ไบโอเทค-ญี่ปุ่นจดสิทธิบัตร 6 สมุนไพรไทยหน้าเด้ง-ชะลอแก่

มติชน 8 ก.ค. 51 - ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) แถลงเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ว่าได้ยื่นจดสิทธิบัตรร่วมในโครงการศึกษาและประเมินฤทธิ์ของสารสกัดจากพืชเพื่อเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางระหว่างไบโอเทคกับประเทศญี่ปุ่น โดยนำสารสกัดจากพืชสมุนไพร 6 ชนิด ที่มีฤทธิ์จากการทดสอบในหลอดทดลอง ประกอบด้วย ตะไคร้ต้นหรือข่าต้น มีฤทธิ์ให้ความขาว ชะลอวัยและช่วยให้ผิวเรียบเนียน ชำมะเลียง มีฤทธิ์ชะลอวัยและสลายไขมัน กันเกรา มีฤทธิ์ชะลอวัยและช่วยให้ผิวเรียบเนียน ประดู่บ้าน มีฤทธิ์ชะลอวัย กระชายป่า มีฤทธิ์ให้ความขาวและชะลอวัย และกฤษณา มีฤทธิ์ให้ความขาวและชะลอวัย มาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ซึ่งนักวิจัยที่ทำการทดลองได้ปฏิบัติตามปฎิญญาสากลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 อย่างเคร่งครัด
ดร.กัญญวิมว์แถลงว่า ได้จัดทำรายชื่อพืช ข้อมูลการจัดหารวบรวมและแผนการวิจัยยื่นส่งต่อคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรและได้รับแบบตอบรับอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะกฤษณา ซึ่งอยู่ในบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือไซเตส ทั้งนี้ ไบโอเทคจะทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อส่งเข้ากองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตร กำลังคิดรูปแบบที่เหมาะสมในการแบ่งปันผลประโยชน์โดยจะมีการร่างเป็นกฎกระทรวงที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขต่างๆ ทั้งนี้ การแบ่งปันผลประโยชน์มี 2 หลักการ คือ 1.แบ่งเป็นตัวเงิน และ 2.ไม่เป็นตัวเงิน สำหรับการยื่นจดสิทธิบัตรสมุนไพร 6 ชนิดนี้ เพื่อขอให้รัฐคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์จากการแข่งขันทางการค้าเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สิทธิบัตรดังกล่าวจะไม่กีดกันการใช้พืชโดยชุมชนท้องถิ่นไทย เพราะถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและประเทศไทยก็เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเอง ที่สำคัญถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมชุมชน
ดร.กัญญวิมว์แถลงว่า เครื่องสำอางที่จะผลิตออกมานำร่องยังไม่ได้ข้อสรุป สำหรับระยะเวลาในการทำวิจัยร่วมกัน ไม่ได้กำหนดระยะเวลา เพราะต้องหาสารจากสมุนไพรมาเป็นส่วนผสมกับสารที่ทำเครื่องสำอาง และต้องนำมาทดสอบก่อนและที่สำคัญจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบขององค์การอาหารและยา (อย.) ของประเทศญี่ปุ่นและของไทยด้วย สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับการโครงการความร่วมมือครั้งนี้ คือ การเรียนรู้ และเป็นการดึงผู้เชี่ยวชาญของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นมาเรียนรู้ร่วมกัน ที่สำคัญทำให้มีการลงทุนวิจัยร่วมกัน

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด