กองทุนFTAเทงบฯ13ล.ดันปลาไทยสู้ปลานอก

ประชาชาติธุรกิจ 19 ก.พ. 52 - กองทุนเอฟทีเอ เทงบฯ 13 ล้านบาท หนุนโครงการพัฒนาปลาน้ำจืดไทย เน้นสร้างมาตรฐานการเลี้ยงปลา 3 ชนิด ปลาดุก-ปลานิล-ปลาสวาย
การลดภาษีสินค้าภายใต้ความตกลงระดับทวิภาคี (FTA) นอกจากจะส่งผลดีกับผู้ส่งออกแล้ว ในอีกด้านหนึ่งส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการภายในประเทศด้วย รัฐบาลจึงจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับตัว
น.พ.ฆนัท ครุธกูล ที่ปรึกษาโครงการนำร่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปลาน้ำจืดไทย เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเอฟทีเอ 13 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันสินค้าปลาน้ำจืดไทยให้ทัดเทียมกับปลาจากต่างประเทศ ซึ่งมีการนำเข้าปลาแม็กเคอเรล และปลาซาบะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าเอฟทีเอของไทย เช่น เอฟทีเออาเซียน-จีน เอฟทีเอไทย-เอฟตา (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป) ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาอาจจะส่งผลให้ปลาจากนอร์เวย์ และไอร์แลนด์เข้ามาตีตลาดไทย
มากขึ้น โดยในปัจจุบันมูลค่าการตลาดประมงสัตว์น้ำอยู่ที่ปีละ 3-4 แสนล้านบาท โดยเป็นปลาน้ำจืดประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
แม้ว่าปลาไทยและปลานอกจะเป็นปลาคนละชนิด แต่ความเชื่อของผู้บริโภคจะหันไปนิยมปลานอกที่มีราคาลดลงหลังจากลดภาษีนำเข้า เพราะเชื่อว่า มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า แต่ความจริงแล้วเราได้ศึกษาพบว่า ปลาน้ำจืดมีโอเมก้าทรีเหมือนกัน และมีไขมัน คอเลสเตอรอลน้อย กว่าปลาทะเล แต่จะต้องปรับปรุงระบบการเลี้ยงให้มีมาตรฐานสากลมีคุณภาพ ปลอดภัย ปราศจากสิ่งปนเปื้อนให้มากขึ้น
โดยเบื้องต้นได้มีการจัดสรรเงินดำเนินการวิจัย 13 ล้านบาท เพื่อสร้างมาตรฐานการเลี้ยง โดยกำหนดพื้นที่โครงการนำร่อง 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ โดยเลือกปลา 3 ชนิด คือ ปลาดุก ปลานิล และปลาสวาย ซึ่งเป็นปลาที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีมากที่สุด
สิ่งสำคัญนอกจากการสร้างความเข้าใจถึงคุณค่าทางโภชนาการที่มีต่อปลาน้ำจืดแล้ว เราต้อง สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ทางโครงการจึงได้เตรียมพัฒนาสินค้าในรูปแบบต่างๆ อาทิ ปลานิล จะนำไปทำเป็นเนื้อปลานิลแล่แช่แข็ง ทั้งแบบสดและชุบแป้ง ฉู่ฉี่ปลานิลแช่แข็ง ปลานิลหวาน ส่วนปลาสวาย ปลาสวายแล่แช่แข็ง ปลาสวายแล่แช่แข็งชุปแป้ง ปลาสวายเส้นปรุงรส และปลาดุก ปลาดุกแดดเดียวดิบทอด
"เรามีเป้าหมายว่า 3 ปี จะต้องเพิ่มมูลค่าการตลาดปลาน้ำจืดให้มากขึ้นอีก 20-30% และทำให้ผู้บริโภคเพิ่มการบริโภคจาก 30 ก.ก./คน/ปี เป็น 40-50 ก.ก./คน/ปี
โดยจะเร่งกิจกรรมส่งเสริมการบริโภค โดยจะมีการจัดนิทรรศการการให้ความรู้เรื่องคุณค่าปลาน้ำจืด ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท การจัดเมนูปลาสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลพญาไท และรามาธิบดี เป็นต้น หากประสบความสำเร็จทางผู้ดำเนินการวิจัยอาจจะของบประมาณจากกองทุนเอฟทีเอเพิ่ม เพื่อขยายผลไปยังปลาชนิดอื่นด้วย" น.พ.ฆนัทกล่าว

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด