สังเกตลม-น้ำ-ฟ้าเปลี่ยนไป ระบบเตือนภัยแบบชาวบ้าน

สังเกตความผิดปกติของทะเลไม่ยากนัก ดูผิวน้ำ ขยะ ลูกโกงกาง เศษไม้ กระป๋องลอยเข้ามาหาฝั่ง ถ้าลอยมาปกติไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าด้านใดด้านหนึ่งเกิดห้อยลงไป ก็หมายถึงว่าทะเลกำลังผิดปกติและกำลังจะมีเรื่องร้ายขึ้นแล้ว?

ขณะที่นานาประเทศกำลังหารือกันถึงการสร้างเครือข่ายระบบเตือนภัย ?คลื่นยักษ์ สึนามิ? ในมหาสมุทรอินเดีย หลังจากได้ถล่ม 11 ประเทศทวีปเอเชีย จนได้รับความเสียหายยับเยินนั้น ทว่าอีกด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ถ่ายทอดผ่านผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้

ความจริงแล้ว ระบบเตือนภัย ที่เรียกว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นยังพอมีให้เห็นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่ามอแกน ที่มีคำบอกเล่าของบรรพบุรุษต่อการสังเกต น้ำขึ้นน้ำลง จนสามารถช่วยชีวิตให้ชาวมอแกนและนักท่องเที่ยวรอดชีวิตได้อย่างหวุดหวิด ขณะเดียวกันการเตือนภัยแบบชาวบ้าน ยังช่วยให้ชาวประมงแหลมตุ๊กแก,เกาะสิเหล่ รอดชีวิตทั้งหมู่บ้านเช่นกัน

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า คนที่รู้จักทะเล ย่อมคือคนที่ใช้ชีวิตกับทะเล ชาวประมงเกาะสิเหล่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้อาศัย การที่เป็นคนคุ้นเคยทะเล ผสมผสานกับ คำบอกเล่าของบรรพบุรุษ เตือนภัย ให้คนทั้งหมู่บ้าน รอดจากคลื่นยักษ์ สึนามิ โดยไม่มีใครเสียชีวิต มีเพียงทรัพย์สินที่เสียหายเท่านั้น

นายจุ้ย ประโมงกิจ อายุ 74 ปี หมู่บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหล่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เล่าว่า วันเกิดเหตุ ได้ยินมาว่าที่เกาะสุมาตรา กับพม่ามีแผ่นดินไหว แต่นึกว่าคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอเวลา 10 .00 น.มีคนโทรมาจากหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเล อีกหมู่บ้านหนึ่ง ว่าน้ำทะเลขึ้นสูงมากที่นั่น น่าจะมีอะไรผิดปกติ จึงออกไปดูทะเล ก็เห็นคลื่นใหญ่มาแต่ไกล

?หลังจากนั้นตะโกนบอกให้ชาวบ้านวิ่งเพราะตอนนั้นเรือจม ชาวบ้านบางคนไม่เชื่อ บางคนก็วิ่งไปขึ้นที่สูง ส่วนใหญ่ไปรวมกันที่ วัดเกาะสิเหล่ ผมเห็นคลื่นลูกแรกมาเป็นคลื่นขาว น้ำวิ่งดันพื้นอย่างรวดเร็ว พอถึงฝั่งก็ม้วนตัวทำให้เรือที่ริมหาดเสียหายจมไปกับคลื่น ลูกแรกไม่เท่าไหร่ความสูงเพียง 3 เมตรเท่านั้น แต่ลูกที่สองตามมา ประมาณ 15 นาที มีความเร็วแรงกว่าลูกแรกมาก สูงมากถึง 5 เมตร แต่ตอนนั้นชาวบ้านหนีกันหมดแล้ว?

นายจุ้ย บอกอีกว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนแต่ชาวบ้านก็รอดทุกคน เพราะชาวบ้านที่นี่รู้จักสังเกตทะเลเนื่องจากอาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวประมงที่จะต้องออกเรือทุกวัน ซึ่งสิ่งแรกที่จะต้องสังเกต คือ ทะเลก่อนที่จะออกเรือ ว่า น้ำ,ฟ้า และลมเป็นอย่างไรบ้าง แต่วันเกิดเหตุ ทะเลนิ่งมาก ไม่มีอะไรผิดสังเกตเลย

นายจุ้ยบอกว่า ชาวบ้านที่แหลมตุ๊กแก ส่วนใหญ่จะรับรู้ถึงเรื่องเล่าจากบรรพบุรุษ ที่บอกต่อกันมาในเรื่องการสังเกตทะเล แม้ว่าจะไม่มีใครรู้จัก ?สึนามิ? แต่พอบอกได้ว่า ทะเลผิดปกติไป โดยกฎของชาวบ้าน ที่ปฏิบัติติดต่อกันมาคือ ชาวบ้านจะไม่ออกเรือในวันแรม 3ค่ำ หรือ 4 ค่ำ หรือห้ามออกเรือวันจันทร์ วันศุกร์ เพราะถือว่าเป็นลางไม่ดี อาจจะโดนพายุเกิดอุบัติเหตุได้

"แต่วันเกิดเหตุ ชายฝั่งไม่มีคลื่นและลมแรง แต่พอออกเรือก็พบว่ามีลมแรงมาก ทุกคนก็กลับเข้าฝั่ง เนื่องจากสังเกตว่าหัวลมมีลมแรงมาก หัวหนักมามืด ฟ้าเหลือง สังเกตได้เลยว่า มีอันเป็นไปแน่นอน" นายจุ้ยบอก

ขณะที่นายอาริน หาดทรายทอง อายุ 45 ปี เล่าถึงเหตุการณ์ที่รอดชีวิตว่า เพราะการสังเกตคลื่น น้ำขึ้นน้ำลง วันที่เกิดเหตุ เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันอาทิตย์ ปกติน้ำจะขึ้นลงเวลาหัวรุ่ง หรือตี 2-3 แต่ว่าวันนั้นน้ำทะเลลงไปลึกประมาณ 9 โมงเช้า โบราณเองก็บอกเอาไว้ว่าน้ำลงลึกจะมีเรื่องร้าย คือ น้ำจะกลับมาเร็ว ถือว่าผิดปกติอย่างมากหลังจากนั้นไม่นานเกิดคลื่นใหญ่ตามมา

"สังเกตความผิดปกติของทะเลไม่ยากนัก ดูผิวน้ำ ขยะ ลูกโกงกาง เศษไม้ กระป๋องลอยเข้ามาหาฝั่ง ถ้าลอยมาปกติไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าด้านใดด้านหนึ่งเกิดห้อยลงไป ก็หมายถึงว่าทะเลกำลังผิดปกติและกำลังจะมีเรื่องร้ายขึ้นแล้ว?

นอกจากนี้ สังเกตท้องฟ้าที่จะเกิดรังสีชนิดหนึ่ง เรียกว่า ?ปุโง๊ะ? คล้ายรุ้งกินน้ำแต่สั้นมาก เป็นตัวยู หงายขึ้น และให้สังเกตปลา ซึ่งวันเกิดเหตุปลาในทะเล กระเบน กุ้งมังกร มาใกล้ฝั่ง จำนวนมาก โดยเฉพาะที่เกาะแก้ว ห่างจากแหลมตุ๊กแกไม่มากนัก มีปลามาว่ายในแถบนั้น เป็นปลาราหูขนาดใหญ่มาประมาณ 20 ตัว ซึ่งการที่ปลาขนาดใหญ่เข้าฝั่งนั้น น่าจะมีอะไรผิดปกติแน่นอน

นายมณี ประมงกิจ อายุ 66 ปี เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านที่นี่เรียนรู้จากลม เพราะปกติธรรมดา จะสังเกตว่าลมแข็ง ลมเขียวครึ้ม ถ้าเริ่มแบบนี้จะมีทั้งฟ้าฝน ต้องรีบอพยพคนขึ้นที่สูง ก่อนจะหาที่ปลอดภัยหลบซ่อน สิ่งสำคัญต้องสังเกตลมเป็นหลัก ซึ่งชาวบ้านปฏิบัติมายาวนานแล้วจึงไม่มีใครเป็นอะไร

ด้านนางสาวนิด ประมงกิจ ผู้ใหญ่บ้าน เล่าว่า จากการสังเกตทะเลของชาวบ้าน ทำให้ ชาวบ้านทั้ง1,300 คน 250 ครัวเรือน บ้านได้รับความเสียหาย ประมาณ 106 หลังคาเรือน เสียหายยับเยิน 20 หลัง ส่วนเรือเสียหาย 44 ลำ คาดว่าประมาณ 2-3 เดือนชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ แต่โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต เพราะเตือนภัยได้ทัน จึงคิดว่า ประมาณเวลา 4-5 เดือนฟื้นฟูได้หมด

สำหรับชาวบ้านแหลมตุ๊กแกนั้น พื้นเพเดิมอยู่ที่เกาะร้าง ห่างจากแหลมตุ๊กแกประมาณ 10 กม.หลังจากนั้นย้ายมาอยู่เกาะสิเหล่ หรือเกาะร้าง โดยอพยพมาอยู่ที่แหลมตุ๊กแก ประมาณ 45 ปี ส่วนใหญ่อาชีพประมง ขนาดเล็ก แต่เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวเข้ามา ก็มีชาวบ้านบางคนไปรับจ้างทำอาชีพก่อสร้าง และต่อเรือขาย ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนเข้ามารับจ้างในเมือง แต่ส่วนใหญ่ยังคงยึดอาชีพประมง

อย่างไรก็ตาม นอกจากระบบเตือนภัยที่จะสร้างขึ้นในมหาสมุทรอินเดียแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินการ และเรียนรู้ร่วมกันของคนชายฝั่งทะเลคือ เรื่องเล่าจากบรรพบุรุษ ถึงการระมัดระวังเภทภัยจากธรรมชาติ และการเรียนรู้ทะเล เพราะนั่นคือระบบเตือนภัยแบบชาวบ้านที่สามารถรอดชีวิตได้เช่นกัน

รายงาน

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด