
ประชาชาติธุรกิจ 29 พ.ค. 51
"บรรยิน" เซ็งผลงานวืดเป้า ชี้เสนอ ครม.ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ให้นายกฯเป็นประธานหวังแก้ปัญหาทั้งระบบ แต่ถูก "มิ่งขวัญ" ดองเรื่องไว้ 3 เดือนแล้ว มั่นใจหากมีอำนาจเต็มที่ตามกฎหมาย ลุยปราบพวกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้เรียบแน่
พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีที่สหรัฐพิจารณาคงสถานะให้ไทยอยู่ในบัญชี ประเทศผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถานะเดิมเหมือนปี 2550 ไม่ได้กระทบต่อการค้าไทยมากไปกว่าเดิม แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องดูว่าเราจะแก้ไขอย่างไร และหากแก้จริงๆ จะต้องไม่มีสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาวางขาย แต่ตอนนี้เราต้องยอมรับว่าการปราบปรามยังไม่ได้ผล
แนวคิดของตนมองว่า หากจะให้การปราบปรามได้ผลเต็มที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการระดับประเทศ มีตัวแทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตำรวจ กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาทำหน้าที่ร่วมกัน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งเรามีเป้าหมายว่าจะต้องปราบปรามการละเมิดคดีใหญ่ๆ ซึ่งเป็น ข้อกล่าวหาของสหรัฐให้ได้ ส่วนคดีเล็กๆ ให้ตำรวจในพื้นที่ดำเนินการ
ส่วนคณะกรรมการชุดนี้ต้องไปตรวจสอบการทำงานโดยปกติ เพราะสามารถลงลึกได้ทุกพื้นที่ หากพบว่าตำรวจในพื้นที่ใดปล่อยปละละเลยให้มีการละเมิดมาก ตำรวจพื้นที่นั้นต้องรับผิดชอบ จะได้เห็นผลการปราบปราม รับรองไม่มีแน่เพราะเขาต้องถูกตั้งกรรมการ ต้องถูกสอบ โดยเฉพาะกรมศุลกากรจะช่วยดูกรณีที่ขนส่งเข้ามาทางตู้คอนเทนเนอร์ จริงๆ เรามีข้อมูลแต่ไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
"หากตั้งเป็นคณะกรรมการระดับประเทศ เท่ากับว่าเรื่องนี้นโยบายสำคัญของประเทศเพื่อให้ต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐได้เห็นความจริงใจว่าไทยต้องการกำจัดการละเมิดให้หมดไป แต่ปรากฏว่าเรื่องดังกล่าวผมเสนอผ่านนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรทำไมจึงยังไม่มีการตอบรับ ผมจึงต้องรอคำสั่งว่าเมื่อไรจะออก ผมดูแล้วไม่ได้ ขัดข้อกฎหมายอะไร เคยมีการทำมาแล้ว แต่พอไม่เน้นก็หายไป จึงเชื่อว่าหากคำสั่ง นี้ออกมาแล้วจะทำให้ไทยได้รับการพิจารณาให้มีสถานะดีขึ้นกว่าเดิม" พ.ต.ท.บรรยินกล่าว
อีกประเด็นคือ "ของกลาง" หากมีการจับแล้วเอาของกลางมาอยู่ที่เดียวกัน เหมือนยาบ้าซึ่งเก็บของกลางไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตำรวจไม่มีหน้าที่ในการเก็บของกลาง หากมีโอกาสอยากให้ปรับปรุงเรื่องกฎหมาย เรื่องการเก็บรักษาและทำลายของกลาง เพราะเห็นว่าอาจจะใช้คลังสินค้าขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปฝากเก็บของกลาง ซึ่งจะเป็นเรื่องการควบคุมที่ชัดเจน หากไม่ดีของกลางจะถูกนำไปยักยอกกลับมาเหมือนเดิม ส่วนเรื่องอำนาจจับกุมเป็นของตำรวจอยู่แล้ว