เร่งรัฐแก้ด่วนก่อนเกิดวิกฤติสังคมขัดแย้งรุนแรง
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การสัมมนาประจำปี 2547 ในหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า : 20 ปีเศรษฐกิจสังคมไทย" เพื่อรวบรวมปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นกับประเทศในอดีตจนถึงปัจจุบัน และการมองในอนาคตว่า แนวโน้มในอนาคตความหลากหลายของระบบเศรษฐกิจไทยจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับปานกลางได้ 5-7% ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วในเชิงรายได้ และยังมีความท้าทายและความเสี่ยงจากการพัฒนา อาทิ ความเสี่ยงที่มาจากต่างประเทศที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน การเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจของโลกทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี จะทำให้การแข่งขันทางการค้าจะรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ทีดีอาร์ไอเห็นว่าปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านกระจายรายได้ ซึ่งพบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนได้ขยายช่วงห่างมากขึ้นจนใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกา หากไม่ได้การแก้ไขจะสร้างความขัดแย้งทางสังคมให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายเอื้ออาทรไม่ใช่มาตรการที่ยั่งยืน และหากใช้นานจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการทางภาษีเพื่อแก้ไขในเชิงโครงสร้าง เช่น การแก้กฎหมายที่ต้องก่อให้เกิดความสอดคล้องทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 20-25 ปี มีจุดหักเหเกิดขึ้นเป็นระยะ ในอนาคตก็จะเกิดขึ้นเช่นกันอย่างน้อย 1-2 จุด ไม่ว่าจะมาจากเหตุผลใด ดังนั้นจึงต้องมีระบบป้องกันที่ดีและต้องเป็นระบบที่มีความสมดุลระหว่างข้อจำกัดทางการเมืองกับความเป็นอิสระของหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการของภาครัฐอื่น เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรมีระบบถ่วงดุลและออกมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วนได้เอง เพราะการเมืองเข้ามาใกล้จะมีข้อจำกัด ดังนั้นจึงควรเร่งคลอดกฎหมายธปท.โดยเร็
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า ปัญหาประเทศไทยในสังคมเศรษฐกิจโลกใน 20 ปีข้างหน้า รูปแบบความสัมพันธ์ต่างประเทศจะยุ่ง เพราะการเจรจาข้อตกลงมีความหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) อาเซียน หรือ เอปค และผลประโยชน์กระจุกตัว องค์กรในการเจรจาไม่พร้อม ขณะที่ระบบธุรกิจจะมีความยาก เพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ต้องปรับปรุงกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อผูกพันระหว่างประเทศ ส่วนการบริหารเศรษฐกิจจะลำบากและยิ่งยากกว่าหลายเท่า จากการปัญหาการก่อการร้าย และการขาดความถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง เพราะการเมืองไม่ช่วยแล้วยังซํ้าให้ช้ำกว่าที่ควรจะเป็น เช่น เรื่องของระบบการเงิน ที่มีการเปิดเสรีในขณะที่ไม่พร้อม เป็นต้น