กรณีความขัดแย้งระหว่างนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพากับนายภาวิช ทองโรจน์ เกี่ยวกับกรณีนิสิตเคลื่อนไหวให้มีการถอน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพาออกมาประชาพิจารณ์ให้รอบคอบ เพราะเกรงว่าเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วจะทำให้ค่าหน่วยกิต ค่าเล่าเรียนแพงขึ้น จนนำไปสู่การให้ขอโทษ ฟ้องหมิ่นประมาท การแสดงพลัง และอื่นๆ ข้อเท็จจริงในขณะนี้มีประเด็นใหม่ๆ ทางอุดมศึกษาเกิดขึ้นหลายอย่าง เป็นสังคมบริบท เป็นตัวตนอุดมศึกษาที่จะปฏิรูป เปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยครั้งใหญ่ทีเดียว ในเบื้องต้นการศึกษาระดับนี้ถูกมองใน 4 มิติ คือ เป็นสินค้า(Goods) ผลิตภัณฑ์(Products) การบริการ(Services) และลูกค้า(Customers) ทั้ง 4 มิติ คือ จิกซอว์ที่ประกอบกันขึ้นจากเรื่องดังต่อไปนี้ คือ
1.การนำมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการ แนวคิดดั้งเดิมการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบคือ การเปลี่ยนจากวัฒนธรรมเดิมที่เน้นการเรียนการสอน การผลิตบัณฑิตสาขาต่างๆ มาเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย การสร้างองค์ความรู้ใหม่ และการชี้นำสังคม การตีความหมาย Autonomous University ถูกเบี่ยงเบนไปสู่การบริหารจัดการแบบบุคคลมากเกินไป คณาจารย์จะถูกลิดรอนเรื่องอิสระและเสรีภาพค่อนข้างมาก แต่จะต้องทำงานหนักขึ้นตามนโยบายและทิศทางของนักการเมืองและฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยซึ่งจะมีอำนาจอย่างมากมาย อย่างไรก็ตาม ในจุดอ่อนของระบบราชการที่ล่าช้าจะมีประสิทธิภาพตามกลไกการประเมินผลในรูปของพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีสัญญาว่าจ้างชัดเจนเป็นปีๆ ไป มหาวิทยาลัยออกนอกระบบในปัจจุบันจึงมุ่งแก้ไขระบบบริหารบุคคลเป็นสำคัญมากกว่าเนื้อแท้ของ Autonomous University และมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่วิจัยเสียมากกว่า
2.การบริหารจัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(Income Contingent Loan) หรือ ICL ที่มีแนวคิดการปฏิรูประบบการเงินอุดมศึกษาแบบใหม่ ที่มีต้นแบบมาจากประเทศออสเตรเลีย อเมริกา นิวซีแลนด์ โดยการให้ผู้เรียนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย การลงทุนทางการศึกษาตามความเป็นจริง ดังนโยบาย "เรียนก่อน ผ่อนทีหลัง" ดังเช่น การรับภาระค่าใช้จ่ายผู้เรียน : รัฐบาลอยู่ที่ 25:75 เมื่อใช้ระบบ ICL แล้วสัดส่วนจะเปลี่ยนเป็นผู้เรียนลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 50% แต่รัฐจะออกให้ในสภาพหนี้ในอนาคตที่ผู้เรียนจบแล้ว มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดจึงทยอยจ่ายหนี้คืน เงินลงทุนที่รัฐให้จะมาอยู่ที่ Demand Side ไม่ใช่ Supply Side ที่ผ่านสถาบันมาแต่เดิม ถามว่า เรียนแบบนี้ค่าหน่วยกิตค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตอบแบบฟันธง คือ เพิ่มขึ้นแน่นอนในรูปหนี้ที่ทุกคนต้องมีในอนาคต เงินที่รัฐจะลงทุนในหลักการคือเพิ่มคุณภาพ แข่งขันกันในการว่าจ้างอาจารย์ดี มีคุณวุฒิ เพิ่มเครื่องมือที่ทันสมัย และอื่นๆ ประเด็นสำคัญชาวอุดมศึกษาไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะค่อยๆ ลดเงินงบประมาณให้น้อยลงตามลำดับแต่จะให้แต่ละมหาวิทยาลัยพึ่งตนเอง ซึ่งในที่สุดรายได้หลักของมหาวิทยาลัยย่อมมาจากการเพิ่มค่าหน่วยกิต ค่าเล่าเรียนที่ต้องแข่งขันกันขึ้นและต้องมีการควบคุมในที่สุด
3.การเปิดเสรีอุดมศึกษา(FTA) ในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย จีน อินเดีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ การเปิดเสรีจากภายนอกจะยิ่งทำให้ตลาดอุดมศึกษาแข่งขันกันรุนแรงในเชิงตลาด หลักสูตรเป็นที่นิยมนานาชาติ E-Learning การเป็นสาขาเฉพาะด้าน และอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการเปิดเสรีภายในประเทศที่ดำเนินการมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว "ใครใคร่เปิด เปิดได้อย่างเสรี" เฉลี่ยแล้วในแต่ละจังหวัดมี 4 สถาบันที่ไปตั้งสาขาอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนกลางเปิดวิทยาเขต 23 แห่ง มหาวิทยาลัยภูมิภาคมาเปิดในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกันมหาวิทยาลัยกรุงเทพไปเปิดต่างจังหวัด เกิดการแย่งลูกค้าคือผู้เรียนอุตลุดขายสินค้าหลักสูตรและรายวิชาการแบบดั้งเดิม(Classic) ปริญญาบัตรถูกมองเป็นปัจจัยซื้อขายง่าย มีเงินก็มีได้ อย่างไรก็ตาม บัณฑิตจำนวนมากในระบบนี้ไม่ค่อยมีคุณภาพ ตกงาน และล้นตลาดจนมีสภาพน่าเป็นห่วงยิ่ง
4.ระบบ Admissions ใหม่ การรับสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแทนระบบเอ็นทรานซ์เดิมในปี พ.ศ.2549 ยังไม่ลงตัวและแน่นอน แต่ทำให้ทุกมหาวิทยาลัยเปิดรับตรงกันโดยมิได้นัดหมายในปีนี้เป็นจ้าละหวั่น หลายสถาบันรับเพิ่มขึ้นถึง 50-100% เพราะเกี่ยวข้องกับจำนวนและปริมาณนิสิตนักศึกษาที่มีเงินค่าใช้จ่ายรายหัวติดตัวมาด้วย การรับมากจึงได้ยอดเงินเพิ่มขึ้นในขณะที่การหาเสียงทางการเมืองก็ได้บีบบังคับให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจำนวนมากรับนักศึกษาไม่อั้นเพื่อให้เด็กมีที่เรียนด้วยสัญญาต่างๆ ที่จะให้ทั้งเงินงบประมาณและอัตรากำลังแต่กลับไม่สมหวัง ผลสุดท้ายมาตกหนักที่มหาวิทยาลัยเอกชนที่จำนวนไม่น้อยต้องรับนักศึกษาหลายรอบและไม่ครบจำนวนได้เพียง 30-50% ในปีที่ผ่านมา ความเดือนร้อนจึงมาอยู่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนจำนวนมากวิ่งรอกสมัครสอบกันหลายแห่ง หลายสถาบัน บางครอบครัวต้องใช้เงินเพื่อการนี้เป็นหมื่นบาทขึ้นไปทีเดียว
ในเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ปฏิรูปการกู้ยืมเรียนในอนาคต การเปิดเสรีแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศ การรับจำนวนนิสิตนักศึกษาแบบใหม่ เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วจะพบว่าอุดมศึกษาของไทยขณะนี้เปลี่ยนไปเป็นอันมาก และกำลังอยู่ภายใต้กรอบวิธีการคิดแบบ ธุรกิจอุดมศึกษาเสรี เป็นทุนนิยมค่อนข้างสุดขั้วจนเตลิด แต่กลับไม่มองปรัชญาอุดมศึกษาแบบไทย สังคมบริบทที่การศึกษาต้องช่วยเหลือคนยากจนระดับล่าง การบริหารจัดการแบบองค์รวม เน้นการมีส่วนร่วม วิจัยศึกษาสร้างองค์ความรู้ใหม่ การเป็นองค์กรทางสังคมที่ชี้นำสร้างความสมดุล ถูกต้องแก่ทุกฝ่ายได้ ในทุกมิติล้วนยังไม่ลงตัว ชาวมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรู้เท่าทัน ใช้ปัญญาและเหตุผลเพื่อเตรียมการณ์รับมือกับสิ่งที่เราแทบปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะมิฉะนั้นกลไกตลาดจะตัดสินและครอบงำอุดมศึกษาแบบเบ็ดเสร็จทีเดียว
สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน .. คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย