จะนะหวิดป่วนอีกชาวบ้านโวย! กฟผ.ยันโรงไฟฟ้าไม่ใช่ต้นเหตุปลาลอยตาย

ประชาไท 9 ก.ค. 51 - เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.วันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ที่ร้านอาหารริมน้ำ บ้านท่าวัด ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีตัวแทนชาวบ้านท่าวัด ประมาณ 15 คน ได้เข้าพบนายธวัช วัจนพรสิทธ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารสายงานพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มารวมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ?เครือข่ายติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำคลองนาทับ? เพื่อร้องเรียนว่า หลังจากที่การสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ ทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้กระชังในคลองนาทับลอยตายจำนวนมาก

โดยกลุ่มชาวบ้านเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าจะนะลงคลองนาทับ ทั้งที่ก่อนที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าจะนะชาวบ้านระบุว่าสภาพน้ำในคลองนาทับยังดีอยู่ และยังไม่มีใครเข้ามาดูแลรับผิดชอบ

ตัวแทนชาวบ้านคนหนึ่ง แจ้งต่อนายธวัชว่า พวกตนประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังมา 8 ปีไม่เคยประสบปัญหาเหล่านี้ แต่หลังจากที่ทางโรงไฟฟ้าจะนะเข้ามาทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการตั้งหน่วยงานเพื่อเข้ามาตรวจสภาพน้ำ แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่าสภาพน้ำดีมาตลอด แต่ปลาในกระชังตายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านขาดทุนจากการเลี้ยงปลาเป็นจำนวนมาก

เขาระบุอีกว่า ข้อมูลต่างๆ ที่ทางโรงไฟฟ้าจะนะชี้แจงนั้น ประชาชนไม่เคยได้รับทราบเลยซึ่งชาวบ้านได้นำซากปลาที่ตายมาเป็นหลักฐานในการร้องเรียนครั้งนี้ด้วย เมื่อมีการร้องเรียนไปยังประมงจังหวัดสงขลาให้เข้ามาตรวจสอบ ทางประมงจังหวัดสงขลาก็ไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้ปลาตายได้ และชาวบ้านขอให้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบสภาพน้ำ เนื่องจากผลการตรวจสอบที่ออกมานั้นเป็นผลดีตลอด แต่กลับทำให้ปลาตายได้

นอกจากนี้ชาวบ้านดังกล่าว ยังเรียกร้องให้ทางโรงไฟฟ้าจะนะ ตั้งหน่วยงานใหม่เข้ามาตรวจสอบคุณภาพน้ำและได้สอบถามถึงกองทุนเงิน 20 ล้านที่ทาง กฟผ.จัดตั้งขึ้นให้กับชาวบ้านคลองนาทับ ว่าทำอย่างไรชาวบ้านจึงจะนำมาใช้ประโยชน์ได้

หลังร้องเรียน นายศราวุธ เจะโส๊ะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะหนึ่งในคณะผู้ตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองนาทับ ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทำให้ปลาตายนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากน้ำเสียเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดจากการช็อคของปลา ที่เกิดจากระดับน้ำลดลงอย่างกะทันหัน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ปลาตายได้เช่นกัน และสาเหตุที่ปลาตายนั้นก็ยังไม่ชัดเจนว่า มากจากการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าจะนะ

ส่วนนายธวัธ ชี้แจงว่า ในเรื่องของการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าลงคลองนั้น ก่อนปล่อยน้ำได้ให้ทีมงานจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนและให้ดูแลเรื่องพันธุ์สัตว์น้ำด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี และมั่นใจว่าทางโรงไฟฟ้าจะนะไม่ได้ปล่อยน้ำเสียลงคลอง

นายธวัช ชี้แจงอีกว่า ส่วนเรื่องที่จะให้เปลี่ยนหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำนั้น คงเป็นไปไม่ได้ แต่ให้ชาวบ้านเสนอชื่อผู้ที่ชาวบ้านมั่นใจว่า สามารถเข้ามาแก้ไขส่วนนี้ได้ เพื่อจะให้เข้ามาทำงานร่วมกับหน่วยงานเดิมที่มีอยู่แล้ว และเรื่องเงิน 20 ล้านนั้นคงต้องคุยกับทางคณะกรรมการมูลนิธิประมงคลองนาทับก่อนว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง

ด้านนายเรวัตร สุวรรณกิติ ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม กฟผ.ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า ปัญหานี้ทาง กฟผ.ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ การที่ กฟผ.เข้ามาที่นี่ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาได้เช่นกัน จึงพยายามที่จะจัดตั้งมูลนิธิประมงคลองนาทับเพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนให้บรรเทาลง แล้วก็ไปหาว่าใครเป็นคนทำให้เดือนร้อน เรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนนี้จะส่งเข้ามูลนิธิประมงคลองนาทับ ซึ่งมีกรรมการจากทั้งส่วนราชการและตัวแทนประชาชนมาร่วมพิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไร

?เรื่องปลาตายทราบมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนตั้งโรงไฟฟ้าจะนะ จึงพยายามหาทางแก้ไข ซึ่ง กฟผ.ต้องมีส่วนในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนเรื่องการตรวจสอบคุณภาพน้ำนั้น ให้ชาวบ้านคัดเลือกบุคคลที่ทางชาวบ้านมั่นใจและมาร่วมทำงานกับทางคณะของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี? นายเรวัตร กล่าว

หลังจากได้รับการชี้แจงแล้ว ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว ได้สลายตัวกลับโดยไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ สำหรับบรรยากาศในระหว่างการร้องเรียนนั้นมีการถกเถียงกันพอประมาณ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด