ภาคประชาชนเดินหน้า ดันนโยบายสาธารณะ ปฎิรูประบบเกษตรกรรมคู่พัฒนาสิทธิเกษตรกร

ภาคประชาชนเดินหน้า ดันนโยบายสาธารณะ ปฎิรูประบบเกษตรกรรมคู่พัฒนาสิทธิเกษตรกร
ประชาไท 21 ส.ค. 52

เครือข่ายเกษตรกรและองค์กรประชาชน 11 องค์กร จัดเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างอารยะประชาธิปไตย เรื่อง ?การปฏิรูประบบเกษตรกรรมและพัฒนาสิทธิเกษตรกร? ยืนยันสิทธิเกษตรกรต้องเกิดแต่การออกกฎหมายที่จะมาเป็นเครื่องมือทำงานต้องไม่ถูกครอบงำ แนะตั้งเป็นองค์กรอิสระจะรักษาสิทธิและประโยชน์ของเกษตรกรได้ดีกว่า

วานนี้ (20 ส.ค.52) ที่โรงแรมหลุยซ์ แทรเวิร์น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยชุดโครงการพัฒนาการมีส่วนรวมในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างอารยะประชาธิปไตย เรื่อง ?การปฏิรูประบบเกษตรกรรมและพัฒนาสิทธิเกษตรกร? โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนกว่า 100 คน ร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะถึงสิทธิเกษตรกรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 และผลักดันประเด็นสำคัญของสิทธิเกษตรกรและกระบวนเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเชื่อมร้อยเครือข่ายความร่วมมือในการจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมโดยตรงของภาคประชาชนในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในประเด็นของสิทธิเกษตรกร
ภาคีคณะทำงานติดตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรและองค์กรประชาชน 11 องค์กร ได้ร่วมกันวิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติที่กำลังจ่อเข้าสภานิติบัญญัติสมัยสามัญนี้ พร้อมเสนอร่างพระราชบัญญัติสมัชชาเกษตกรแห่งชาติ(ฉบับประชาชน)เพื่อรับรองสถานภาพและสิทธิเกษตร ให้พ้นจากนิยาม ?คนจน? ที่ปรากฎในกฎหมายทั่วไป โดยสมัชชาเกษตรกรแห่งชาติจะเป็นพื้นที่ของเกษตรกรรายย่อยรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองบนเงื่อนไขของเศรษฐกิจทุนและเปิดเสรีสินค้าเกษตร ผลักดันนวัตกรรมทางนโยบายที่คุ้มครอง ?เกษตรกรรายย่อย? ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่าง ๆ (สิทธิ และอำนาจต่อรอง) โดยเชื่อมโยงการจัดระบบผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอาหารปลอดภัย

ทั้งนี้สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. นี้ เป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรให้เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อสถาปนา ?สิทธิของเกษตรกร? ดังนั้นผู้ที่จะได้ประโยชน์คือตัวเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรที่ด้อยโอกาส ไร้ที่ดินทำกิน เกษตรกรที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือเกษตรกรที่ไม่มีสังกัด ซึ่งต้องดำเนินการและผลักดันให้เกิดขึ้น และไม่ให้ถูกแทรกแซง ครอบงำ บิดเบือนไปใช้แสวงหาประโยชน์ทางการเมือง จึงกำหนดองค์ประกอบของสมาชิกในฐานะที่เป็นตัวแทนของเกษตรกร ให้ยึดเกษตรกรในแนวทางระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเป้าหมายขั้นพื้นฐานหลัก เกษตรกรในแนวทางอื่นที่ประสบปัญหาเป็นเป้าหมายในลำดับถัดมา ให้สภาเกษตรกรแห่งชาติทำหน้าที่เป็นองค์กรเชื่อมระหว่างเกษตรกรกับภาครัฐ และจัดให้มี ?สมัชชาเกษตรกร? เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามีส่วนร่วมได้โดยตรง และมีสมัชชาให้เข้าร่วมได้หลายระดับทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด พื้นที่ และสมัชชาเฉพาะประเด็นที่เกษตรกรมีความสนใจ และควรให้มีการบริหารงานโดยอิสระ
ในการอภิปรายเรื่อง ?ระบบเกษตรกรรม : ปัญหาที่ต้องปฏิรูป? นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤติระบบเกษตรกรรมอันดับต้นๆคือปัญหาโครงสร้างพื้นฐานในภาคเกษตร เรื่องที่ดินทำกินและหนี้สินที่ตึงเครียดมานาน ปัญหาหนี้สินเชื่อมโยงกับการสูญเสียที่ดินโดยตรง ใครจะคิดว่าพื้นนาภาคกลางปลูกข้าว3ครั้งต่อปีแต่กลายเป็นพื้นที่สีแดงที่พื้นที่อาหารหลุดมือมากที่สุด สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าครอบครองจากต่างชาติ โดยยอดที่จดทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟู 100,000 กว่าราย ที่ดินจะถูกขายทอดตลาดเฉลี่ย 30 รายการต่อวัน กลไกและสถาบันภาครัฐไม่เห็นความสำคัญกระบวนการแก้ไขปัญหา ปัญหาใหญ่คือการเข้าไม่ถึงข้อมูลและข้อมูลรอบด้านในการตัดสินใจของเกษตรกร กระบวนในเชิงสถาบันที่จะเสริมสร้างการแก้ปัญหาด้วยตัวเองของชาวบ้านแทบไม่มี

นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า ประเด็นสำคัญ คือ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการคุ้มครองเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรตกอยู่ภายใต้ความยากจนและไม่มีอำนาจในการต่อรอง การแก้ปัญหาภาคเกษตรกรรมเชิงระบบ เกษตรจะมีอำนาจหากสามารถวางแผนการผลิตตัวเอง เริ่มต้นที่เข้าถึงปัจจัยการผลิตเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย สองการแปรรูปผลผลิตและจัดการตลาด รวมทั้งการเข้าถึงฐานทรัพยากรซึ่งผลิตอาหาร เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภค เหล่านี้จะนำมาซึ่งการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ฉะนั้นสมัชชาเกษตรกรควรมาตอบโจทย์สร้างกระบวนการเรียนรู้จากหน่ออ่อนหรือรูปธรรมของการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรมีอยู่แล้ว แต่จะต้องเอามาสื่อสารสาธารณะ ซึ่งตรงนี้ไม่มีกลไกภาครัฐทำงานเลย ประเทศที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศเริ่มต้นจากการตั้งสหกรณ์เกษตรกร เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฯล การสนับสนุนงานวิจัย มีธนาคารเกษตรกร สนับสนุนปัจจัยการผลิต สร้างทางเลือกหลากหลายที่จะสนับสนุนคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสร้างกลไกคุ้มครอง

ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจการเกษตรกรรม และทางออกสู่การปฏิรูประบบเกษตรกรรม โดยระบุว่า สังคมไทยมักตื่นตัวเมื่อเกิดวิกฤติ แต่การแก้ปัญหาก็ไม่เคยมองให้ถึงรากเหง้า มองไม่ถึงตัวเกษตรกร เรามองประชาธิปไตยที่การเลือกตั้งไม่ได้สนใจประชาธิปไตยในอาหาร (ใครผลิต และความปลอดภัย) ถึงเวลาที่เราต้องทบทวนตัวเองว่ามนุษย์กับแผ่นดินอยู่กันอย่างไร ระบบเกษตรกรรมซึ่งเป็นหัวใจจะเดินต่อไปอย่างไร ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาประชาธิปไตยถ้าไม่มียุทธศาสตร์เกษตรซึ่งเป็นฐานอาหารแล้ว ประชาธิปไตยก็จะไม่มีอนาคต เราจึงต้องช่วยกันสนับสนุนทุกรูปแบบสร้างอำนาจให้เกษตรกรอยู่ได้ ซึ่งพ.ร.บ.ที่ประชาชนเสนอนี้จะเป็นทางออก

นายบัณฑร อ่อนดำ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน:กลไกที่เป็นอิสระและเคลื่อนไหวทางสังคมว่า วันนี้เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นสำคัญ แต่ตอนนี้มาถึงจุดที่พี่น้ององค์กรเกษตรและผู้บริโภคเสนอในประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหวว่าเป้าหมายอย่างไร และมีช่องทางไหนบ้าง ต้องทำให้เห็นว่า พ.ร.บ.นี้เป็นการฟื้นฟูระบบเกษตรกรรมได้จริง

นายไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับกลไกรองรับสิทธิของเกษตรกรตามรัฐธรรมนูญนั้น ตอนนี้ต้องดูว่าสิทธิเกษตรกรตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีแล้วหรือยัง เราจะสามารถสร้างขึ้นมายังไง ตลอดจนแนวทางการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และท่าทีจุดยืนของร่างสมัชชาสภาเกษตรกรต่อการแก้ไขปัญหาเกษตรกร ทั้งนี้หัวใจสำคัญที่จะทำให้การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริงคือ 1. ประชาชนรวมกลุ่มเข้าชื่อเสนอกฎหมายทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งสิ่งที่ภาคประชาชนทำมาก็เป็นส่วนหนึ่ง 2. ประชาชนรวมกลุ่มแล้วใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิต่าง ๆ ไว้ ซึ่งสามารถทำได้หลายแนวทางและหลายระดับ ตอนนี้เครือข่ายเกษตรกรและองค์กรประชาชนก็เริ่มทำแล้ว

นายทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สิทธิเกษตรกรในระดับนานาชาติที่เป็นกระแสและขับเคลื่อนในปัจจุบันนั้น สิทธิเกษตรกรหมายถึงสิทธิในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต การเข้าถึงฐานทรัพยากร ความสามารถในการได้รับผลตอบแทนด้านราคาที่เป็นธรรมและการรักษาวิถีชีวิต ซึ่งกระบวนการสมัชชาเกษตรกรจะเสริมสร้างขึ้นมาได้ โดยทำให้เกษตรกรมีอิสรภาพมากขึ้นในการตัดสินใจวางแผนการผลิต ปราศจากการครอบงำของกลุ่มทุน การเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภคเพื่อสร้างอธิปไตยทางอาหาร สมัชชาเกษตรกรจะช่วยให้เกษตรกรรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน มีอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มทุนหรือธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่มากขึ้น

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด