนไทยจะได้ใช้ยานี้ในอีก 1-2 เดือนนี้