อียู"วางมาตรการเข้มกีดกันสินค้าไทย"อาหารคน-สัตว์" เตรียมตรวจแหลก ห้ามปนเปื้อนจีเอ็มโอเกิน 0.9% หากพบสั่งทำลายสินค้าทันที ขณะที่ กม.ไทยกำหนดสูงถึง 5% "ไบโอเทค"ห่วงผู้ประกอบการสะเพร่าทำเสียชื่อประเทศ-กระทบส่งออก เผยไทยส่งเข้ายุโรปมากเป็นอันดับ 4
กรณีกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) ออกกฎข้อบังคับเรื่องอาหารคนและสัตว์ที่ได้จากการดัดแปรพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) ที่ส่งไปขายที่อียู ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ถ้ามีจีเอ็มโอเกิน 0.9% ต้องติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอ ถ้ามีจีเอ็มโอไม่เกิน 0.9% ผู้ส่งออกสินค้าต้องตรวจสอบส่วนประกอบของอาหารก่อนนั้น
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นางดรุณี เอ็ดเวิร์ดส รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) เปิดเผยว่า นับจากนี้เป็นต้นไป ทุกอย่างจะถูกกวดขันอย่างละเอียดมากขึ้น ที่น่าห่วงคือ ขณะนี้ผู้ประกอบการส่งออกอาหารของไทยยังไม่ทราบกฎข้อบังคับนี้อย่างทั่วถึง
"ปัญหานี้จะเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ส่งออกอาหารไทยไปอียู เพราะปัจจุบันเราส่งผลิตภัณฑ์อาหารทั้งของคนและสัตว์ไปยังอียูมากเป็นอันดับ 4 รองจากส่งไปยังสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอาเซียนและญี่ปุ่น ถ้าผู้ส่งออกไม่ตรวจสอบสินค้าให้ดี ปล่อยให้มีการส่งสินค้าที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอเข้าสู่อียู สินค้าก็จะถูกทำลาย จะสร้างความเสียหายต่อภาพพจน์และการส่งออกของไทย" นางดรุณีกล่าว
นางดรุณีกล่าวอีกว่า ข้อกำหนดของอียูจะสร้างปัญหาแก่ผู้ส่งออกสินค้าของไทย เพราะขณะที่กฎหมายประเทศไทย กำหนดให้มีการติดฉลาก เพื่อบอกให้ผู้บริโภคทราบว่า สินค้านั้นมีส่วนผสมของจีเอ็มโอตั้งแต่ 5% ขึ้นไป แต่อียูกำหนดแค่ 0.9% ก่อนหน้านี้เคยสอบถามทางอียูว่าทำไมถึงกำหนดแค่นี้ ทางอียูก็ไม่สามารถชี้แจงได้ ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าว จะทำให้ผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยต้องสุ่มตรวจสอบสินค้าจีเอ็มโอมากขึ้น แม้ตอนนี้ในเมืองไทยจะมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์(แล็บ)ตรวจสอบจีเอ็มโอได้หลายแห่ง แต่ค่าใช้จ่ายในการสุ่ม 1 ตัวอย่าง สูงถึง 2,000 บาท ถ้าต้องสุ่มหลายครั้งค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนสินค้าของประเทศไทยสูงขึ้นมากด้วย
"โอกาสเสี่ยงที่สินค้าอาหารไทยจะถูกตรวจสอบว่าปนเปื้อนจีเอ็มโอมีมาก เพราะไทยอนุญาตให้นำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดจีเอ็มโอ ซึ่งพืชทั้ง 2 ชนิด ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารทั้งของคนและสัตว์ โดยแต่ละปี ไทยต้องใช้ถั่วเหลืองถึง 1.6 ล้านตัน แต่ในประเทศผลิตได้แค่ 3 แสนตัน ต้องนำเข้าถึง 1.3 ล้านตัน ซึ่งถั่วเหลืองส่วนใหญ่ที่นำเข้าเป็นถั่วเหลืองจีเอ็มโอ เพราะราคาถูกกว่าถั่วเหลืองปกติมาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะห้ามนำเข้าถั่วเหลืองจีเอ็มโอ เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสูงขึ้น" นางดรุณีกล่าว
รองผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอ ซึ่งหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้เปิดการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นาได้ แต่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน ทำให้เรื่องจีเอ็มโอไม่มีความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร ทางนักวิจัยก็ทำอะไรไม่ถูก จะเดินหน้าเต็มที่ก็ไม่ได้ โดยตอนนี้พืชจีเอ็มโอที่กำลังทดลอง เช่น มะละกอ สับปะรด พริก ฯลฯ
เวลา 14.00 น.วันเดียวกัน ที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมตัวแทนชมรมผู้เลี้ยงกุ้งและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ประมาณ 100 คน ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาสิทธิ์พิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี.) ที่ถูกกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(อียู)กีดกันภาษี มี นายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย เป็นตัวแทนรัฐบาลมารับทราบปัญหา
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ที่เป็นปัญหามากที่สุดในขณะนี้เป็นเรื่องของตลาดในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรืออียู ที่กีดกันทางการค้าประเทศไทย โดยมีการเลือกปฏิบัติเฉพาะภาษี จีเอสพี.กับไทย ทำให้ไทยต้องแบกรับภาษีสูงกว่าประเทศอื่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภาษีกุ้งสดต้องจ่าย 12 เปอร์เซ็นต์ กุ้งแปรรูปจ่าย 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศอื่น อียูเรียกเก็บภาษีน้อยกว่ากุ้งจากประเทศไทยอย่างมาก
"หากเป็นกุ้งสดจ่ายภาษีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กุ้งแปรรูปเรียกเก็บ 7 เปอร์เซ็นต์ และที่ผ่านมาการส่งออกกุ้งไทยเคยตั้งเป้าการส่งออกเป็นมูลค่าเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันเหลือ 60,000-70,000 ล้านบาท สิ่งที่ต้องการในขณะนี้ขอให้มีการเจรจาเรียกร้องกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปให้ลดภาษีให้เท่าเทียมกับประเทศอื่น" นายเอกพจน์กล่าว
นายกันตธีร์กล่าวว่า ขณะนี้มีสัญญาณที่ดีจากทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มจะปรับลดภาษี จีเอสพี.ลงมาให้เท่าเทียมกับประเทศคู่แข่ง โดยมีความเป็นไปได้ถึง 93% และคาดว่าคงจะเริ่มได้ประมาณวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 แต่มีข้อยกเว้นต้องมีสัดส่วนในการขยายตลาดไม่เกิน 15%
ข่าวแจ้งว่า ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้ทั้งหมด ได้ร่วมกันนำสินค้าที่ผลิตจากประเทศสหภาพยุโรป มีเครื่องบินแอร์บัสจำลอง โดยใช้น้ำมันเบนซินราดเผา และนำไวน์มาเททิ้งเป็นการประท้วง