
มติชน 18 ก.ค. 52 - เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดเสวนาหัวข้อ " อนาคตรัฐวิสาหกิจ อนาคตประเทศไทย" โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานและผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล กล่าวว่า การพัฒนาหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทยที่มีความล่าช้า ส่วนหนึ่งมาจากการขาดความต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยเกินไป ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจไม่มีเสถียรภาพในการดำเนินนโยบาย ส่วนตัวเห็นว่ารัฐวิสาหกิจควรมีการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินทุก 6 เดือน ให้สังคมรับรู้มากขึ้น และเป็นแนวทางที่รัฐวิสาหกิจต้องพัฒนาตัวเอง และควรออก พ.ร.บ.รองรับการจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาใหม่ ทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจการเมืองเข้าแทรกแซง
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยไม่ให้รัฐวิสาหกิจถูกแทรกแซงโดยการเมือง ควรลดสัดส่วนการถือหุ้นจากภาครัฐลงน้อยกว่า 50% เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีความชัดเจน โปร่งใส อย่างไรก็ตาม ควรกำหนดให้มีกรรมการในการกำกับดูแลและตรวจสอบรัฐวิสาหกิจด้วย
"ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 17 แห่ง มีกำไรจากการดำเนินงานในปี 2550 เฉลี่ยที่ 7.8% สูงกว่าเอกชนอื่นมี 7.29% และ ปี 2551 มีกำไร 3.32% สูงกว่าเอกชนมี 3.11% ซึ่งถือว่าสามารถสู้กับเอกชนได้ ทั้งนี้ ข้อดีของรัฐวิสาหกิจที่เข้าจดทะเบียนแปรรูปในตลาดหลักทรัพย์คือ ทำให้เห็นภาพการทำงานชัดเจนว่าเป็นอย่างไร โปร่งใสหรือไม่ มีความสามารถในการแข่งขันช่วยให้รัฐบาลมีแหล่งระดมเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการบริหารได้" นางภัทรียากล่าว