อภิสิทธิ์เซย์โน?โรงไฟฟ้านิวเคลียร์?พืชจีเอ็มภาคสนาม?รัฐปิดทางเลือกประชาชน

11 ตุลาคม 2550 16:02 น.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชัดเจนว่า ประชาชนตกอยู่ในฐานะถูกบังคับเลือกทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และจีเอ็มโอ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างทางสองแพร่งว่า "จะเอา -ไม่เอา" สำหรับสังคมไทย (ภาพจาก <a href="http://www.insc.gov.ua" title="www.insc.gov.ua">www.insc.gov.ua</a>)

พืชดัดแปลงพันธุกรรม อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีปัญหาการยอมรับจากสังคม

"อภิสิทธิ์" ชี้รัฐเสนอแต่ด้านดี เร่งตัดสินใจก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ทันปี 63 และยังผลักดันให้ทดสอบภาคสนามพืชจีเอ็มโอ แม้กฎหมายหลายฉบับยังไม่พร้อม แจงจะเป็นการบีบบังคับและปิดทางเลือกประชาชนให้ยอมรับทั้งที่ไม่ได้รู้เห็นและมีส่วนร่วม แนะรัฐเตรียมการและศึกษาได้ แต่ต้องดึงภาคประชาชนร่วมตัดสินใจ

ก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่วันที่ 23 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ได้รัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยเข้ามาบริหารบ้านเมือง ประเด็น ?การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี พ.ศ.2563? และ ?การผลักดันทดสอบภาคสนามพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ)? ดูจะเป็น 2 การบ้านสำคัญที่รัฐบาลปัจจุบันได้ฝากถึงผู้เข้ามาเป็นผู้บริหารชุดหน้าได้สานต่อ

อย่างไรก็ดี ก็มีเสียงคัดค้านจากพรรคการเมืองเก่าแก่อย่าง ?พรรคประชาธิปัตย์? ซึ่งประกาศนโยบายสวนทางและระบุว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลปัจจุบันเป็นการยัดเยียดภาระชิ้นสำคัญให้แก่รัฐบาลในอนาคต

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ล่าสุดถึงเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี พ.ศ.2563 ตามที่ระบุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ว่า การประกาศนโยบายดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์ ทางพรรคไม่ได้ขัดข้องกับการศึกษาเตรียมการการใช้ ?นิวเคลียร์? เป็นแหล่งพลังงานในอนาคตแต่อย่างใด แต่โดยส่วนตัวไม่คิดว่าการก่อสร้างดังกล่าวจะมีความจำเป็นจริงๆ ที่ประเทศไทยจะต้องเร่งตัดสินใจในขณะนี้

ที่สำคัญคือ ตัวเองไม่ต้องการสร้างทัศนคติที่ทำให้คนไทยหลงลืมและไม่สนใจทางเลือกอื่นๆ ไปหมด ซึ่งในอีก 13 ปีข้างหน้ายังอาจมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เช่น ตัวเทคโนโลยี และต้นทุนแหล่งพลังงานทางเลือกที่ลดลง นอกจากนั้นยังอาจมีการจัดทำระบบการดักหรือกักเก็บคาร์บอนเพื่อใช้กับเทคโนโลยีหรือเชื้อเพลิงบางตัวที่มีปัญหามลพิษได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้สมการด้านพลังงานของประเทศเปลี่ยนแปลงไปได้

ขณะที่ตัวเลขต่างๆ ที่ได้รับการกล่าวถึงในเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างก็ยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่พอสมควร อย่างที่มักได้ยินกันว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้พลังงานมีราคาถูกลงและมีมลพิษน้อย แต่เชื่อว่าเป็นการตัดตอนนำมาพูดเพียงขั้นตอนเดียว ยังไม่ได้พูดถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย เช่น ค่าการลงทุน และค่าการรื้อถอนหลังใช้งานแล้ว

นายอภิสิทธิ์ บอกด้วยว่า นอกจากนั้นยังไม่มีการพูดถึงผลกระทบเรื่องแร่ยูเรเนียมในฐานะแหล่งเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันอย่างจริงจัง ซึ่งมีข้อจำกัดที่ไทยไม่สามารถรีโพรเซสซิง (การนำกากเชื้อเพลิงยูเรเนียมไปผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่) ได้ เพราะมีความกลัวกันเรื่องการหลุดไปของวัสดุที่นำไปทำอาวุธ และข้ออ้างที่ว่า ?นิวเคลียร์? เป็นแหล่งพลังงานที่ปลอดมลพิษนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะแม้แต่การทำเหมืองแร่เพื่อให้ได้ธาตุกัมมันตรังสีก็ยังเป็นตัวทำให้เกิดมลพิษเสียเอง

"ที่พูดนี่ ไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธ แต่เพียงบอกว่าประเทศไทยควรเก็บไว้ทุกทางเลือก แต่อย่าเพิ่งทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีทางเลือก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว ขณะที่การแก้ปัญหาพลังงานเฉพาะหน้าที่มักมีปัญหามวลชนตามมาเสมอๆ นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า ปัญหามวลชนนี้จะเป็นสิ่งที่เกิดควบคู่กันไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่มีการทำแผนพลังงานที่พร้อมชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบว่าประเทศไทยมีตัวเลือกอะไรบ้าง

"ผมคิดว่ายิ่งเราไปทำแผน แล้วก็ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเราไม่มีทางเลือก มันก็จะเกิดการต่อต้านขึ้นมา อย่างที่ว่าเราจะเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปอยู่ที่ไหน เราจะเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินไปอยู่ที่ไหน เราจะใช้พลังงานทดแทนมากน้อยแค่ไหน เราถามทีละเรื่อง มันก็จะมีคนคัดค้าน แต่ถ้าเราพยายามทำแผนให้เห็นว่าทางเลือกมันมี 1 2 3 4 5 ประชาชนจะเอาอย่างไร อย่างนี้ก็จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและมีการยอมรับมากกว่า" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่ประเด็นเรื่องจีเอ็มโอ นายอภิสิทธิ์ แสดงความคิดเห็นว่า ไม่ขัดข้องเช่นกันหากมีการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุญาตให้ทดลองในลักษณะที่มีการควบคุมได้ และไม่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยได้ทำอะไรลงไปในลักษณะเสี่ยงต่อการกระจายหรือปนเปื้อนแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการตัดช่องทางตัวเองในฐานะประเทศที่วางตำแหน่งเป็นผู้ผลิตของอาหารของโลกที่ปลอดจีเอ็มโอ แต่หากยืนยันจะมีการทดสอบภาคสนามจริงก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงตามมา ซึ่งกฎหมายหลายฉบับยังต้องกลับไปทบทวนกันใหม่

?ประเด็นของผมคือต่อเรื่องทั้ง 2 นี้ (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์และจีเอ็มโอ) ยังไม่มีส่วนร่วมของประชาชนเพียงพอภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะไปผูกมัดหรือการไปปิดทางเลือกของประเทศยังไม่เหมาะสม กระบวนการที่ต้องทำคือการดึงประชาชนให้มามีส่วนร่วม ให้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงในทุกด้าน? หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทิ้งท้าย

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด