
มติชน 26 พ.ค. 51 - นักเศรษฐศาสตร์มะกันโต้แย้งทฤษฎีเดิม
นักเศรษฐศาสตร์มะกันโชว์ผลวิจัยใหม่หักล้างทฤษฎีของ"อีสเตอร์ลิน" อ้างเงินซื้อความสุขได้ ยิ่งรวยยิ่งแฮปปี้ แต่เจ้าของทฤษฎีเดิมยืนยันความรวยไม่ช่วยให้สุขเพิ่ม ด้านนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษออกโรงหนุน"อีสเตอร์ลิน"
เอเอฟพีรายงานว่า นางเบ็ตซี่ สตีเวนสัน และนายจัสติน วูล์ฟเฟอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของวาร์ตัน สคูล ออฟ บิสซิเนส แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการวิจัยล่าสุด โต้แย้งผลการวิจัยของนายริชาร์ด อีสเตอร์ลิน นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์น แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้พัฒนาทฤษฎี "เงินซื้อความสุขไม่ได้" มาตั้งแต่ ค.ศ.1974 ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของวาร์ตัน อ้างว่าประเทศที่ร่ำรวยที่สุดหรือมีรายได้ต่อหัวสูงมักจะมีความสุขอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ประเทศยากจนจะมีความสุขน้อยที่สุด ดังนั้น ความเป็นอยู่ที่ดีจึงมีความสัมพันธ์อย่างสูงกับรายได้ ยิ่งมีรายได้มากยิ่งมีความสุขและความพอใจมาก
นักเศรษฐศาสตร์ของวาร์ตันชี้ว่าผลการวิจัยนี้บ่งบอกให้ทราบว่ารัฐบาลต่างๆ จะต้องวางนโยบายเพื่อให้มีการกระจายรายได้ดีกว่าเดิม เพื่อให้คนจนมีความสุขมากขึ้น โดยกระจายความรวยจากคนรวยไปยังคนจนก็จะทำให้คนในประเทศนั้นๆ โดยรวมมีความสุขมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายอีสเตอร์ลินยังคงยืนยันผลการวิจัยของตน เพราะได้ทำการปรับปรุงข้อมูลมาตลอดนับจากทศวรรษ 1970 โดยล่าสุดข้อมูลในปี ค.ศ.2004 ผลการสำรวจก็ยังสนับสนุนผลการวิจัยของตนนั่นก็คือว่าการมีเงินมากขึ้นไม่ได้ทำให้คนมีความสุขมากขึ้น แต่คนจะมีความสุขมากขึ้นก็ด้วยการใช้เวลาหาเงินน้อยลง และแสวงหาเป้าหมายที่ไม่ใช่เงิน เช่นชีวิตครอบครัวและสุขภาพ
"เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องแยกความผันผวนระยะสั้นและระยะยาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของรายได้หรือจีดีพีกับความสุข ซึ่งผลการวิจัยของวาร์ตันดูเหมือนว่าจะอยู่บนพื้นฐานของความเกี่ยวพันระยะสั้นของจีดีพีและความสุข ดังนั้น ผลการวิจัยนี้จึงไม่ได้ขัดแย้งกับผลการค้นพบของผมที่พิจารณาความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างความสุขและรายได้" นายอีสเตอร์ลินกล่าว
ด้านนายแอนดรูว์ ออสวอลด์ นักเศรษฐศาสตร์ความสุข แห่งมหาวิทยาลัยวอร์วิค ของอังกฤษ ซึ่งได้ศึกษาเรื่องความสุขและเงินมาเป็นเวลา 15 ปี กล่าวว่า แม้ผลการวิจัยของวาร์ตันจะน่าสนใจ แต่ตนก็เห็นว่าผลการวิจัยของอีสเตอร์ลินมีความถูกต้อง 80-90% เพราะมีหลักฐานอย่างแน่นหนาว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นเลยนับจากทศวรรษ 1970
"การเติบโตทางเศรษฐกิจ (เงิน) สามารถซื้อความสุขได้น้อยมากในประเทศซึ่งรวยอยู่แล้ว แต่ในประเทศกำลังพัฒนานั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้คนมีความสุขขึ้น" นายออสวอลด์กล่าว
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ทฤษฎีเงินซื้อความสุขไม่ได้ เป็นผลการสำรวจและวิจัยของนายอีสเตอร์ลินที่เน้นการสำรวจในญี่ปุ่น ซึ่งพบว่าความสุขของคนญี่ปุ่นไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มน้อยมาก แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศนี้จะเติบโตอย่างมหัศจรรย์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง