ลดโลกร้อน-สร้างอาชีพมั่นคง
แนวหน้า 30 พ.ค. 51 - นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์ ให้ประเทศต่างๆนำไปปลูกป่าเพิ่มขึ้น ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงควรเสนอโครงการปลูกสวนยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 1 ล้านไร่ต่อยูเอ็นเอฟซีซี ภายใต้กติการอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพื่อยืนยันว่าไทยจะเข้าโครงการกลไกการพัฒนาสะอาด (ซีดีเอ็ม) ด้านป่าไม้และขายคาร์บอนเครดิตจากป่าเศรษฐกิจของสวนยางพาราที่จะปลูกขึ้นใหม่
"สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคายางสังเคราะห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อุตสาหกรรมยางจึงเปลี่ยนมาใช้ยางธรรมชาติในสายการผลิตแทน ส่งผลให้ราคายางแผ่นสูงเพิ่มขึ้น สมาชิกผู้ปลูกยางในภาคอีสานจำนวนมากจึงเรียกร้องผ่านสภากายางฯให้รัฐบาลสนับสนุนการปลูกสวนยางพาราเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามทางสภาการยางฯเข้าใจถึงข้อจำกัดของงบประมาณที่ภาครัฐซึ่งต้องใช้แก้ไขปัญหาในหลายๆ เรื่อง ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เร่งนำโครงการปลูกสวนยางพารา 1 ล้านไร่เสนอให้ยูเอ็นเอฟซีซีพิจารณา ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสด้านอาชีพ และรักษาตำแหน่งผู้ผลิตยางธรรมชาติอันดับหนึ่งของไทยแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นโดยภาครัฐไม่ต้องเสียงบในการลงทุนอีกด้วย" นายอุทัย กล่าว
ทั้งนี้ผลการวิจัยทางวิชาการระบุว่า ต้นยางพาราอายุ 25 ปี สามารถเก็บสารคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 22 เมตริกตันต่อไร่ ให้มวลชีวภาพได้ 49 เมตริกตันต่อไร่ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศประมาณ 14 ล้านไร่ คาดว่า สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่า 16 ล้านเมตริกตันต่อปี