จี้รัฐบาลกล้านำโฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน มาใช้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 29 พ.ค. 52 -
เนื่องจากการชุมนุมของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ในช่วงวันที่ 4 ? 12 มีนาคม 2552 กระทั่งนำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่าย โดยมีนายกรัฐมนตรี ( นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ) เป็นประธาน และดำเนินการประชุมครั้งแรกร่วมกันในวันที่ 11 มีนาคม 2552 นั้น ซึ่งผลการประชุมดังกล่าวได้มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหา โดยยึดปัญหาพื้นฐานของประชาชนและนโยบายรัฐบาลเป็นหลักสำคัญ
พร้อมกันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ทั้งสิ้น 6 ชุด ตามประเภทปัญหาที่ดินของเครือข่าย ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาไปสู่การจัดการที่ดินในรูปแบบ ?โฉนดชุมชน? และการจัดตั้ง ?ธนาคารที่ดิน? ตามเจตนารมณ์ของนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาก่อนเข้าบริหารประเทศ
ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ใช้กรอบนโยบาย และกลไกดังกล่าวข้างต้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ซึ่งในบางกรณีมีความคืบหน้าเป็นลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายกรณีที่เป็นไปในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับกรอบนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายต่อที่ประชุม หรือเกิดความล่าช้าในการทำงานของฝ่ายข้าราชการประจำ และที่สำคัญที่สุดคือ ในบางพื้นที่ของสมาชิกเครือข่ายมีการข่มขู่ คุกคาม และมีแนวโน้มที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้านผู้เดือดร้อน ซึ่งถือเป็นภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยอย่างยิ่ง รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่ ?โฉนดชุมชน? ตามที่ปรารถนาร่วมกัน
กรณีปัญหาพื้นที่ป่าไม้ คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) เป็นประธาน ภายหลังการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ยังไม่มีการดำเนินการตามมติที่ประชุมใดๆทั้งสิ้น อีกทั้งข้าราชการประจำบางส่วนยังคงยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นหลัก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางนโยบายที่มีการตกลงร่วมกันแต่อย่างใด
กรณีปัญหาพื้นที่สปก. และพื้นที่สัญญาเช่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเหตุการณ์ข่มขู่ และใช้กำลังเข้าคุกคามสมาชิกเครือข่ายอย่างอุกอาจป่าเถื่อน โดยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ได้ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวแม้แต่น้อย
กรณีพื้นที่สัญญาเช่าในพื้นที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่สมาชิกเครือข่ายเข้าพื้นที่ที่หมดอายุสัญญาเช่า เพื่อทำการรังวัด กำหนดขอบเขตพื้นที่เพื่อวางแผนการพัฒนาตามแนวทางโฉนดชุมชน เจ้าหน้าที่บางส่วนกับบริษัทเอกชน ได้พยายามให้ร้ายป้ายสีว่าเป็นกลุ่มองค์กรเถื่อน พร้อมทั้งสร้างกระแสให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างชาวบ้านกลุ่มต่างๆในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การเผชิญหน้าในที่สุด อีกทั้งมีการสร้างกระแสข่าวว่าจะสนธิกำลังเข้าปราบปรามในเร็ววันนี้ ดังนั้น หากใครไม่ต้องการถูกจับกุม ให้ออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หากปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น และดำรงอยู่ต่อไป ย่อมจะนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงที่ยากแก้ไข และเจตนารมณ์การจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน ก็จะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลกับเครือข่าย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเจตนารมณ์ร่วมกัน อีกทั้ง เพื่อให้เกิดการเผยแพร่ข้อเท็จจริงของปัญหาในพื้นที่ต่างๆ เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และสาธารณชนได้รับรู้ เข้าใจโดยทั่วกัน เครือข่ายจึงมีข้อเสนอ ดังนี้
1. ให้รัฐบาลสั่งการไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้ยุติการดำเนินการใดๆที่จะเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง และกำชับให้มีการดำเนินงานตามกรอบ นโยบายของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปทีดินแห่งประเทศไทย
2. ขอเรียกร้อง และเชิญชวนสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริง และนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนให้รับรู้ และเข้าใจสถานการณ์ปัญหาอย่างถูกต้องต่อไป
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ยังคงสนับสนุนและมีความคาดหวังอย่างยิ่งว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาตามแนวทาง นโยบายที่ตกลงร่วมกันของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จะสามารถเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน และพัฒนาไปสู่การจัดการที่ดินในรูปแบบ ?โฉนดชุมชน? ให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นในสังคมไทย ต่อไป

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด