อย่าลืมปัญหาสังคม

บทบรรณาธิการ
ข่าวสด 18 มิ.ย. 51

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงผลการรวบรวมข้อมูลด้านสังคมไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ว่า

จำนวนผู้มีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น อัตราว่างงานทรงตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.6 เนื่องจากมีการปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น

แต่พบว่าคุณภาพการศึกษายังไม่น่าพอใจ เนื่องจากผลการทดสอบ O-NET ระดับ ป.6 และ ม.6 คะแนนเฉลี่ยส่วนใหญ่ต่ำกว่าเกณฑ์

ขณะที่ในด้านสุขภาพของประชาชน พบว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง 11 โรค ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโรคไม่ติดต่อที่พบมากได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ และมะเร็ง โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า คนไทยมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง เนื่องจากปัญหายาเสพติดทวีความรุนแรงขึ้น โดยคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49.4 เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และยาเสพติดเพิ่มขึ้น

คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เริ่มมีรูปแบบการโจรกรรมหรือลักทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติและวัตถุโบราณ

ส่วนความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุทางบกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53.8 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคยาสูบและแอลกอฮอล์ครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้น โดยเกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีพฤติกรรมสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้สูงอายุ

ซึ่งสอดคล้องกับแบบแผนการเกิดโรคเรื้อรัง อาทิ มะเร็งปอดและมะเร็งตับ

และปัญหามลภาวะของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น

โดยข้อเท็จจริงก็คือ ความเป็นไปทางเศรษฐกิจและสังคมต่างเป็นเหตุและปัจจัยของกันและกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดได้

ฉะนั้น ในขณะที่รัฐบาลประกาศจะทุ่มเททรัพยากร เวลา และบุคลากรลงไปเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก ก็จะต้องไม่ลืมว่ายังมีปัญหาสังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมรอการเอาใจใส่

เพราะประสบการณ์ในอดีตชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลส่วนใหญ่มักจะโน้มเอียงในการให้ความสนใจกับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่สามารถสร้างผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรมในระยะสั้น มากกว่าการทุ่มเทแก้ไขปัญหาสังคมซึ่งกว่าจะเห็นผลก็ในระยะยาว

ทั้งที่เป็นปัญหาซึ่งต้องการความเอาใจใส่ไม่น้อยไปกว่ากัน

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด