ความตกลงว่าด้วยการเกษตร (Agreement on Agriculture) ถือเป็นความตกลงที่สำคัญมากฉบับหนึ่งของผลการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย เป็นการนำสินค้าเกษตรกลับเข้ามาอยู่ภายใต้กรอบกติกาการค้าเสรีระหว่างประเทศ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่สหรัฐฯ ทำให้สินค้าเกษตรอยู่นอกระบบการค้าเสรีโดยการผลักดันในภาคเกษตรได้รับข้อยก เว้นจากข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและศุลกากรหรือแกตต์ปี 1947 เนื่องจากต้องการใช้มาตรการจำกัดการนำเข้า (Import Quota) และการอุดหนุนการส่งออก ( Export Subsidies) ในการคุ้มครองสินค้าเกษตรของตน
ในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวันนั้น การเจราเรื่องสินค้าเกษตรนับเป็นหัวข้อที่มีความขัดแย้งในการเจรจาอย่างมาก หัวข้อหนึ่ง ซึ่งมีผลให้การเจรจาในรอบนี้ต้องล่าช้าไปกว่า 8 ปี ( พ.ศ. 2529 ? 2537) แต่ในที่สุด กติกาเกี่ยวกับการค้าสินค้าเกษตรที่ได้จากการเจรจาในรอบนี้ มีลักษณะเป็นเพียงการกำหนดกรอบพื้นฐานสำหรับการค้าสินค้าเกษตรเพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ในการสร้างระบบการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นธรรมและอิงกลไกตลาด ยังไม่ได้เป็นการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรอย่างแท้จริง ความตกลงยังเต็มไปด้วยข้อยกเว้น ช่องโหว่ และเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกให้การคุ้มครองภาคเกษตรของตนต่อไปได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้มีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพ ยุโรปต้องการประนีประนอมกันเพื่อดำรงการอุดหนุนและการคุ้มครองบางประเภทต่อ ภาคเกษตรไว้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในประเทศของตน
สาระสำคัญของความตกลงว่าด้วยการเกษตร
ความตกลงว่าด้วยการเกษตรมีแกนหลักสำคัญ 3 ประการ คือ การเปิดตลาด การลดอุดหนุนการผลิตภายใน และการลดอุดหนุนการส่งออก โดยมีสาระสำคัญแต่ละเรื่องดังนี้
1.การเปิดตลาด
ก. การลดภาษีศุลกากร ประเทศพัฒนาแล้ว ต้องลดภาษีลงร้อยละ 36 ภายใน 6 ปี แต่ละรายการสินค้าจะต้องลดลงอย่างน้อยร้อยละ 15 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาต้องลดภาษีลงร้อยละ 24 ภายใน 10 ปี แต่ละรายการสินค้าจะต้องลดลงร้อยละ 10
ข. การปรับเปลี่ยนมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากรให้เป็นภาษีนำเข้า เช่น การห้ามนำเข้า การกำหนดโควต้านำเข้า และการกำหนดสัดส่วนการรับซื้อผลผลิตภายในประเทศ (local content requirement) ให้เป็นมาตรการภาษีศุลกากรทั้งหมดโดยกำหนดเป็นปริมาณ โควต้า และเก็บภาษีศุลกากรสินค้าในโควต้าในระดับต่ำ และหากมีการนำเข้าเกินกว่าปริมาณโควต้าที่กำหนดก็จะเก็บอัตราภาษีนอกโควต้า ในอัตราที่สูงมาก
2. การลดอุดหนุนการผลิตภายใน แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ กล่าวคือ
ก. การอุดหนุนภายในที่บิดเบือนตลาด ( Amber Box )
เช่น การประกันราคาขั้นต่ำ การแทรกแซงราคา เป็นต้น โดยสมาชิกต้องลดการอุดหนุนการผลิตภายใน ดังนี้
* ประเทศพัฒนาแล้ว ลดการอุดหนุนภายในลงในอัตราร้อยละ 20 ภายใน 6 ปี หากการอุดหนุนในแต่ละสินค้ามีมูลค่าต่ำกว่าร้อยละ 5 ของมูลค่าการผลิต ไม่ต้องเอามูลค่าการอุดหนุนมาคำนวณในยอดการอุดหนุนรวม
* ประเทศกำลังพัฒนา ลดการอุดหนุนนี้ลงในอัตราร้อยละ 13 ภายใน 10 ปี ซึ่งใช้เวลาที่ยาวนานกว่า หากการอุดหนุนในแต่ละสินค้ามีมูลค่าต่ำกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าการผลิต ไม่ต้องเอามูลค่าการอุดหนุนมาคำนวณในยอดการอุดหนุนรวม
การอุดหนุนภาย ในนี้ กำหนดเป็นยอดปริมาณรวม เพื่อให้รัฐบาลบริหารเงินอุดหนุน นี้ได้ตามความจำเป็น มีความยืดหยุ่นในการใช้ โดยไม่เจาะจงสินค้า
ข. การอุดหนุนภายในที่ไม่บิดเบือนตลาด (Green Box )
เนื่องจากเป็นการอุดหนุนที่ไม่มีผลต่อการผลิตและราคา สินค้า หรือหากมีก็จะน้อยมาก เช่น การอุดหนุนการผลิตเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยและการพัฒนา การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การปรับโครงสร้างการผลิต และการพัฒนาชนบท เป็นต้น สมาชิกสามารถใช้การอุดหนุนการผลิตเหล่านี้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด
ค. การอุดหนุนที่ยกเว้นให้กับประเทศกำลังพัฒนา
การอุดหนุนที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับการยกเว้นให้ใช้ได้ คือ การอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิตและด้านการลงทุน ซึ่งได้แก่ การอุดหนุนเพื่อซื้อเมล็ดพืชและปุ๋ยในราคาถูก การอุดหนุนเพื่อซื้อเครื่องมือ และเครื่องจักร เป็นต้น
3. การลดอุดหนุนการส่งออก
สมาชิกต้องลดการอุดหนุนส่งออกลง ดังนี้
* ประเทศพัฒนาแล้ว ต้องลดปริมาณสินค้าเกษตรที่ได้ให้การอุดหนุนส่งออกลงร้อยละ 21 และลดจำนวนเงินอุดหนุนลงร้อยละ 36 ภายใน 6 ปี
* ประเทศกำลังพัฒนา ต้องลดปริมาณที่ให้การอุดหนุนส่งออกลงร้อยละ 14 และลดจำนวนเงินอุดหนุนลงร้อยละ 24 ภายใน 10 ปี
ประเด็นสำคัญในเรื่องการอุดหนุนส่งออกคือ สมาชิกต้องไม่ให้อุดหนุนเกินกว่าที่ผูกพันไว้ โดยใช้ยอดการอุดหนุนในปีฐาน (พ.ศ. 2529-31) เป็นจุดเริ่มต้น และผูกพันการอุดหนุนส่งออกเป็นรายสินค้า กล่าวคือ สมาชิกไม่สามารถให้การอุดหนุนส่งออกกับสินค้าเกษตรที่ไม่เคยได้รับการอุด หนุนส่งออกในปีฐานได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นให้ประเทศกำลังพัฒนากรณีที่เป็นการอุดหนุนส่งออกเพื่อลด (1) ต้นทุนการตลาดที่รวมถึงต้นทุนในการปรับปรุงคุณภาพสินค้าและการขนส่งระหว่าง ประเทศ ฯลฯ และ (2) ต้นทุนด้านการขนส่งภายใน
โดยสรุปสาระสำคัญของความตกลงว่าด้วยการเกษตร คือ
ประการแรก มีการใช้มาตรการเปิดตลาดขั้นต่ำ (minimum access) และกำหนดอัตราภาษีศุลกากร ( tariffication ) แทนมาตรการจำกัดการนำเข้า และกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องกำหนดอัตราภาษีศุลกากรขั้นสูงสำหรับสินค้าเกษตร ทั้งหมดด้วย
ประการที่สอง ยอมให้มีการอุดหนุนภายในได้ แต่มีเงื่อนไขให้ต้องลดการอุดหนุนลง
ประการที่สาม มีกติกาห้ามการอุดหนุนสินค้าส่งออกชนิดใหม่ ส่วนการอุดหนุนการส่งออกที่เคยทำมาแล้ว สามารถอุดหนุนต่อไปได้ แต่ต้องมีการลดงบประมาณและจำนวนสินค้าที่ได้รับการอุดหนุน
ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาสามารถปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ( special and differential treatment) เช่น เงื่อนไขเวลา ปริมาณการคุ้มครอง การลดปริมาณการอุดหนุน เป็นต้น
พันธะกรณีของประเทศไทยภายใต้ความตกลงว่าด้วยการเกษตร
ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการเกษตร ดังนี้
* การปรับลดภาษี : ไทยต้องลดภาษีสินค้าเกษตรทุกรายการรวม 740 รายการ โดยเฉลี่ยร้อยละ 24 ภายใน 10 ปี ( ภายในปี 2547) อัตราภาษีโดยเฉลี่ยของประเทศไทยก่อนที่จะลดอยู่ในระดับร้อยละ 49
* การปรับเปลี่ยนมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากรเป็นมาตรการ โควต้าภาษี : ดำเนินการกับสินค้า 23 รายการ ได้แก่ น้ำนมและนมปรุงแต่ง, นมผงขาดมันเนย, มันฝรั่ง, หอมหัวใหญ่, เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่, มะพร้าว, มะพร้าวเนื้อแห้ง, น้ำมันมะพร้าว, เมล็ดกาแฟ, กาแฟสำเร็จรูป, ชา, พริกไทย, กระเทียม, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ข้าว, ถั่วเหลือง, กากถั่วเหลือง, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันปาล์มและน้ำมันเมล็ดในปาล์ม, น้ำตาล, ใบยาสูบ, เส้นไหมดิบ และลำไยแห้ง
* การลดการอุดหนุนการผลิตภายใน : ต้องลดการอุดหนุนการผลิตการเกษตรที่เป็นการบิดเบือนตลาด เช่น การประกันราคา และการแทรกแซงราคา จากจำนวนเงิน 21,816.41 ล้านบาทในปี 2538 ให้เหลือ 19,028.48 ล้านบาทในปี 2547 ซึ่งหมายความว่าไทยยังสามารถให้การอุดหนุนโดยใช้มาตรการดังกล่าวต่อไปได้ แต่จะเกินกว่าเพดานที่กำหนดนี้ไม่ได้
* การอุดหนุนการส่งออก : เนื่องจากในปีฐานไทยไม่ได้ให้การอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ไทยจึงไม่สามารถให้การอุดหนุนการส่งออกได้
การเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่
เนื่องจากความตกลงว่าด้วยการเกษตรในปัจจุบันมีลักษณะเป็นกรอบพื้นฐานสำหรับ การค้าสินค้าเกษตร การเจรจายังไม่จบสิ้น ประเทศภาคีจึงเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องมีการเจรจากันอีกเพื่อกำหนดกติกาการ ค้าในขั้นต่อไป ซึ่งได้กำหนดไว้ในมาตรา 20 ของความตกลงว่าด้วยการเกษตร ให้มีการเจรจาการค้าสินค้าเกษตรครั้งต่อไป 1 ปี ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการปฏิบัติตามข้อผูกพัน ( ปี 2543) ดังนั้น คณะมนตรีใหญ่ขององค์การการค้าโลกจึงประกาศให้เริ่มการเจรจาสินค้าเกษตรรอบ ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 โดยให้ดำเนินการเจรจาภายใต้การประชุมของคณะกรรมการด้านการเกษตรสมัยพิเศษ
ช่วงการเจรจาในรอบนี้แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 23-24 มีนาคม 2543 ถึง 26-27 มีนาคม 2544 เป็นช่วงรวบรวมข้อเสนอของประเทศสมาชิกต่างๆ โดยมีการยื่นข้อเสนอมาทั้งหมด 45 ฉบับจากจำนวน 126 ประเทศ ในจำนวนนี้กว่าครั้งหนึ่งมาจากประเทศกำลังพัฒนา ข้อเสนอที่ยื่นเข้ามาส่วนใหญ่ในช่วงนี้เป็นเพียงข้อเสนอแบบกว้างๆ ครอบคลุมเรื่องสำคัญในการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรทุกเรื่อง ที่มีข้อเสนอที่ระบุเรื่องที่ต้องจัดระเบียบใหม่อย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ข้อเสนอของกลุ่มแคร์นส์ ( Crains Group) และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีเนื้อหาทั้งเรื่องการอุดหนุนการส่งออก การควบคุมการให้สินเชื่อส่งออก การอุดหนุนภายในประเทศที่บิดเบือนการค้า และเรื่องการเข้าถึงคลาด สำหรับสหภาพยัโรปได้เสนอหัวข้อใหม่ในการเจรจาสินค้าเกษตร คือ Non-trade Concerns
ช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 26-27 มีนาคม 2544 ถึง 4-7 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นการประชุมในรายละเอียดของข้อเสนอต่างๆ แต่เป็นการเจรจาที่ไม่เป็นทางการ เพื่อนำไปสู่กรอบเจรจาในการปรับปรุงกฎกติกาสำหรับการค้าสินค้าเกษตร
ในระหว่างการเจรจาในช่วงที่ 2 นี้ ได้มีการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 4 ขององค์การการค้าโลกที่เมืองโดฮา ประเทศการ์ต้า ในเดือนพฤศจิกายน 2544 การประชุมครั้งนี้ได้ข้อสรุปให้มีการเปิดการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่ (เรียกว่ารอบโดฮา) และได้ประกาศให้การเจรจาสินค้าเกษตรเป็นหัวข้อหนึ่งของการเจรจาการค้ารอบ ใหม่นี้ด้วย (ก่อนหน้านี้เป็นการเจรจาเรื่องสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ) ตามปฏิญญาโดฮาได้มีการกำหนดจุดมุ่งหมายและกรอบกว้างๆ ของข้อตกลงสำหรับการเจรจา รวมทั้งได้กำหนดเส้นตายในการร่างกรอบการเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2546 ก่อนการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 5 ขององค์การการค้าโลก ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2546
ช่วงที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2545 ถึง 31 มีนาคม 2546 เป็นช่วงการเจรจาการค้าสินค้าเกษตร ( Modalities Phase) ในช่วงนี้แต่ละฝ่ายได้พยายามผลักดันให้การเจรจาเสร็จสิ้นตามกรอบเวลาที่ กำหนดไว้
ประธานการประชุมสมัยพิเศษของคณะกรรมการด้านการเกษตรของ องค์การการค้าโลก นายสจ็วต ฮาร์บินสัน ( Stuart Harbinson ) ได้ร่างกรอบการเจรจาที่รวบรวมจากข้อเสนอที่ประเทศสมาชิกต่างๆ เสนอเข้ามาในการเจรจาระยะที่ 1 และ 2 และเสนอร่างที่แก้ไขแล้วให้แก่สมาชิกเพื่อใช้ในการประชุมวันที่ 25 ?31 มีนาคม 2546 ในร่างนี้หัวข้อหลักของการเจรจา มี 3 หัวข้อ คือ
1. การเข้าถึงตลาด มีประเด็นเรื่องการลดอัตราภาษีศุลกากร เรื่องโควต้าของภาษีศุลกากร และบทบัญญัติว่าด้วยการปกป้องพิเศษ ( Special Safeguard Provision : SSG)
2. การแข่งขันการส่งออก มีประเด็นเรื่องการอุดหนุนการส่งออก เรื่องเครดิตการส่งออก
3. การอุดหนุนภายใน มีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงมาตรการ เงื่อนไขของการลดการอุดหนุนในประเภทต่างๆ ที่อยู่ใน Green Box ( มาตรการอุดหนุนที่ไม่มีผลต่อการบิดเบือนทางการค้าหรือมีผลเล็กน้อย), Amber Box และ Blue Box ( มาตรการอุดหนุนที่มีผลต่อการบิดเบือนทางการค้า)
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง ( Special and Differential Treatment : S&D ) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา และหัวข้อ Non-Trade Concerns เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาด้วย
กลุ่มแคร์นส์และประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากเห็นด้วยกับ ร่างกรอบการเจรจาของฮาร์บินสันที่เป็นกรอบกว้างๆ และเห็นด้วยกับสูตรการลดภาษีศุลกากรของร่างฉบับฮาร์บินสัน นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนาก็เห็นด้วยกับมาตรการให้สิทธิประเทศกำลังพัฒนา กำหนดสินค้ากลุ่มพิเศษ แต่มีข้อโต้แย้งกันในเรื่องการนำสินค้าเข้ากลุ่ม โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนนำโดย อินโดนีเซีย อินเดียและจีน เสนอให้แต่ละประเทศเป็นผู้กำหนดเอง แต่ประเทศกลุ่มละตินอเมริกาและกลุ่มแคร์นส์เห็นว่า วิธีดังกล่าวจะเป็นการสร้างเครื่องมือกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น
ผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกาเสนอว่า ข้อตกลงในกรอบการเจรจาควรมีความเข้มแข็งพอที่จะทำให้การลดการอุดหนุนภายใน ประเทศเป็นไปอย่างเสมอภาค และต้องทำให้สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อตกลง ได้ ในขณะที่สหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้ปฏิรูปข้อตกลงสินค้าเกษตรให้ครอบคลุม มาตรการเพื่อการควบคุมการให้สินเชื่อการส่งออก โดยเห็นว่าเป็นมาตรการที่มีผลบิดเบือนการค้า
ทางฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชน และอินเดียที่กล่าวในนามตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาได้เรียกร้องให้ไม่ยอมรับ ร่างของฮาร์บินสัน เนื่องจากร่างดังกล่าวทำให้การทุ่มตลาดยังคงอยู่ และไม่ได้ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการอุดหนุนการส่งออกและการอุดหนุนภายใน ประเทศเท่าที่ควร แต่กลับให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องลดภาษีนำเข้าเป็นจำนวนมาก
ในที่สุดเมื่อถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 จึงมีการประกาศว่าการร่างข้อตกลงในการเจรจาสินค้าไม่เสร็จสิ้นตามกำหนด เนื่องจากประเทศสมาชิกต่างแสดงจุดยืนที่แตกต่างกัน และไม่มีฝ่ายใดจะถอยจากจุดที่เริ่มต้น อย่างไรก็ตามแม้การประชุมจะไม่เป็นไปตามที่กำหนด สมาชิกต่างก็ยินดีที่จะเจรจาเพื่อร่างกรอบการเจราต่อไปเพื่อให้ทันการประชุม ที่เมืองแคนคูน
หลังจากนั้น ยังคงมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหารือในรายละเอียดของร่างกรอบการ เจรจาของฮาร์บินสัน แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสมของร่างฉบับฮาร์บินสันที่จะใช้เป็นกรอบ การเจรจาต่อไป จึงมีหลายประเทศที่เริ่มหากรอบการเจรจาใหม่
กลางเดือนกรกฎาคม 2546 นายคาร์ลอส เปเรส เดล คัสติโย ( Carlos Perez del Casstillo ) ประธานคณะมนตรีทั่วไปขององค์การการค้าโลก ( WTO General Council) ได้เสนอร่างกรอบการเจรจาที่ไม่ม่ความเกี่ยวโยงกับร่างฉบับฮาร์บินสันแต่ อย่างใด ร่างที่เสนอเป็นการเสนออย่างหยาบๆ ไม่มีการระบุรายละเอียดด้านตัวเลข เนื่องจากคัสติโยต้องการให้มีการเจรจาภายหลังการประชุมที่แคนคูน จึงทำให้ร่างฉบับดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก
ในเดือนสิงหาคม ทางสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้เสนอข้อตกลงร่วมกัน ( Joint Text ) เพื่อใช้เป็นกรอบในการเจรจาการค้าสินค้าเกษตรที่แคนคูน เพื่อกระตุ้นการเจรจาเรื่องสินค้าเกษตรที่อยู่ในสภาวะหยุดนิ่ง เนื้อหาโดยรวมของข้อตกลงร่วมนี้เป็นไปตามความต้องการของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เช่น ให้ลดการอุดหนุนที่มีผลต่อการบิดเบือนทางการค้า แต่ไม่ให้ลดการอุดหนุนของมาตรการใน Blue Box ส่วนมาตรการที่มีผลต่อการบิดเบือนทางการค้าเพียงเล็กน้อยให้จำกัดไว้ที่ร้อย ละ 5 ของผลิตภัณฑ์เกษตรรวม,ให้ลดการอุดหนุนส่งออก ไม่ใช่การขจัดให้หมดไป ฯลฯ
ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่างข้อเสนอร่วม เนื่องจากไม่ได้กำหนดให้มีการขจัดการอุดหนุนการส่งออกให้หมดไป ข้อเสนอเรื่องการเข้าถึงตลาดมีความคลุมเครือ และไม่มีการกำหนดการเจรจาเรื่อง S&D นอกจากนี้ยังเห็นว่า การที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเสนอร่างข้อเสนอดังกล่าวก็เพื่อแสดงตนในฐานะผู้นำการเจรจาการ ค้า ถ้ายอมรับข้อเสนอนี้จะทำให้เป็นการลดบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในการร่างข้อ ตกลงว่าด้วยการเกษตร
ผลจากร่างข้อเสนอร่วมนี้ทำให้กลุ่มประเทศต่างๆ ต้องหารือกันเพื่อเสนอร่างกรอบการเจรจาของตนเองบ้าง ที่สำคัญคือ ร่างของกลุ่ม G-20 ซึ่งเป็นร่างข้อเสนอร่วมของอาร์เจนติน่า บราซิล โบลิเวีย จีน ชิลี โคลัมเบีย คอสตาริก้า แอลกวาดอร์ กัวเตมาลา อินเดีย เม็กซิโก ปารากวัย เปรู ฟิลิปปินส์ กลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศไทย ( ประเทศส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม G-20) ร่างนี้มีเนื้อหาแตกต่างจากร่างข้อเสนอร่วมในหลายประเด็น เช่น กำหนดให้การอุดหนุนทั่วไปที่บิดเบือนการค้าระหว่างประเทศจะต้องลดลง, จะต้องขจัดการอุดหนุนภายในที่ให้แก่สินค้าส่งออกให้หมดไป, ขจัดมาตรการใน Blue Box , ขจัดการอุดหนุนการส่งออกให้หมดไปในประเภทสินค้าที่ประเทศกำลังพัฒนามีผล ประโยชน์ เป็นต้น
เมื่อถึงการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกที่เมือง แคนคูน การเจรจาในหัวข้อสินค้าเกษตรมีความขัดแย้งกันมากที่สุด เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างไม่ยอมผสานความต้องการของ แต่ละฝ่าย โดยประเทศพัฒนาแล้วได้พยายามผลักดันในประเทศกำลังพัฒนาเปิดโอกาสการเข้าถึง ตลาดให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่ยอมลดการอุดหนุนที่ให้แก่ภาคเกษตรกรรมของตนซึ่งมี อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาไม่พอใจ ในที่สุดการประชุมในวันที่ 14 กันยายน 2546 จบลงโดยไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงแต่คำแถลงของการประชุมรัฐมนตรี ( Ministerial Statement) อย่างสั้นๆ ระบุถึงการประชุมในขั้นต่อไปเพื่อหาทางให้การเจรจาเดินต่อไปได้
การเจรจาการค้าสินค้าเกษตร...จากพหุภาคีสู่ FTA
ภายหลังการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่แคนคูนเกิด ความล้มเหลว กระแสการเจรจาการค้าได้มีแนวโน้มมุ่งสู่การเจรจาแบบทวิภาคีและภูมิภาคเพื่อ จัดทำเขตการค้าเสรี ( Free Trade Area :FTA) มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ความไม่คืบหน้าของการเจรจาในองค์การการค้าโลกได้ถูกอ้าง เป็นเหตุผลหลักในการเร่งผลักดันจัดทำเขตการค้าเสรีของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ประเด็นที่ควรตระหนัก คือ สาเหตุสำคัญที่การเจรจาใน WTO ไม่มีความคืบหน้าเป็นเพราะ ท่าทีของประเทศพัฒนาแล้วที่พยายามจะยึดกุมเนื้อหาการเจรจาเพื่อปกป้องผล ประโยชน์ของตนเหมือนเช่นที่ได้เคยทำในอดีต เช่น การเสนอร่างข้อเสนอร่วม ( Joint Text) ในเรื่องสินค้าเกษตรของสหรัฐฯและสหภาพยุโรป การที่สหภาพยุโรปผลักดันในมีการเจรจาในหัวข้อใหม่หรือที่เรียกว่า Singapore Issuesเป็นต้น ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาซึ่งมีบทเรียนความเจ็บช้ำผ่านมาจาก การเจรจารอบอุรุกวัย ได้รวมกลุ่มกันคัดค้านต่อต้านอย่างมาก ประเทศพัฒนาแล้วที่เห็นว่าการเจรจาแบบพหุภาคีในองค์การการค้าโลกเริ่มมี เนื้อหาที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน จึงหันไปใช้ยุทธศาสตร์การเจรจาแบบทวิภาคี
กระแสการเจรจาจัดทำ FTA ที่กำลังโหมสะพัดอย่างรุนแรงในยุคนี้จึงเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศพัฒนาแล้ว ที่พยายามจะรักษาผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศของตนเองไว้ อาศัยอำนาจต่อรองที่มีมากกว่ามาเจรจาในลักษณะทวิภาคีเพื่อรักษาความได้ เปรียบในการเจรจาเอาไว้
ในกรณีของประเทศสหรัฐ ตั้งแต่หลังจบการเจรจาที่แคนคูน นายโรเบิรต์ โซลลิก ( Robert Zoelick) ผู้แทนการค้าของสหรัฐ ได้กล่าวโทษท่าทีของประเทศกำลังพัฒนาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้การประชุมไม่ก้าว หน้า และได้เน้นย้ำว่าทางสหรัฐฯ จะใช้การทำความตกลงการค้าแบบทวิภาคีและระดับภูมิภาคเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกใน ระหว่างที่การเจรจาพหุภาคีไม่มีความคืบหน้า เป็นที่น่าสังเกตว่า สหรัฐฯ ได้เตรียมช่องทางการเจรจาเชิงรุกแบบทวิภาคีไว้เป็นอย่างดี มีการจัดทำร่างกฎหมายการเจรจาการค้า ( Trade Promotion Authority Bill ) ซึ่งเริ่มจัดทำตั้งแต่ก่อนปี 2544 ( ก่อนการประกาศเจรจาการค้ารอบใหม่ที่โดฮาปลายปี 2544) และมาผ่านสภาครงเกรสสหรัฐในปี 2545 กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจการทำสนธิสัญญาการค้าแบบ ?Fast -Track? แก่ฝ่ายบริหาร เพื่อเร่งกระบวนการเจรจาการค้าแบบทวิภาคี
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าการประชุมเจรจาในหัวข้อต่างๆ ภายใต้องค์การการค้าโลกภายหลังการประชุมที่แคนคูน ก็ถูกสหรัฐฯ คัดค้านอย่างหนัก เช่น กรณีการเจรจาในเรื่องการทบทวนข้อยกเว้นการให้สิทธิบัตรในความตกลงทริปส์ ฯลฯ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเมื่อถึงเดือนมกราคม 2548 จะไม่สามารถสรุปผลการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาตามกำหนดที่มีอยู่ได้ ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมมากยิ่งขึ้นต่อประเทศสหรัฐฯ ในการเร่งผลักดันการเจรจาแบบทวิภาคีต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อการสลายจุดยืนและการรวมกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนาอีกทางหนึ่ง ด้วย และในที่สุดเป็นที่คาดการณ์ว่า ภายหลังจากที่สหรัฐฯ สามารถเจรจาทำ FTA กับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ได้มากเพียงพอ โดยมีเนื้อหาข้อตกลงตามที่สหรัฐต้องการแล้ว สหรัฐฯ จะหันกลับไปผลักดันการเจรจาในองค์การการค้าโลกอีกครั้ง เพื่อสร้างมาตรฐานของระเบียบการค้าโลกในรูปแบบพหุภาคีตามเนื้อหาที่สหรัฐฯ ต้องการจากฐานเนื้อหาข้อตกลงที่ได้ไปทำ FTA กับประเทศต่างๆ ไว้แล้ว
โลกยุคหลังการประชุมที่แคนคูน จึงเป็นกระแสของผลักดันกระตุ้นให้เกิดการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี และภูมิภาคในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยมีจุดก่อเกิดจากแรงผลักดันของประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องการจะยึดกุมการจัดทำ ระเบียบการค้าโลกเอาไว้ มูลเหตุและวาระซ่อนเร้นในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนา พึงตระหนักเอาไว้