เจนีวา - ประเด็นยกเลิกโควตาสิ่งทอสิ้นปีนี้วุ่นไม่เลิก ล่าสุด ชาติกำลังพัฒนาวอนดับบลิวทีโอช่วยหาวิธีรับมือผลกระทบ ขณะอินเดียและจีน ซึ่งเป็นฝ่ายได้ประโยชน์พยายามขวาง ชี้จะขัดกับแผนเปิดเสรีตลาดโลก
นักการทูตและแหล่งข่าวในองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เผยว่า ชาติผู้ส่งออกสิ่งทอชั้นนำ ได้แก่ จีน ปากีสถาน และอินเดีย กำลังพยายามยับยั้งการหารือของดับบลิวทีโอเพื่อให้ความช่วยเหลือชาติกำลังพัฒนา ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากแผนยกเลิกโควตานำเข้าสิ่งทอทั่วโลก ตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีหน้า
ก่อนนี้ ชาติกำลังพัฒนาซึ่งเป็นผู้ผลิตสิ่งทอรายเล็ก ได้ร้องขอให้ดับบลิวทีโอศึกษาผลกระทบที่เศรษฐกิจขนาดเล็กจะได้รับเมื่อมีการเลิกใช้ระบบโควตาสิ่งทอ โดยคาดว่าดับบลิวทีโอจะจัดการหารือเรื่องนี้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า
แหล่งข่าวระบุว่า อินเดีย ภายใต้การสนับสนุนจากจีน ปากีสถาน และฮ่องกง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าจะได้อานิสงส์จากการยกเลิกโควตาสิ่งทอได้พยายามขัดขวางข้อเรียกร้องดังกล่าวของชาติกำลังพัฒนา
"เห็นได้ชัดว่า จีนและอินเดียจะพอใจกว่าที่เห็นเรายุติกระบวนการศึกษาผลกระทบ ขณะชาติกลุ่มด้อยพัฒนาที่สุด (แอลดีซี) และสหรัฐต้องการให้ดำเนินการต่อ" แหล่งข่าวระบุและว่า จีนและอินเดียยังได้ตั้งคำถามว่า การช่วยชาติผู้ผลิตสิ่งทอขนาดเล็กจะสอดคล้องกับนโยบายเปิดเสรีตลาด หรือนำไปสู่การขยายวงสู่สินค้าอื่น อาทิ ภาคการเกษตรหรือไม่
มีการศึกษาว่า จีนจะเป็นผู้ได้ประโยชน์มหาศาลจากตลาดสหรัฐ และยุโรป เมื่อมีการเลิกใช้ข้อตกลงโควตาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งควบคุมการส่งออกสิ่งทอจากชาติต่างๆ สู่ตลาดสหรัฐและยุโรปในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
สำหรับชาติที่เรียกร้องให้ดับบลิวทีโอศึกษาผลกระทบจากข้อตกลงยกเลิกโควตาสิ่งทอ มีราว 20 ชาติ อาทิ บังกลาเทศ เม็กซิโก ตูนิเซีย ซึ่งวิตกว่าจะถูกจีนแย่งตลาดและเกิดปัญหาว่างงานในประเทศ
ดับบลิวทีโอ ระบุว่า กำลังประสานงานกับธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อให้การสนับสนุนชาติยากจนที่ประสบปัญหา
ขณะสหภาพยุโรปเผยว่า พร้อมจะใช้ประโยชน์จากมาตรการชั่วคราวที่มีขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมสิ่งทอในยุโรป หากได้รับผลกระทบจากสิ่งทอจีน
27 พฤศจิกายน 2547