เร่งตั้งกองทุนคาร์บอนเครดิต อบก.เล็งปล่อยกู้โครงการCDM

ประชาชาติธุรกิจ 3 ส.ค. 52 - นางประเสริฐสุข จามรมาน รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการ ดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการ CDM ที่ได้รับรองจาก อบก.แล้ว 86 โครงการ รวมปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้ประมาณปีละ 5.71 ล้านตันคาร์บอน มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนในโครงการประมาณ 28,000 ล้านบาท
โดยโครงการข้างต้นสามารถผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด ของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ หรือ UNFCC CDM-EB แล้ว 18 โครงการ และได้ใบรับรอง (CERs) มีการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว 2 โครงการ ได้แก่ บริษัท เอ.ที.ไบโอ พาวเวอร์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 72,000 ตันคาร์บอน กับบริษัทโคราช เวส ทู เอ็นเนอร์จี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณปีละ 300,000 กว่าตันคาร์บอน
ทั้งนี้ โครงการที่ อบก.ได้รับรอง ส่วนใหญ่ 70% เป็นโครงการด้านพลังงาน อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวล, โรงไฟฟ้าชีวภาพ, โรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ทาง อบก.ได้จัดทำหลักเกณฑ์นิยามของโครงการ CDM ภาคป่าไม้ (CDM forestry) ประกอบด้วย
1)ต้องเป็นพื้นที่มีใบปกคลุม 30% ความสูงต้นไม้ 3 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ขึ้นไป 2)โครงการฟื้นฟูป่า เป็นการแปลงสภาพการใช้ที่ดินที่กระทำโดยมนุษย์
3)โครงการปลูกป่า เป็นการแปลงสภาพการใช้ที่ดินกระทำโดยมนุษย์จากพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นป่ามาก่อนในระยะ เวลา 50 ปี
แต่จากการสำรวจในพื้นที่ต่างๆ แล้ว พบว่าพื้นที่ที่มีแนวโน้มเข้าเกณฑ์ CDM forestry มากที่สุด คือ บริเวณป่าชายเลนลุ่มแม่น้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ถูกทำลายมาหลายปี พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่
อีกทั้ง อบก.ยังได้กำหนดรูปแบบของการจัดทำโครงการ CDM ที่เปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ ได้มีโอกาสดำเนินการมากขึ้น ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ 1)โครงการย่อยที่เริ่มและเลิกดำเนินการพร้อมกัน (bundle approach) ตัวอย่าง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียฟาร์มสุกร ภายใต้การดำเนินโครงการพร้อมกัน 3 บริษัท คือ บริษัท เอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด, บริษัท วีซีเอฟ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท หนองบัวฟาร์ม แอนด์คันทรีโฮมวิลเลจ
และ 2)โครงการที่มีลักษณะไม่ต้องดำเนินการพร้อมกันแต่ใช้วิธีเดียวกัน (programmatic approach) ภายในระยะเวลา 28 ปี ซึ่งโครงการลักษณะนี้ กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้จัดการโครงการการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสีย ฟาร์มสุกร รวบรวมฟาร์มุสกรทั่วประเทศ ที่มีความสนใจจะพัฒนาเป็นโครงการ CDM
นอกจากนั้นเพื่อเป็นการจูงใจให้เกิด การพัฒนาโครงการ CDM มากขึ้น อบก.ได้เตรียมแผนการจัดตั้ง กองทุนคาร์บอนเครดิต (Thailand Carbon Fund) เพื่อทำหน้าที่ในการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจจะพัฒนาโครงการ CDM และรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างหารือร่วมกัน

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด