ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก

ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา
มติชน 7 ก.ค. 51

หมายเหตุ - รายงานชิ้นนี้คัดย่อมาจากบทความของ ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะนำเสนอในการสัมมนาวิชาการประจำปีของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 31 ประจำปี 2551 วันพุธที่ 9 กรกฎาคม ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทนำ

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงผันผวนค่อนข้างมาก ขณะที่การบริโภคน้ำมันของทั้งโลกที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จาก 77.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี ค.ศ.2001 เป็น 83.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี ค.ศ.2005 (Scholtens and Wang (2008)) โดยมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา และโดยเฉพาะจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของอุปสงค์น้ำมันดิบในประเทศจีนและอินเดีย อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศนี้

ความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทย ได้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน ช่วงระหว่าง ค.ศ.1981-2000 ความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยในอัตรา 8.6% ต่อปี โดยภาคอุตสาหกรรมไทยมีความต้องการใช้น้ำมันคิดเป็นประมาณ 29.8% ของอุปสงค์ต่อพลังงานขั้นสุดท้าย (Total final energy demand) ทั้งหมดของประเทศในปี ค.ศ.1981 และเพิ่มขึ้นเป็น 32.4% ในปี ค.ศ.2000

ขณะที่ภาคขนส่งซึ่งเป็นภาคที่มีส่วนแบ่งของความต้องการใช้พลังงานสูงที่สุด มีการขยายตัวของส่วนแบ่งความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายจาก 46.1% ในปี ค.ศ.1981 มาเป็น 47.6%

ประเทศไทยซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและเป็นประเทศเล็ก อีกทั้งยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก จึงยากที่ประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และผลสืบเนื่องที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาการว่างงานที่มักจะเกิดขึ้นภายหลังวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกในแต่ละครั้ง

สำหรับการศึกษานี้ จะเน้นเฉพาะเรื่องการวิเคราะห์ผลกระทบจากความผันผวนที่เพิ่มมากขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่จะมีต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทย รวมทั้งนัยเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก

ความสำคัญของพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเป็นจำนวนมากตลอดมา โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปี พลังงานรวมขั้นสุดท้ายที่ใช้เพื่อการบริโภคในประเทศ (final modern energy consumption) นั้น เป็นพลังงานที่ได้มาจากการนำเข้า (commercial primaryenergy import (net)) คิดเป็นสัดส่วนสูงมากกว่า 90% ของพลังงานขั้นสุดท้ายที่ใช้เพื่อการบริโภคทั้งหมดในประเทศ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ คือ ประเทศนั้นๆ มีความจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานขั้นต้นเพื่อใช้ในการบริโภคในประเทศเป็นอย่างมาก และ/หรือการแปรรูปพลังงานเบื้องต้น (primary energy) ไปเป็นพลังงานขั้นสุดท้าย (final energy) ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะพบว่าเพิ่มสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าช่วงปีตั้งแต่ พ.ศ.2543 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำมันดิบในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับพลังงานอื่นๆ นั่นเอง

และในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้มีการนำเข้าพลังงานเมื่อเทียบกับ GDP ที่เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็มีแนวโน้มที่ปรับตัวสูงและผันผวนมากขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากสถิติข้อมูลของราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาเฉลี่ย 15.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ.2538 มาอยู่ที่ราคาเฉลี่ย 86.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ.2550

ผลจากความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลก ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นตัดสินใจใช้นโยบายตรึงราคาจำหน่ายน้ำมันในประเทศผ่านกลไกเครื่องมือของรัฐ คือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตรึงราคาน้ำมันขายปลีกในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม พ.ศ.2547 และตรึงราคาน้ำมันดีเซลอย่างเดียวต่อไปอีกถึงมิถุนายน 2548 โดยใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน และใช้วิธีออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมัน ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้สูงถึง 82,988 ล้านบาท

ผลจากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยในปี พ.ศ.2549 คิดเป็นเงิน 596 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับการนำเข้าพลังงานอื่นๆ ทั้งหมดแล้ว ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าพลังงานสุทธิโดยรวมของไทยในปี พ.ศ.2549 สูงเป็น 9% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

โครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศไทย

เหตุผลที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมาก เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่เป็นพลังงานเชิงพาณิชย์ที่สูงกว่าที่สามารถผลิตได้เอง ซึ่งพลังงานเชิงพาณิชย์ ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีสัดส่วนความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่เป็นพลังงานเชิงพาณิชย์สูงถึง 82.6% ขณะที่พลังงานใหม่และหมุนเวียนจะมี 17.4% ในปี พ.ศ.2549 อย่างไรก็ตาม น้ำมันสำเร็จรูปจะมีสัดส่วนการใช้ในประเทศไทยสูงที่สุดเท่ากับ 50% พลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียนเท่ากับ 17% ไฟฟ้า 17% ถ่านหิน 12% และก๊าซธรรมชาติ 4%

ความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากสาขาเศรษฐกิจใหญ่ๆ จำนวนสามสาขาด้วยกัน ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมการผลิต (คิดเป็น 38%) สาขาขนส่ง (36%) และสาขาบ้านอยู่อาศัย (14%) ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะคิดเป็น 88% ของความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของทั้งประเทศไทยในปี พ.ศ.2549

โครงสร้างราคาและภาษีพลังงานในประเทศไทย

สูตรราคาน้ำมันที่ใช้อยู่ในปัจจุบันประกอบด้วย ราคาขายน้ำมันหน้าโรงกลั่น และราคาขายปลีกที่สถานีบริการ โดยที่ราคาหน้าโรงกลั่นจะประกอบด้วย ราคาต้นทุนหน้าโรงกลั่นบวกด้วยภาษีสรรพาสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ส่วนราคาขายปลีกที่หน้าสถานีบริการจะเท่ากับต้นทุนราคาน้ำมันที่โรงกลั่น (ประมาณ 55% ของราคาขายปลีก) บวกด้วยภาษีต่างๆ ตามที่กล่าวไปแล้ว (ประมาณ 35%) และค่าการตลาดของผู้ค่าน้ำมัน (ประมาณ 10%) ทั้งนี้ ทำให้ในแต่ละปี รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีพลังงานเป็นจำนวนมาก

เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของรายได้รัฐบาลจากพลังงานแต่ละประเภทสำหรับปี 2550 จะเห็นว่า รายได้จากภาษีสรรพสามิตเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 46% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมดจากพลังงาน

แบบจำลองและผลการศึกษา

แบบจำลองที่ใช้ในการศึกษานี้ ได้พัฒนามาจากแบบจำลอง dynamic general equilibrium model เพื่อใช้ศึกษาผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีต่อเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทย และจากแบบจำลองของการศึกษาสามารถแสดงได้ ดังนี้ สมมุติว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนสูงมากขึ้นเท่ากับ 1 หน่วย ค่าความเบี่ยงเบน (standard deviation) ของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแล้ว จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค ดังนี้

-ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำมันดิบ

ส่งผลให้ผู้ประกอบการผลิตต้องทำการลดการใช้ปริมาณน้ำมันดิบให้น้อยลงจากแนวโน้มในระยะยาว โดยขนาดการลดลงของความต้องการใช้น้ำมันดิบนำเข้าในไตรมาสแรกภายหลังเกิดความผันผวนของราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เท่ากับประมาณ 0.7% จากแนวโน้มระยะยาว ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวเข้าหาแนวโน้มในระยะยาว

-ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ปัจจัยทุน

ผู้ประกอบการผลิตมีการใช้ปัจจัยทุนลดลงทันทีจากแนวโน้มในระยะยาวในไตรมาสที่ 1 เท่ากับ 2.5% เนื่องจากปัจจัยทุนเป็นปัจจัยการผลิตที่ต้องใช้ประกอบกับปัจจัยการผลิตประเภทน้ำมันดิบนั่นเอง

-ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชั่วโมงการทำงาน

ผู้ประกอบการผลิตจะทำการลดชั่วโมงการทำงาน (หรือการจ้างแรงงาน) ลงทันทีจากแนวโน้มระยะยาวในไตรมาสที่ 1 เท่ากับประมาณ 2.3%

-ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าผลผลิต

จะส่งผลให้การใช้ปัจจัยการผลิตทุกชนิดลดลงจากแนวโน้มในระยะยาว และส่งผลทำให้มูลค่าของผลผลิตโดยรวมในประเทศมีค่าลดลงด้วย โดยจะลดลงประมาณ 4% ในไตรมาสที่ 1 ก่อนจะค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่แนวโน้มในระยะยาว

-ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระดับการบริโภคของภาคเอกชน

ระดับการบริโภคของภาคเอกชนจะลดลงทันทีในไตรมาสที่ 1 เท่ากับประมาณ 2.5%

-ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภาระหนี้ของภาครัฐ

จะมีผลทำให้ครัวเรือนมีรายได้น้อยลง และทำให้ลดการถือพันธบัตรรัฐบาลลงด้วย

-ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

เนื่องจากต้องใช้เงินเพื่อนำเข้าน้ำมันเป็นมูลค่าที่สูงขึ้น ทำให้ต้องลดการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศลง ส่งผลให้ครัวเรือนถือพันธบัตรต่างประเทศลดน้อยลงในช่วงแรกๆ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด