3 Nov 2009

3 พ.ย.52 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการแถลงข่าวเรื่อง รัฐบาล และคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) ต้องทบทวนการยกเลิกข้อสงวนในการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ACIA) ในสาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช จัดโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายองค์กรประชาชน 103 องค์กร
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้ อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การแถลงข่าววันนี้มีขึ้น เพราะต้องการแสดงจุดยืนของภาคประชาชน ก่อนที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) จะประชุมเรื่องข้อตกลงเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ACIA) ในวันศุกร์ที่ 6 พ.ย.นี้ หากภาคประชาชนพบว่า กนศ.ไม่ยอมสงวน 3 สาขา ได้แก่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช ภาคประชาชนจะแถลงรายละเอียดของการฟ้องร้อง โดยคาดว่าจะฟ้องทั้งบีโอไอ กรมเจรจาการค้า และรัฐบาล
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้ อำนวยมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร
ได้ จัดการประชุมร่วมของหลายฝ่ายเกี่ยวกับประเด็นนี้ พบว่า หลายหน่วยงานที่รับผิดชอบกับประเด็นนี้โดยตรงคัดค้าน อาทิ กรมประมง กรมการข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรณีของกรมการข้าว ถึงกับระบุว่า หากเปิดเสรีปรับปรุงพันธุ์พืชก็เท่ากับเป็นการชักศึกเข้าบ้าน แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกลับพูดแต่เพียงว่า เป็นข้อตกลงที่ตกลงไว้แล้ว ทำให้สงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่มีนักลงทุนใกล้ชิดกับบีโอไอ และใกล้ชิดกับพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะได้ประโยชน์จากการได้เงินลงทุน เพิ่ม และยังได้สิทธิการคุ้มครองการลงทุนด้วย ในฐานะที่มีสภาพเป็นนักลงทุนต่างชาติด้วย ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่เคยได้มาก่อน เพราะข้อตกลงประเภทนี้ให้สิทธินักลงทุนต่างชาติมากกว่าคนในชาติด้วยซ้ำ

“บีโอไอ มักชี้แจงว่า ประเทศไทยมีกฎหมายภายในเพียงพอ เช่น นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถขออนุญาตสร้างสวนป่าได้, ไม่สามารถขอมีเลื่อยยนต์ได้, ไม่สามารถขอใช้ป่าสงวนเสื่อมโทรม ถ้าฟังแบบนี้แล้ว อยากรู้ว่า นักลงทุนอาเซียนอีก 9 ประเทศไม่รู้เรื่องนี้เลยหรือไร แต่จากเนื้อหาในข้อตกลงข้อ 9 ชี้ว่า เราจะให้สิทธินักลงทุนต่างชาติไม่เท่านักลงทุนในชาติได้ก็ต่อเมื่อ เราต้องทำข้อสงวน ถ้าไม่ทำข้อสงวนก็ไม่อนุญาตได้ แต่กระนั้น หากเกิดปัญหาในอนาคต เราจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายหรือกฎหมายได้เลย เพราะหากทำไป นักลงทุนอาจนำไปอ้างว่ามีผลกระทบเชิงลบ และฟ้องร้องเป็นกรณีพิพาทให้รัฐต้องใช้เงินภาษีของประชาชนไปชดเชยดังที่เกิด ใน เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) มาแล้ว หากอีกหน่อยรัฐบาลไทยประกาศพื้นที่ป่าสงวน หรือ ควบคุมการปล่อยน้ำทิ้งจากนากุ้ง จะมีผลกระทบต่อนักลงทุนต่างชาติหรือไม่ จนเขาเอาไปเป็นประเด็นฟ้องร้อง ฝากเอาไว้ให้รัฐบาลมองไกลกว่าเม็ดเงินลงทุน”
บัณฑูร กล่าวต่อว่า การลงทุนยังครอบคลุมสัมปทานธุรกิจ แสวงหา เพาะปลูก สกัด หรือ แสวงหาประโยชน์จ่ากทรัพย์ยากร ในกรณีการปลูกป่า ไม่ได้มีประโยชน์แค่เนื้อไม้ แต่ยังรวมไปถึงการเอาเข้าโครงการกลไกที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต เช่น CDM และ REDD เขาจะได้สิทธิการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีอยู่ในความหมายการลงทุน แต่ในระยะยาว หากประเทศไทยต้องทำตามพันธสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราจะไม่มีสิทธิ เพราะป่าเหล่านี้ถูกใช้ไปแล้วจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเชื่อว่าบีโอไอไม่เคยคิดถึงประเด็นเหล่านี้มาก่อน
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนกล่าวว่า
การเปิดเสรีการลงทุน นำสิ่งเหล่านี้ไปสู่พื้นที่เสี่ยง ฉะนั้นพวกเราต้องหยุดการเปิดเสรีการลงทุนใน 3 สาขานี้ให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) ในวันศุกร์นี้ ไม่มีทิศทางบวก เราต้องดำเนินการทางกฎหมายทุกวิถีทาง พร้อมการเคลื่อนไหวทางสังคม ปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะทางรัฐบาลของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายก
รัฐมนตรี ไม่เคยพูดอะไรที่ให้มั่นใจเลย เอาแต่อ้างว่าตกลงมาแล้ว ตกลงมาอย่างไรต้องเป็นไปอย่างนั้น แต่ขณะนี้เรากำลังเผชิญสถานการณ์ใหม่ ทั้งวิกฤตอาหาร วิกฤตพลังงานและ วิกฤตโลกร้อน ถ้าเราไม่ทบทวนข้อตกลงที่ทำมาตั้งแต่เมื่อ10 กว่าปีก่อน ก็ฟังไม่ขึ้น

กิ่งกรระบุว่า ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ รัฐบาล บีโอไอ กรมเจรจาการค้ากระทรวงพาณิชย์ ต้องมีแนวทางชัดเจนว่าจะสงวนอย่างไร และมีแนวทางระยะยาวที่จะฟื้นฟูอย่างไร มิเช่นนั้น องค์กรภาคประชาชนคงต้องใช้มาตรการฟ้องร้อง ร่วมกับการเคลื่อนไหวทางสังคม
“อยากให้วาดภาพ อาฟต้าจะทำให้การค้าขายเฟื่องฟู แต่เกษตรกรจะลำบากมากกว่าเดิมอยู่ไม่รอด แต่ ACIA จะเป็นการเปิดให้ฐานถูกทุนใหญ่ครอบครอง ขณะนี้เราจะถ่ายโอนการผลิตอาหารไปสู่ทุนขนาดใหญ่ ตอนนี้อาหารถูกนำไปเก็งกำไร” กิ่งกรกล่าว
วิฑูรย์ กล่าว ว่า ที่ผ่านมาข้อมูลทั้งจากทางฝ่านเรา และข้าราชการบางส่วนได้ส่งถึง นายเกียรติ สิทธีอมร ผู้แทนการค้าไทย ไปแล้วว่า สามารถทบทวนได้และสงวนได้
- ที่ผ่านมาผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยเคยละเลยไม่สงวน อาชีพเกษตรกร ใน AIA เราก็มาสงวนได้ หลักฐานนี้กรมเจรจาฯทราบดี ครั้งนี้ก็ต้องสามารถทำได้เช่นกัน
- ในขณะที่เราบอกทำตามพันธะกรณี แต่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เผชิญวิกฤต เขายังคงข้อสงวนเอาไว้ เราก็ควรคงข้อสงวนได้
- ที่ผ่าน มาหน่วยงานรับผิดชอบหลัก อาทิ กรมการข้าว กรมประมง เคยคัดค้านแล้ว แต่ทำไมไม่ถูกนำไปพิจารณา จริงหรือไม่ที่ รัฐบาลไม่เคยฟังความเป็นจริง แต่ฟังเฉพาะข้าราชการกลุ่มเล็กๆที่เราเชื่อว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงจากการเดิ หน้าเปิดเสรีให้นักลงทุนรายใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศได้ประโยชน์
“การ เปิดเสรีในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ยังเน้นเรื่องการค้า ลดภาษี มีการลงทุนบ้างบางส่วน ผลกระทบยังไม่สามารถเยียวยาได้จนถึงขณะนี้ แต่ข้อตกลงเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน จะปล่อยให้นักลงทุนอาเซียนและนอกอาเซียนมาใช้ทรัพยากร ซึ่งสถานการณ์จะรุนแรงกว่าที่เคยเปิดมาในรัฐบาลที่แล้ว เราหวังว่า รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะตระหนักในเรื่องนี้”วิฑูรย์กล่าว
ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ประธานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า“วัน ที่ 6 นี้
จะ เปิดหน้าอย่างชัดเจนว่า ใครรักแผ่นดินจริงๆ หรือใครพูดแต่ปากว่ารักประเทศ แต่ไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นเราจะต้องฟ้อง เราจะต้องเอาคนผิดออกมาดูหน้ากันให้ได้ ใครคิดทำอะไร ใครมีพฤติกรรมขายชาติ ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินจริงหรือเปล่า หรือทำเพื่อเอาตำแหน่ง เอาหน้าเอาตา เราจะทำทั้งระยะสั้น ระยะยาว เราจะไม่เลิก เราจะทำต่อ เป็นบทเรียนที่เราจะต้องเรียนรู้ ไม่มีชาติไหนเขามอบการเกษตรให้กับคนชาติอื่น ถ้าเราไม่ทำ แผ่นดินเราสูญแน่”

ที่มา : ประชาไทออนไลน์
เอฟทีเอรายประเทศ:
หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: