โปรดจับตาอย่ากระพริบ สนช.คลอดกม. ร่างทรงอำนาจรัฐ

เบญจา ศิลารักษ์

ก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่คนจำนวนมากพุ่งความสนใจไปที่พรรคการเมืองต่างๆ รวมไปถึงผู้สมัคร สส.ของแต่ละเขต ใครจะลงหรือไม่ลงสมัครเขตไหน อย่างไร แต่ในระหว่างนี้แทบจะไม่มีใครสนใจการทำงานของรัฐบาล คมช. ที่กำลังเร่งผลักดันออกกฎหมายหลายฉบับ รอการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งรวมแล้วมีไม่ต่ำกว่า 48 ฉบับ ล้วนแล้วแต่กำหนดชะตาชีวิตของประชาชนเกือบจะครอบคลุมในทุกๆ ด้าน นับตั้งแต่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การสื่อสาร ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการศึกษา ระบบสวัสดิการ จนถึงการจัดการด้านเศรษฐกิจเลยทีเดียวที่ผ่านมา

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหาสาระของกฎหมายที่กำลังจะนำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะคลอด 3 วาระรวดหลายฉบับ เช่น ร่างกฎหมายรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ร่างกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฯลฯ ทั้งนี้มีการวิเคราะห์กันว่าเหตุที่รัฐบาล คมช.พยายามเร่งผลักดันกฎหมายหลายฉบับผ่าน สนช.นั้นมาจากความต้องการรักษาฐานอำนาจ โดยมุ่งไปสู่การเพิ่มอำนาจให้แก่หน่วยงานรัฐ แต่กลับจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนไม่ต่างไปจากรัฐบาลหลายๆ ชุดที่ผ่านมา ในเวที กป.อพช.มีการแบ่งกฎหมายที่ประชาชนต้องร่วมกันคัดค้าน และจับตามองออกเป็นหมวดหมู่ ซึ่งพบว่าครอบคลุมชะตาชีวิตประชาชนเกือบจะทุกด้าน

ดังที่กล่าวมาข้างต้น หากกฎหมายดังกล่าวคลอดออกมามีผลบังคับใช้ ต่อให้เรามีรัฐธรรมนูญที่สวยหรูเพียงใดก็ไร้ความหมาย เมื่อเสรีภาพของประชาชนถูกแย่งชิงไปเสียแล้ว?สนช.ไม่มีความชอบธรรมในการออกกฎหมายเพราะไม่ใช่สภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่แต่งตั้งในระบอบเผด็จการ แม้ว่าสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีแต่นักการเมืองน้ำเน่า แต่ก็ต้องรับผิดชอบประชาชน กฎหมายหลายฉบับร่างก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2550 ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่? จอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช.กล่าวถึงการผลักดันร่างกฎหมายผ่าน สนช.ในเวลานี้ พร้อมกับย้ำว่าจุดยืนของภาคประชาชนคือจะต้องติดตามตรวจสอบอย่างถึงที่สุด

กม.อันตราย ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

หนึ่งในร่างกฎหมายที่กำลังจะเร่งผลักดันให้ผ่านในรัฐบาลชุดนี้ และเครือข่ายภาคประชาชนถือว่าเป็นกฎหมายอันตรายให้สีแดงเข้ม หมายถึงกฎหมายที่จะต้องคัดค้านจนถึงที่สุดคือ ร่างกฎหมายรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งมีกระแสการคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยังไม่มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 50 ร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณากฤษฎีกา อยู่ในลำดับที่ 3 ที่จะเข้าสู่ สนช. แนวโน้มโอกาสจะผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้สูงมาก เพราะที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนเคยยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์กลับบอกว่าจำเป็นต้องออกในรัฐบาลชุดนี้ เพราะถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งกม.ฉบับนี้จะออกยาก โดยไม่ระบุเหตุผลว่าทำไมต้องมีกฎหมายฉบับนี้แต่อย่างใด

ประเด็นที่มีการคัดค้านกันอย่างมากคือ ร่างพ.ร.บ.นี้ทำให้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)ในฐานะผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สามารถรวมศูนย์อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้ อันเป็นการขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ยึดหลักตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ไพโรจน์ พลเพชร รองประธาน กป.อพช.กล่าวว่าร่างกฎหมายนี้หากผ่านออกมาจะมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญเพราะจะทำให้ทหารเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การที่รัฐบาล คมช.ยังไม่ยกเลิกพื้นที่กฎอัยการศึกก็จะทำให้ทหารเข้ามามีบทบาท ผู้บัญชาการทหารบกมีอำนาจใหญ่คับฟ้า เช่น จับกุมคนได้ทันที ตรวจค้น ทำลายสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ห้ามเดินทาง ห้ามชุมนุม หรือเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งให้ทหารเข้ามามีบทบาทได้ ไพโรจน์ยังกล่าวอีกว่าปัจจุบันแม้ยังไม่มีการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว ก็มีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องแล้วโดยเฉพาะในเขตจังหวัดชายแดนใต้ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุน กรณีที่มีปัญหาในโครงการขนาดใหญ่ ขัดแย้งกับประชาชน รัฐบาลสามารถอ้างเอากฎหมายฉบับนี้มาใช้ได้ ถือว่าขัดหลักรัฐธรรมนูญ และเป็นการรัฐประหารโดยใช้กฎหมายนั่นเอง

กม.คุมเข้มสื่อ เผด็จการย้อนยุค
กลุ่มกฎหมายที่จัดได้ว่าเป็นกฎหมายที่ต้องจับตามองอย่างมากไม่แพ้ร่างกม.รักษาความมั่นคง เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างมาก คือกลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อจำนวน 8 ฉบับกฎหมายทั้ง 8 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์ , ร่างพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพ่รภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ....., ร่างพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ......,ร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ...... , ร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.....,ร่างพ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ......, ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับแก้ไข) ,ร่างพ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ พ.ศ..... ในจำนวนนี้ พ.ร.บ.ที่ผ่านออกมาแล้วมีผลบังคับใช้ได้แก่พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ปี 2550 นอกนั้นอยู่ระหว่างการชงให้ สนช.พิจารณาและเร่งผลักดันออกเป็นกฎหมาย

สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่าการยกกฎหมายสื่อขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่นั้น กฎหมายหลายฉบับในแวดวงสื่อสารมวลชนเองก็เห็นว่ามีความล้าหลัง ต้องปัดฝุ่น เช่น กฎหมายภาพยนตร์ปี 2473 ที่มีการเปลี่ยนมาเป็นปี 2479 มีความล้าหลังประเทศอื่นอยู่มาก เช่นให้ตำรวจเป็นผู้เซ็นเซอร์ภาพยนตร์ แต่อย่างไรก็ตามตนเองเห็นว่าไม่ควรผลักดันกฎหมายสื่อภายใต้รัฐบาล คมช. ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนไม่มีส่วนร่วมแสดงความเห็น อีกทั้งยังมีแนวโน้มการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มากเพราะเป็นรัฐบาลทหาร ร่างกม.ภาพยนตร์ที่เสนอ สนช.นั้นเปลี่ยนระบบเซ็นเซอร์ เป็นการจัดเรตติ้ง แต่ก็ยังให้อำนาจรัฐที่จะห้ามภาพยนตร์ฉายหรือไม่ฉายได้ เฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ห้ามฉายภาพยนตร์ใดที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน คำถามคือว่าหากภาคประชาชนจะทำภาพยนตร์ฉายดูกันเอง ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องถูกตรวจ เซ็นเซอร์เหมือนกัน

?อะไรที่ขัดต่อศีลธรรม และความมั่นคง คนที่พิจารณาคือ ภาครัฐ ถามว่าปีนี้ พศ.ไหนแล้ว? สุภิญญากล่าวย้ำร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติพ.ศ.... ถือเป็นร่างพ.ร.บ.สื่ออีกฉบับที่ยกเลิกกฎหมายฉบับเก่าได้แก่พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ 2498 2502 2521 และ 2530 ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของ คปส.ระบุว่าโดยภาพรวมยังคงสภาพความเป็นสื่อของหน่วยงานรัฐ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการขยายอำนาจการสื่อสารในฐานะกระบอกเสียงของภาครัฐผ่านโครงสร้างสื่อบริหารสาธารณะระดับพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะทับซ้อนพื้นที่สื่อของชุมชน และภาคประชาชน สุภิญญา กล่าวว่าแม้จะมีการรองรับพื้นที่สื่อภาคประชาชนอยู่บ้าง แต่ก็มีช่องว่าง คือ การพิจารณาว่าใครเป็นชุมชนจริง ไม่จริง ปัจจุบันร่างดังกล่าวอยู่ในวาระรับหลักการ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจพิจารณา จากนั้นจึงจะส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไปนอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่แม้ไม่เกี่ยวข้องกับสื่อโดยตรง เป็นกฎหมายที่ต้องการแก้ปัญหาสื่อที่ส่งกระทบต่อเด็กและเยาวชน คือร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตรายพ.ศ..... มีเจตนาดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง สุภิญญา เลขาธิการ คปส.มีความเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้คำจำกัดความของสื่อลามกที่กว้างเกินไปเช่น การมีลอยสักที่แสดงถึงการเป็นสื่อลามกตามการตีความของเจ้าหน้าที่ก็ถูกดำเนินคดีได้ พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอาจจะเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจมากขึ้น เปิดช่องให้บุคคลที่เป็นคู่ขัดแย้งสามารถนำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมาใช้จัดการกับคู่ขัดแย้งได้ และกระบวนการยุติธรรมจะปกป้องประชาชนได้อย่างไรร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่ร่างขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็พบว่ากำลังมีการเสนอแก้ไขและจะเข้า สนช.เช่นกัน แต่ยังพบรายละเอียดเนื้อหาสาระของร่าง

ส่วนร่างที่เกี่ยวข้องกับสื่อและผ่าน สนช.เรียบร้อยแล้ว คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ถือเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้ และพบว่าให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างมหาศาลในการตรวจสอบข้อมูลประชาชน จนไปถึงระดับปัจเจกบุคคลที่ถือว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ปัจจุบันมีการดำเนินคดี จับกุมคนที่เข้าข่ายผิดกฎหมายแล้วกล่าวโดยสรุปการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อนั้น เนื้อหาสาระคือเปิดช่องให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมสื่อได้มากขึ้น การควบคุมสื่อเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น จนถึงจิตนาการและความคิดฝันของประชาชนด้วย

กม.ละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจ ขายสมบัติชาติเหมือนเดิม

ร่างกม.ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศที่มีการคัดค้านอย่างหนัก คือร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ พ.ศ..... ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่านกฎหมายในเวลาอันรวดเร็ว และนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอนแรกฝ่ายภาคประชาชนมีความยินดีที่รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจปี 2542 แต่ในความเป็นจริงมีการยกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาแทนที่ ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าจะเร่งพิจารณาโดยเร็วให้เสร็จทันรัฐบาลชุดนี้ ฝ่ายภาคประชาชนที่คัดค้านอันได้แก่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีความเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ต่างจากพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด เพราะเป็นการนำรัฐวิสาหกิจไปขายเช่นกัน อาจจะแตกต่างแค่รูปแบบและวิธีการเท่านั้นรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นว่าร่างพ.ร.บ.นี้ร้ายยิ่งกว่าพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจปี 2542 เสียอีก เพราะรัฐบาลสามารถแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปขายได้โดยง่าย ขณะที่ประชาชนไม่สามารถต่อต้านได้ เพราะร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดว่าคณะกรรมการนโยบายมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย สามารถจับกุมประชาชนที่ไม่เห็นด้วยได้ ร้ายไปกว่านั้นคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีตัวแทนของผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมเลยนอกจากนี้ระบบการกระจายหุ้นตามร่างพ.ร.บ.นี้ยังเป็นการให้เช็คเปล่าแก่ฝ่ายบริหาร เน้นเรื่องการกระจายหุ้น บอกว่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายหุ้น แต่กม.นี้ไม่สนใจว่ากระบวนการในการเลือกรัฐวิสาหกิจจะเลือกอะไรไม่เลือกอะไรมาแปรรูป ก็เท่ากับว่าแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้หมด จุดมุ่งหมายก็ยังเป็นไปเพื่อการแสวงหาผลกำไรมากกว่านั่นเอง อีกทั้งยังไม่สามารถป้องกันการแสวงหาประโยชน์ของนักการเมืองกับสมบัติของชาติได้ เช่นการอนุญาตให้ฝ่ายบริหารสามารถนำหุ้นไปขายได้ เท่ากับเป็นการผ่องถ่ายทรัพย์สมบัติชาติไปสู่นักการเมืองนั่นเอง

?คนที่มีความรู้ในเรื่องนี้ กศท.ถือเป็นกระดูกสันหลังของโครงข่ายโทรคมนาคม ไม่ควรจะมีการกระจายหุ้นด้วยซ้ำไป แต่กลับไม่มีข้อห้ามในพ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อดู รธน.50 ม.84 วงเล็บ 11 ระบุว่ากิจการที่เป็นโครงข่ายพื้นฐานที่เป็นตัวสำคัญ ถ้าแปรรูป รัฐต้องถือหุ้นไม่เกิน 51 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับเปิดให้เอกชนถือหุ้นได้ถึง 49 เปอร์เซ็นต์ จุดนี้ถือเป็นจุดที่อันตรายมาก เท่ากับสามารถหยิบกิจการใดมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้? รสนากล่าวย้ำถึงอันตรายที่สมบัติชาติจะถูกขายไปหากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน สนช.

กม.รวบอำนาจจัดการทรัพยากร ละเมิดสิทธิชุมชน

กลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องการจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชน มีกฎหมายหลายฉบับที่กำลังเตรียมผลักดัน เช่น ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ร่างพ.ร.บ.การจัดการน้ำ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (แก้ไขปี 2535) ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ร่างพ.ร.บ.ประมง ฯลฯทั้งนี้ในกลุ่มนี้ร่างพ.ร.บ.ที่จัดว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ร่างพ.ร.บ.ที่มีการถกเถียง และคัดค้านอย่างกว้างขวางมานานกว่า 15 ปี คือร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนค้างเติ่งในรัฐสภา ผ่านรัฐบาลไม่น้อยกว่า 4 รัฐบาล และก็มีการผลักดันเข้าสู่ สนช. ในรัฐบาลนี้ด้วย ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือวิธีคิดของฝ่ายกรมป่าไม้ที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่มาก กล่าวคือ ความคิดของฝ่ายกรมป่าไม้นั้นไม่สนับสนุนการมีป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ และยังมีลักษณะเป็นเจ้าของพื้นที่ป่าอยู่เช่นเดิม ดังนั้นผลการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนในชั้นคณะกรรมาธิการของ สนช.จึงขัดกับเจตนารมณ์ดั้งเดิมของฝ่ายภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2543 ทั้งนี้เพราะพลังผลักดันร่างกฎหมายของฝ่ายกรมป่าไม้นั่นเองผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ มีการเปลี่ยนแปลงในมาตราสำคัญคือมาตรา 25 เรื่องการจัดการป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ และมาตรา 34 เรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า

บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่าการลงมติของคณะกรรมาธิการ สนช. ในมาตรา 25 นั้นยินยอมให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนเฉพาะชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เท่านั้น แต่ชุมชนที่อยู่ข้างๆ หรือติดกับพื้นที่ป่าไม่มีสิทธิ และยังมีเงื่อนไขว่าต้องดูแลจัดการป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งในความเป็นจริงมีชุมชนประเภทนี้ไม่มาก ส่วนมาตรา 34 การใช้ประโยชน์จากป่า ก็ระบุว่าการใช้ไม้จากป่าชุมชนนั้นชุมชนจะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน เป็นต้นบัณฑูร กล่าวต่ออีกว่าร่างพ.ร.บ.นี้จึงขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 เรื่องสิทธิชุมชน และขัดแย้งกับมาตรา 30 ที่ว่าด้วยความเสมอภาคของประชาชนตามกฎหมายระหว่างประชาชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และชุมชนที่อยู่ข้างๆ หรือติดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ส่วนร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2535 ครอบคลุมทรัพยากรทุกประเภท โครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบกับชุมชน ยังไม่มีการรับรองสิทธิของชุมชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ ร่างพ.ร.บ.การจัดการทรัพยากรน้ำมี 2 ร่าง คือร่างจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และร่าง สนช. แต่ยังไม่มีบทบัญญัติชัดเจนตามสิทธิตาม รธน. 50 เช่นกัน มีแนวโน้มว่าร่างพ.ร.บ.น้ำนี้จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์น้ำเพื่อการพาณิชย์ เพื่อการค้าขายมากขึ้น นอกจากจะละเมิดสิทธิชุมชนแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าร่างพ.ร.บ.ที่ผลักดันออกมาจะมีการเอื้อให้กลุ่มทุน ผู้ประกอบการรายใหญ่อีกด้วย เช่น ร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรแห่งชาติ เป็นร่างพ.ร.บ.ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ มีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจผู้แทนหน่วยงานของรัฐร่วมกับผู้แทนองค์กรธุรกิจการเกษตรในการกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาการเกษตรเป็นสำคัญ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพัฒนาการเกษตรดังกล่าว ร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ก็เช่นเดียวกัน เอื้ออำนวยประโยชน์ให้เอกชน ผู้ประกอบการสามารถผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตราย เช่น ยกเลิกค่าธรรมเนียมรายปีแก่เอกชนผู้ประกอบการ นี่เป็นเพียงส่วนของร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากร และสิทธิชุมชน โดยสาระหลักๆ จะเป็นการรวบอำนาจการจัดการทรัพยากรไปอยู่ที่ภาครัฐมากขึ้น และมีแนวโน้มลิดรอนสิทธิชุมชน ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เขียนมาอย่างสวยหรู

กม.แปรรูปมหาวิทยาลัยสู่การค้า ละเมิดสิทธิการศึกษา

เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงรัฐบาล คมช.พบว่ามีการผลักดันการร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หลายมหาวิทยาลัย ได้แก่ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทักษิณ และร่างพ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านมามีกระแสคัดค้านทั้งจากนักศึกษา เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กร สาระสำคัญที่มีการคัดค้านคือการเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยฯ ในสนช.จะเป็นการละเมิดสิทธิทางด้านการศึกษาของประชาชนทั้งนี้เพราะแนวคิดในร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทั้งที่มีการแปรรูปออกนอกระบบไปแล้ว และที่กำลังจ่อคิวรอนั้นเป็นการนำมหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบตลาด มีผลทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา นักวิชาการในมหาวิทยาลัยขาดอิสรภาพทางวิชาการ บุคลากรในมหาวิทยาลัยไม่มีหลักประกันด้านสวัสดิการจอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช.กล่าวถึงผลกระทบของการแปรรูปมหาวิทยาลัย คือ 1.ค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น 2.การเติบโตของมหาวิทยาลัย ไม่สมดุล ภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนในมหาวิทยาลัยอย่างมาก มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นโรงงานผลิตคนให้บริษัทต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้นการบริหารงานในมหาวิทยาลัยจะไม่เป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ สภาอาจารย์มาจากการแต่งตั้ง และสภาฯ นี้จะแต่งตั้งอธิการบดี จึงทำให้มหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็นก๊วน เป็นก๊ก อาจารย์กลุ่มไหนที่ขัดแย้งกับคนกลุ่มนี้ก็จะถูกกลั่นแกล้ง จนขาดอิสระทางวิชาการ ด้านสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)มีความเห็นว่าที่ต้องคัดค้านและยับยั้งการออก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพราะกระบวนการยังไม่มีความโปร่งใส และเป็นกลาง เนื่องด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการออกกฎหมายเอง เช่น นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบว่ามีตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา นายเกษม สุวรรณกุล กฤษฏีกา คณะที่ 8 เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นต้น ดังนั้น สนนท. จึงเห็นว่ารัฐบาล คมช.ไม่มีความชอบธรรมในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่มาจากการเลือกตั้ง คงมีกฎหมายใหม่ๆ ที่คลอดออกมาโดย สนช.อีกหลายฉบับ กฎหมายต่างๆ เหล่านี้จะกลายเป็นพันธนาการที่ผูกคอเราเอง กลายเป็นอุปสรรคกับภาคประชาชน เพราะสาระสำคัญล้วนแต่เพิ่มอำนาจรัฐ อำนาจกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แต่ลดอำนาจประชาชน

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด