
ห่วงสังคมไทยไม่ละอายทุจริต
'อาการหลงตัวเอง หรืออาการที่รู้สึกว่าเราควบคุมสถานการณ์ได้ทุกเรื่องตลอดเวลา เป็นอาการที่น่าเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพของประเทศ?
'อานันท์? แนะรัฐบาลใช้บทเรียนในอดีตป้องกันวิกฤติในอนาคต เตือนอย่าหลงตัวเองหรือคิดว่าคุมสถานการณ์ได้ทุกเรื่อง เพราะเป็นอาการน่าเป็นห่วง ต่อสุขภาพของประเทศ วอนเลิกเสวยสุขกับตัวเลขเศรษฐกิจ โดยลืมคิดถึงปัญหาสังคม พร้อมจี้ทุกฝ่ายตั้งแต่ผู้บริหารประเทศถึงประชาชนทุกคน ยึดพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
วานนี้ (27 พ.ย.) มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2547 เรื่อง ?เหลียวหลังแลหน้า : ยี่สิบปีเศรษฐกิจสังคมไทย? โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า สภาพของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเลวร้ายลงในหลายด้าน
นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก สังคมไทยมีความเจริญมากขึ้น แต่ก็มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งค่านิยมและจิตใจ
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะตั้งสติและมองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะอยู่ต่อไป ป้องกันไม่ให้พลาดพลั้งกลับไปสู่ปัญหาเดิมๆ เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เพราะแม้สังคมไทยจะประสบกับวิกฤติน้ำมัน หรือเศรษฐกิจซบเซา แต่ก็โชคดีที่สามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้
นอกจากนี้ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา เราประสบปัญหาเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงอย่างไม่เคยมีมาก่อน อาจจะเป็นเพราะไม่เคยชินกับการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ที่สำคัญคือเราไม่เคยเรียนรู้วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ในทวีปอื่นและเขตอื่นของโลก เรามีความมั่นใจในความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจมากเกินไป
'เรียกภาษาง่ายๆ ว่า เราหัวโตเกินไป ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่มากับกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะความผันผวนของโลก ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ความเจ็บปวดที่มาจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นบทเรียนที่สังคมไทยจะต้องจดจำกันตลอดไป'
แนะยึด'พอเพียง'-หยุดหลงอัตราเติบโตศก.
นายอานันท์ ย้ำว่า เราต้องจดจำและต้องเรียนรู้ ไม่ใช่ว่าเมื่อเราฟื้นตัวจากผลพวงเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว เราจะคิดว่าเราแข็งแกร่ง หรือเก่ง แล้วกลับไปสู่พฤติกรรมแบบเดิมๆ หรือเลวกว่าเดิม เพราะมันยิ่งเสี่ยงไปมากกว่าเดิม
'ดังนั้นอาการหลงตัวเอง หรืออาการที่รู้สึกว่าเราควบคุมสถานการณ์ได้ทุกเรื่องตลอดเวลา เป็นอาการน่าเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพของประเทศ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มตั้งแต่ผู้มีหน้าที่บริหารประเทศจนถึงประชาชน จะต้องสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง? นายอานันท์ กล่าว
อดีตนายกรัฐมนตรี ยังบอกอีกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากสังคมและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นอย่ามัวแต่เสวยสุขกับตัวเลขอัตราการเติบโตหรือการส่งออก หรืออัตราสมาชิกสนามกอล์ฟ ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวเลขหลอกลวง ลืมปัญหาสังคมทั้งสิ้น
'แม้ว่าช่วงหลังจะมีการพัฒนาด้านสังคมมากขึ้น เช่นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ที่หันมาสร้างเครือข่ายสังคมเข้มแข็ง และมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาสังคมอย่างเท่าเทียม แต่หลายๆ อย่างก็ยังไม่บรรลุตามเป้า ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นขาเก่าขาใหม่ หรือหน้าเก่าหน้าใหม่ ทุกคนจะต้องมีสิทธิพูด มีสิทธิในการออกความคิดเห็น และมีหน้าที่ใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ส่วนรวม? นายอานันท์ กล่าว
ห่วงสังคมไทยไม่ละอายทุจริต
นอกจากนี้ นายอานันท์ ยังกล่าวถึงประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า ระดับศักยภาพของประเทศ ดูรวมๆ แล้วก็น่าจะสูงพอสมควร ในมิติรายได้อาจเข้าใกล้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่การพัฒนาที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องรายได้ เพราะต้องรวมถึงคุณลักษณะค่านิยม จิตใจ การปกป้องสิทธิเสรีภาพ ความมั่นคงและความเท่าเทียม
'ค่านิยมของคนไทยจะต้องปรับเปลี่ยน เพราะในประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนจะรับไม่ได้กับการคอร์รัปชัน การกินบ้านกินเมือง แต่สังคมไทยอะไรที่เป็นเรื่องส่วนรวม ถือว่าไม่ใช่หน้าที่ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วประชาชนเขามีมาตรการที่จะทำให้สิ่งน่ารังเกียจพวกนี้ลดน้อยลง
ในสังคมประเทศอื่น ถึงไม่มีใบเสร็จ หากเพียงสงสัยว่าทุจริตหรือมีการทำอะไรที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง เขาจะลาออกเลย เขามีความอับอายและพิจารณาตัวเอง น้ำตาไหลเลย แต่สังคมไทยไม่มีเรื่องเหล่านี้ ไม่มีความอายกันแล้ว? นายอานันท์ ระบุ
ลูกจ้างขยายตัว-ภาคเกษตรลดลง
ขณะที่ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง กล่าวในงานสัมมนาว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร ขณะนี้กลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอายุระหว่าง 15-30 ปี แต่ในอนาคตประชากรกลุ่มนี้จะมีอายุระหว่าง 30-49 ปี
?ผู้บริโภคของสังคมไทยจะเปลี่ยนไปจากเดิม จะเป็นผู้กำหนดลักษณะตลาดพอสมควร เหยื่อการบริโภคที่เป็นวัยรุ่นมานาน จะเปลี่ยนไปสู่วัยระดับกลางที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ศิลปวัฒนธรรมจะเปลี่ยนไป เช่น อุตสาหกรรมบันเทิง คนกลุ่มนี้จะมีวุฒิภาวะมากขึ้น เช่นหนังไทย เปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะตลาดไม่ใช่วัยรุ่น เสื้อผ้าและค่านิยมจะมีคุณภาพมากขึ้น?
ดร.นิธิ กล่าวต่อว่า คนไทยส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ในชนบท แต่ยากที่จะแบ่งแยกได้ แม้ปัจจุบันจะมีการแบ่งระหว่างเขตเทศบาลกับนอกเขตเทศบาล แต่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับหมู่บ้านมากขึ้น เช่น การมียานพาหนะในทุกภาค ทำให้คนเข้าไปทำมาหากินในเมืองมากขึ้น ขณะที่ภาคการเกษตรมีการใช้เครื่องจักรมากขึ้น การใช้สื่อและรับสื่อของคนเมืองกับชนบทจะเหมือนกัน ดังนั้นตลาดจะมีขนาดโตมากกว่าจำนวนคนชั้นกลาง
?ตลาดของคนชั้นกลางจะโตเร็ว และจำนวนคนในภาคเกษตรกรรมจะลดลง โดยขณะนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 ปีที่ผ่านมา ภาคเกษตรลดลงมากถึง 7% โดยภาคเกษตรจะหันไปสู่การเป็นลูกจ้างและเข้าสู่ภาคบริการ เพราะจากการตรวจสอบตัวเลขลูกจ้างในทุกส่วน พบว่าภาคบริการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และในอีก 20 ปีข้างหน้าจำนวนลูกจ้างจะมีจำนวนสูงมาก? ดร.นิธิ ระบุ &
เสนอรัฐเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน
นักวิชาการผู้นี้ ยังกล่าวอีกว่า คนอีกกลุ่มที่จะมีจำนวนมากขึ้น คือคนที่ช่วยธุรกิจครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งพบว่าคนกลุ่มนี้ในภาคใต้มีมากถึง 26.6% และในภาคอีสานมีมากถึง 47.5% แสดงว่าสถาบันครอบครัวยังมีความสำคัญอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม ในอีก 20 ปีข้างหน้า ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวจะลดลง จะเห็นได้จากแรงงานส่วนนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตามการพัฒนาประเทศ คนกลุ่มนี้จะส่งผลต่อสังคมค่อนข้างมาก
'คนกลุ่มนี้จะเข้ามาสู่ภาคเศรษฐกิจทางการมากขึ้น หรืออาจเป็นผู้ว่างงาน หรือกลายเป็นผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้น เราจึงควรจะมีการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้การศึกษา และต้องคิดถึงกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบมากขึ้น เพราะเขาจะหลุดออกจากสถานะเดิมในอีก 20 ปีข้างหน้า? ดร.นิธิ กล่าว
สถิติอาชญากรรมพุ่ง-จี้ปฏิรูปตำรวจ
เขายังเห็นว่า อีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะขณะนี้ชาวบ้านมีการปลูกบ้านที่มั่นคงถาวรมากขึ้น พบว่าทุกภาคมีสัดส่วนเท่ากัน คือ 90% และปลูกที่อยู่แบบไม่ถาวรน้อยลง ส่วนที่สาธารณะก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย นั่นหมายถึงว่าคนไทยจะเข้าสู่ปราการส่วนตัวมากขึ้น เพราะพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกันหายไป ผลสุดท้ายคือจะทำให้สังคมอ่อนแอ
สำหรับความสงบสุขของสังคมไทยนั้น ดร.นิธิ มองว่า ไม่น่าจะเกิดความสงบสุข เพราะจากสถิติในปี 2541 พบว่า ครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในเขตเทศบาลถูกลักทรัพย์ 23% ถูกทำร้าย 14% ส่วนนอกเขตเทศบาลมีสัดส่วน 8% ขณะที่ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายได้ไม่ถึง 10%
'ภายใน 20 ปีข้างหน้า สถิติไม่น่าจะลดลง ดังนั้นการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเรื่องใหญ่พอๆ กับเรื่องการศึกษา ไม่รู้ว่ารัฐบาลไหนจะกล้าทำหรือไม่? เขากล่าว
แนะสร้างศีลธรรมควบคุมปัจเจกชน
สำหรับปัญหาสังคมที่น่าเป็นห่วงนั้น ดร.นิธิ เห็นว่า คนไทยทำงานไม่มาก หากเทียบกับประเทศญี่ปุ่น โดยเหลือเวลาว่าง 3.8 ชั่วโมง โดยประมาณ 3 ชั่วโมงหายไปกับการใช้เวลากับสื่อ โดยเป็นสื่อทีวี 2.9 ชั่วโมง อีก 0.1 ชั่วโมงใช้เวลาไปกับสื่อที่สำคัญอื่นๆ เพราะฉะนั้นหากคิดจะปฏิรูปการศึกษาแล้วไม่คิดถึงสื่อ หรือเน้นทำมาหากินด้วยการนำสื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็อย่าหวังว่าจะสามารถปฏิรูปการศึกษาได้
?เราจะตายเหมือนฝรั่ง การตายแบบติดเชื้อจะลดลง แต่จะตายเหมือนฝรั่ง เพราะความเครียด ตายเพราะมะเร็ง?
ดร.นิธิ สรุปว่า ลักษณะของคนไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะอ่อนแอ คนไทยจะเข้าหาตัวเองมากขึ้น จะกลายเป็นปัจเจกชนมากขึ้น ที่น่าห่วงคือศีลธรรมจะเสื่อม เพราะจะเป็นศีลธรรมของปัจเจก แต่สังคมไทยไม่เคยมีศีลธรรมของปัจเจกชน มีแต่ของสังคม ซึ่งเรามีช่องโหว่อย่างยิ่ง ดังนั้นเราต้องพัฒนาศีลธรรมเพื่อควบคุมปัจเจก ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหา
28 พฤศจิกายน 2547