คนงาน 30 ล้านเสี่ยงตกงานหลังยกเลิกโควตาสิ่งทอ

มิยาซากิ - สหภาพแรงงานทั่วโลกร่วมถกรับมือ ผลกระทบมาตรการยกเลิกระบบโควตาสิ่งทอ เตือนคนงาน 30 ล้านคนเสี่ยงตกงาน โดยเฉพาะผู้หญิงอาจต้องยึดอาชีพโสเภณีหาเลี้ยงชีพ
เมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.) สมัชชาสมาพันธ์สหภาพแรงงานเสรีระหว่างประเทศ (ไอซีเอฟทียู) ได้จัดการประชุมครั้งที่ 18 ที่เมืองมิยาซากิของญี่ปุ่น โดยผู้แทนจากสหภาพแรงงานจาก 140 ประเทศทั่วโลก ได้หยิบยกประเด็นผลกระทบจากการยกเลิกระบบโควตาสิ่งทอเข้าหารือ พร้อมเตือนว่า อาจทำให้คนงานทั่วโลกประมาณ 30 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เสี่ยงต่อการตกงาน
ระบบโควตาสิ่งทอซึ่งใช้มานาน 40 ปี จะถูกเลิกใช้ในวันที่ 31 ธ.ค.ปีนี้ ตามแรงผลักดันขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่ต้องการให้เปิดเสรีตลาดสิ่งทอโลก อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดว่าจีนซึ่งมีมาตรฐานแรงงานต่ำ และมีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดตลาดครั้งนี้ ขณะชาติกำลังพัฒนาอื่นๆ จะได้รับความเสียหาย
กาย ไรเดอร์ เลขาธิการใหญ่ไอซีเอฟทียูเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ รวมถึงสหภาพแรงงานและภาคธุรกิจทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การยกเลิกระบบโควตาสิ่งทอจะไม่ส่งผลรุนแรงต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
นีล เคียร์นีย์ เลขาธิการสมาพันธ์คนงานสิ่งทอและเครื่องหนังสากล กล่าวว่า จะมีคนงาน 30 ล้านคนเสี่ยงตกงานใน 5 ปี โดยการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยที่จีนเป็นฝ่ายได้ประโยชน์
"จะไม่เกิดแผ่นดินไหวในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า ซึ่งเป็นวันเริ่มเปิดเสรีตลาดสิ่งทอ แต่จากนั้นในปีเดียวกันจะเริ่มรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ส่วนปัญหาที่แท้จริงจะปรากฏตั้งแต่กลางปี 2549-50" นายเคียร์นีย์ กล่าว
ด้านรอย ราเมศ จันทรา ประธานสมาพันธ์คนงานสิ่งทอแห่งบังกลาเทศ กล่าวว่า ผู้หญิงหนึ่งล้านคนจะตกงาน หลายคนอาจต้องไปทำงานเป็นโสเภณีเพื่อหาเลี้ยงชีพ พร้อมเรียกร้องให้ชาติต่างๆ หามาตรการรองรับ
ผลวิจัยล่าสุดพบว่า คนงานสิ่งทออินโดนีเซียอาจเสียงาน 1 ล้านตำแหน่ง ศรีลังกา 350,000 ตำแหน่ง ขณะจีนจะได้ส่วนแบ่งตลาดนำเข้าสิ่งทอสหรัฐเพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบัน 16% โดยจีนไม่ได้เป็นสมาชิกของไอซีเอฟทียู และมีคนงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานจำนวนมาก
ไอซีเอฟทียู ระบุว่า ค่าแรงในจีนมีมูลค่าเพียงครึ่งหนึ่งของค่าแรงในอินโดนีเซีย หรือราว 25% ของค่าแรงในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ขณะหากเทียบกับไต้หวันจะเหลือเพียง 5%
นายแฮร์รี สันราเซเคอร์ รองประธานกรรมการบริหารสหภาพแรงงานเคย์ลอนแห่งศรีลังกา เผยว่า ขณะที่ชาติร่ำรวยนำโดยสหรัฐ พยายามกดดันให้ชาติยากจนปรับใช้มาตรฐานแรงงานแบบประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ชาติร่ำรวยดังกล่าวก็เปิดประตูรับจีน และทำลายประเทศอื่น
"มันเป็นการกระทำแบบมือถือสากปากถือศีลระดับโลก จีนเป็นผู้มีชัยในโลกาภิวัตน์ที่พวกเราทั้งหมดกำหนดขึ้นมา" นายสันราเซเคอร์ กล่าว
ด้านนายเดอโมคริโต โตโล เมนโดซา ผู้แทนจากสหภาพแรงงานฟิลิปปินส์ เรียกร้องให้มีการเชื่อมโยงการค้าเข้ากับมาตรฐานด้านแรงงาน เพื่อไม่ให้การละเลยต่อสิทธิของแรงงาน เป็นหนึ่งในปัจจัยของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเหนือคู่แข่ง

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด