บันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อคัดค้านเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ วันที่ 9-11 มกราคม 2549 บนแผ่นดินล้านนา

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

เมื่อตอนค่ำของวันที่ 8 มกราคม 2549 นั้น พวกเราจากทุกกลุ่มทะยอยมาถึงกันเกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายป่าไม้ ที่ดินจากภาคใต้ซึ่งเดินทางด้วยรถไฟจากหาดใหญ่-สุราษฎร์ซึ่งต้องใช้เวลาสอง วันสองคืนก่อนที่จะมาถึงในตอนเช้าของวันที่ 9 มกราคม การชุมนุมครั้งนี้เป็น ข่าวใหญ่มาสองสามวันแล้วเนื่องจากพวกเราได้แถลงข่าวการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีผู้ สื่อข่าวเข้าร่วมการแถลงข่าวมากกว่า 40 คน ห้องประชุมชั้นสองของสมาคมจึงแน่นขนัดจนนักข่าวบางคนไม่สามารถหาที่นั่งได้ จนต้องนั่งกับพื้นห้อง  พวกเราคาดหมายอยู่แล้วว่านี่ จะเป็นข่าวใหญ่แน่นอนเนื่องจากเป็นการประกาศชุมนุมการเคลื่อนไหวใหญ่ที่มี ผู้เข้าร่วมมากกว่า 10,000 คน โดยเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 11 องค์กร ในขณะที่การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย-สหรัฐฯนั้นกำลังงวดเข้าๆทุกที

หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวการแถลงข่าวของเราในหน้าหนึ่ง ตั้งแต่วันที่แถลงข่าวแล้ว บางฉบับทำการบ้านมาเป็นอย่างดีโดยปูข่าวการเคลื่อนไหวและการเจรจา มาตั้งแต่วันที่ 6 มีการนำเอาบทความและเอกสารประกอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติลง ติดต่อกันยาวเหยียด หนังสือพิมพ์หลายฉบับนำเอาภาพการเคลื่อนพลของกลุ่มผู้ชุมนุมที่หาดใหญ่ลงตีพิมพ์ในหน้าแรก สร้างภาพลักษณ์ให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้คึกคักอย่างยิ่ง

บริเวณที่รกร้างตรงข้ามสถานีรถไฟเชียงใหม่เมื่อค่ำของวัน ที่ 8 นั้น ทุกคนซักซ้อมความเข้าใจในการเคลื่อนไหว ซ้อมการจัดขบวน ร้องเพลง และการตะโกนหยุดเอฟทีเอ ผ้าพันคอ ผ้าโพกหัว ธงเล็กๆถูกแจกจ่ายออกไปทั่วๆ เรารวมพลกันเป็นกลุ่มๆ โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดคือเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ รองลงมาคือเครือ ข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กลุ่มที่เหลือก็ลดหลั่นลงมา รวมกำลังประมาณ 10,000 คน น่าขำที่รัฐมนตรีมหาดไทยพลเอก คงศักดิ์ วันทนา แถลงข่าวเมื่อเย็น วันที่ 8 ว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมมีประมาณ 300-400 คนเท่านั้น และต่อมาเขาต้องให้สัมภาษณ์ใหม่เมื่อวันที่ 9 ว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมมีจำนวนมากขึ้นจนผิดปกติ คุณภาพการข่าวและคุณภาพรัฐมนตรีมหาดไทยแบบนี้เองที่ทำให้การแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ยิ่งแก้ก็ยิ่งขยายลุกลามไปยิ่งขึ้น

เช้าวันที่ 9 มกราคม 2549 พวกเราตื่นกันตั้งแต่เช้าท่ามกลางอากาศค่อนข้างหนาว รถขบวนเริ่มเปิดเพลงปลุกเร้า ดวงตาของทุกคนมีประกายมุ่งมั่น ธง ป้าย ผ้า ถูกชูขึ้นพรึ่บ รอสัญญาณจากผู้นำที่อยู่ข้างหน้า และแล้วขบวนก็ค่อยๆเคลื่อนจากบริเวณหน้าสถานีรถไฟ แถวหน้ากระดานเรียง 5 ยาวเหยียดของเราเริ่มเคลื่อนพลเมื่อประมาณ 9.00 น. เครือข่าย 11 เครือข่ายที่ร่วมเดินกันประกอบไปด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทาง เลือก สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค จ.ลำปาง สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายสลัมสี่ภาค สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย สมัชชาคนจน สหพันธ์ นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน เครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และองค์กรพันธมิตรแรง งาน และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน แต่กว่าผู้ชุมนุมชุดสุดท้ายจะออกจากจุดระดมพลได้ก็ใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง มองจากท้ายขบวนไม่เห็นหัวขบวนแต่เราก็สื่อสารเชื่อมขบวนกันโดยใช้รถขยายเสียง และมีผู้ประสานงานกลุ่มผ้าพันคอสีแดงคอยดูแลขบวนให้เป็นระเบียบ

แถวขบวนของเราออกเดินไปตามท้องถนนเจริญประเทศ มุ่งหน้าไปยังสะพานนวรัฐ เป้าหมายคือสถานกงศุลสหรัฐอเมริกาประจำเชียงใหม่  เสียงเพลงมาร์ชปลุกเร้า "โซลิดาริตี้" หรือ "สานใจคนเดินดิน" ก้องกังวาลไปทั่ว ผู้ชุมนุมหลายคนซึ่งคุ้นเคยเพลงนี้มาบ้างแล้วร้องเพลงด้วยเสียงอันดัง บางคนที่ยังไม่คุ้นเคยก็ร้องคลอตามไป หลายคนยกกำปั้นชูขึ้นไปบนอากาศเมื่อถึงท่อนที่ว่า "พวกเราเหล่ากรรมกรและชาวนา สู้"   ในท่ามกลางบรรยากาศเช่นนั้น เราทุกคนถูกหล่อหลอมจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และพร้อมที่จะเดินหน้าเพื่อแสวงหาชัยชนะร่วมกัน

เมื่อถึงสะพานนวรัฐ  แถวขบวนของเราทุกคนหยุดเพื่อทำพิธีกรรมบวงสรวงครูบาศรีวิชัย ครูบาเจ้าแห่งล้านนา จากนั้นเคลื่อนผ่าน ตลาดวโรรส  และหยุดตรงบริเวณหน้าสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา จ.เชียงใหม่  พิธีกรรมตัดไม้ข่มนามเริ่มขึ้น ณ จุดนั้น เพชฌฆาตหน้าตาถมึงทึง แต่งกายเหมือน นักรบไทยในตำนาน ยืนอยู่หน้าหุ่นสองตนที่เป็นตัวแทนการเจรจาของสองฝ่าย เราตาแทบไม่กระพริบเมื่อเพชฌฆาตเริ่มร่ายรำดาบเหมือนลีลาการประหาร ชีวิตจริงๆที่เกิดขึ้นในอดีต หลายคนลืมคิดไปว่านี่คือการแสดง จนเมื่อหุ่นผู้นำเจรจาของสองฝ่ายหลุดออกจากบ่ากลิ้งลงบนพื้น ผู้ร่วมชุมนุมจึงร้องตะโกนอื้ออึงขึ้นพร้อมกัน ... พิธีกรรมแรกที่เป็นการเปิดฉากการต่อต้านเอฟทีเอครั้งใหญ่ที่สุดได้เริ่มต้นขึ้นแล้วด้วยความฮึกเหิม 

ตัวแทนของเรายื่นหนังสือถึงนาย Scott Mansen รองกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำ จ.เชียงใหม่ ถึงหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอ ของฝ่ายสหรัฐ  ในหนังสือนั้นบอกว่าประชาชนในประเทศไทยไม่ต้องการเห็นการเจรจาเอฟทีเอเกิดขึ้น เพราะมันเป็นข้อตกลงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเกษตรกรและคนไทยทุกคน ในขณะ ที่มีผู้ได้ประโยชน์เป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล  เนื้อหาและกระบวนการเจรจาที่ผ่านมาทั้งหมดไม่เคยถูกเปิดเผย ไม่มีความโปร่งใส และไม่ผ่านการพิจารณาจากกระบวนการ ทางรัฐสภา พวกเราประกาศว่า เรามาที่นี่เพื่อทำทุกวิถีทางที่จะทำให้การเจรจายุติ  อเมริกันหนุ่มคนนั้นรับปากว่าจะนำหนังสือยื่นต่อหัว หน้าคณะเจรจา Babara Weisen และนั่นเป็นการคุยครั้งสุดท้ายกับพวกเขา เราเคยทำหนังสือถึงประธานาธิบดีและผู้นำในรัฐสภาของเขา เรา ได้อธิบายสิ่งที่สังคมไทยจะได้รับผลกระทบมาหลายครั้งและไม่เคยได้รับคำ ตอบกลับมา พวกนักเจรจาเหล่านั้นเดินทางมาแผ่นดินของเราเพื่อบอกว่าพวกเขาต้องการอะไรจากเรา แต่ไม่เคยฟังว่าพวกเราจะยากลำบากเช่นไรจากสิ่งที่เขาเอาจากเราไป

ระหว่างการเคลื่อนขบวน  พวกเราแจกจ่ายแผ่นพับเล็กๆให้กับคนเชียงใหม่  ข้างในแผ่นพับบรรจุเนื้อหาง่ายๆที่อธิบายเรื่องผลกระทบจากสิทธิบัตรยา สิทธิบัตร สิ่งมีชีวิตที่มีต่อคนไทยและทรัพยากรชีวภาพของเรา รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรจนพวกเขาต้องล่มสลาย ที่มีหน้าปกของแผ่นพับนั้นสะดุดตาเพราะมีภาพวาดชาย สองคนซึ่งหน้าละม้ายคล้ายผู้นำของไทยและสหรัฐกอดคอยิ้มร่าดึงดูดสายตาคนที่ ได้รับเป็นอันมาก  แผ่นพับนี้ไม่มีชื่อแต่ต่อมาภายหลังเมื่อ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหวันบอกว่าอยากได้แผ่นพับ "กุ๊ยสองคน" ไปให้นักข่าวต่างประเทศ ชื่อของแผ่นพับก็เป็นที่รับรู้กันตั้งแต่บัดนั้น

ขบวนพักรับประทานอาหารกันที่ประตูท่าแพ  ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณหน้าโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง หนึ่งในสองโรงแรมที่เป็นสถานที่เจรจา "ขายประเทศ"

ที่หน้าโรงแรมตำรวจหลายร้อยนายระดมกำลังนำแผงเหล็กมากั้นปิดทางเข้าออก พวกเราบางส่วนลัดเลาะไปสืบข่าวพบว่ามีตำรวจอีกหลายร้อยและบางทีอาจถึงพันนายกระจายกำลังสำรองอยู่ด้านหลังและด้านในโรงแรม บน รถนำขบวน ผู้นำจากเครือข่ายเกษตร ผู้ติดเชื้อ และเครือข่ายอื่นๆหมุนเวียนขึ้นปราศรัยอธิบายให้ทราบว่า เอฟทีเอทำให้ราคายาแพงขึ้นอย่างไร เกษตรกรภาคเหนือ และภาคอื่นๆล่มสลายลงเพราะเอฟทีเอที่รัฐบาลลงนามกับจีนและออสเตรเลีย แล้วอย่างไร และหายนะอะไรยิ่งกว่าที่จะส่งผลกระทบต่อพวกเราทั้งหมดหากรัฐบาลลงนามกับสหรัฐอเมริกา

ขบวนของเราได้รับความสนใจยิ่งทั้งจากคนไทยและต่างประเทศ หลายคนปรบมือให้เรา และหลายคนเดินเข้ามาถามให้เราอธิบายว่าทำไมเราถึงมาชุมนุมกัน หลาย คนขอถ่ายรูปร่วมกับพวกเราและจับมือให้กำลังใจเมื่อรู้ว่าเรากำลังต่อสู้กับ อะไรอยู่  เราพบว่าเกือบทุกคนที่มีโอกาสได้ฟัง ได้อ่าน ได้พูดคุยกับเรา ล้วนแล้วแต่สนับสนุนเราแทบทั้งสิ้น  เราได้ประเมินเรื่องนี้กันอีกครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ เราพบว่ามีเพียงพ่อค้าคนสองคน กับคนขับรถไม่กี่คนที่แสดงออกว่าไม่พอใจที่เรา ทำให้ภารกิจของเขาสะดุดหยุดลงชั่วคราว  แต่เอาเถิดหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไปพวกเขาจะเข้าใจมากขึ้น  พี่น้อง ญาติมิตร และลูกหลานของพวกเขาไม่คนใดก็คนหนึ่งจะขอบคุณขบวนการต่อสู้เรื่องเอฟทีเอที่ได้รักษาอนาคตของแผ่นดินและชีวิตของพวกเขาเอาไว้

เมื่อบ่ายแก่ๆขบวนเราเคลื่อนขบวนกลับไปชุมนุมกันที่ประตู ท่าแพอีกครั้งหนึ่ง เวทีวิชาการชั่วคราวถูกติดตั้งขึ้นบนรถบรรทุกนำขบวน  ผู้นำอภิปรายทางวิชาการประกอบไปด้วย  ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์  จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการ ต่างประเทศ วุฒิสภา นพ.นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภาผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาสิทธิมนุษยชน  ดร.เจษฎ์ โทณวินิก คณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม และคุณบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ จากโครงการยุทธศาสตร์ฐานทรัพยากร ปีนขึ้นไปอภิปรายบนเวที วิเคราะห์ให้เห็นเบื้องหน้าเบื้องหลังเกี่ยวกับเอฟทีเอไทย-สหรัฐทุกแง่มุม นี่อาจเป็นเวทีวิชาการครั้งแรกที่มีผู้เข้าร่วมฟัง การอภิปรายของพวกเขามากที่สุดนับหมื่นคน แต่อาจจะไม่ใช่การอภิปรายครั้งสุดท้าย และผู้ที่เข้าฟังการอภิปรายแบบนี้อาจมากกว่านี้หลายเท่าหากว่าหากรัฐบาลยังคงดึงดันเดินหน้าทำเอฟทีเอกับสหรัฐต่อไป

 

ขบวนของเรากลับจากประตูท่าแพเมื่อตอนสองทุ่มกว่า กลับมาที่ศูนย์ชุมนุมพลหน้าสถานีรถไฟ คืนนั้นอากาศหนาวเย็น น้ำค้างพร่างพรมจนเสื่อที่ปูบนพื้นหญ้าและเสื้อผ้า ของหลายคนเปียกชุ่ม ไม่มีใครบอกได้ว่าเราจะได้กลับมานอนที่นี่ ? ในพื้นคอนกรีตของที่คุมขัง ? หรือที่นอนอบอุ่นในบ้านของเราเอง ? แต่ใครจะสนใจเรื่องแบบนี้เล่า ? ในเมื่อภาระกิจของเราคือการหยุดยั้งเอฟทีเอ และทวงคืนประเทศไทยของเรากลับมา

***************************************************
บันทึกวันที่ 10 มกราคม 2549 โดย ประชาไท
รายงาน : ‘ก้าวห้าก้าว กราบหนึ่งครั้ง’ อาวุธต้าน FTA
 

“เหล่าประชาชน ลุกขึ้นยืนผจญ
ด้วยใจเต็มล้น คัดค้านการค้าเสรี
จุดไฟในวิญญาณ ปลุกตำนานคนจน
รวมหมู่มวลชน เอาชีวิตเป็นเดิมพัน...”

 บทเพลง ‘สานใจคนเดินดิน’ ดังก้องไปทั่วท้องถนน เมื่อผู้คนที่เรียกกันว่า ‘องค์กรประชาชนต้านการเปิดการค้าเสรีและแปรรูปประเทศไทย’ ประมาณ 10,000 คน ได้เคลื่อนขบวนจากหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ มุ่งหน้าไปทางด้านตะวันตกของเมืองเชียงใหม่

ครั้นเมื่อถึงบริเวณหัวสะพานนวรัฐที่พาดผ่านข้ามแม่น้ำ ปิง ขบวนประชาชนที่ย่างก้าวมาเป็นทิวแถวยาว หยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น เบื้องหน้าของขบวน มีชายคนหนึ่งยืนถือรูปของครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ด้านข้างมีชายสูงวัยจุดธูปปล่อยควันลอยคลุ้งไปทั่ว

ด้านหลัง ขบวนประชาชนนับเรือนหมื่นยืนสงบนิ่ง เมื่อยินเสียงเป่านกหวีดดังขึ้น ทุกคนย่อตัวคุกเข่านั่ง ก่อนก้มลงกราบกับพื้นถนนอย่างช้าๆ ก่อนลุกขึ้นยืนก้าวเดินต่อไป

 ก้าวห้าก้าว ก้มกราบหนึ่งครั้ง...ก้าวห้าก้าว ก้มกราบหนึ่งครั้ง

“นี่คือ บทกราบคารวะแผ่นดิน ของเครือข่ายองค์กรประชาชนทั่วประเทศ ที่ต้านเขตการค้าเสรีแปรรูปประเทศไทย...” เสียงประกาศดังก้องมาจากกลางขบวน

 ก้าวห้าก้าว ก้มกราบหนึ่งครั้ง
“ขอกราบครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา พระอริยะเจ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา ความดี และความงามอันบริสุทธิ์”

ก้าวห้าก้าว ก้มกราบหนึ่งครั้ง
“ขอกราบบรรพกษัตริย์ พ่อขุนงำเมือง พ่อขุนเม็งราย พ่อขุนรามคำแหง ตลอดจนบรรพบุรุษ บรรพสตรีที่ได้สร้างบ้านแปงเมือง จนสืบทอดมายังพวกเราทั้งหลาย
ณ วันนี้”

 ก้าวห้าก้าว ก้มกราบหนึ่งครั้ง
“ขอกราบคารวะผีปู่ย่าตายาย ที่ปกปักรักษาแผ่นดินให้พวกเราได้อยู่อาศัยอย่างสุขสงบ”

ก้าวห้าก้าว ก้มกราบหนึ่งครั้ง
“ขอน้อมสำนึกบุญคุณดอย อินทนนท์ ขุนเขาน้อยใหญ่ น้ำแม่ปิง สายธารน้อยใหญ่ แม่โพสพและพืชพันธุ์ทั้งหลายที่ได้หล่อเลี้ยงพวกเราทั้งหลาย ให้มีชีวิตรอด
อย่างพอดี พอเพียง”
“เราตั้งปณิธาณว่า จะรักษาแผ่นดินนี้ไว้ มิให้ผู้ใดยึดครอง เราจักสืบทอดภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่ดีงามไว้ด้วยชีวิตของเรา”
“ขอ อาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย โปรดดลจิตดลใจของผู้บริหารประเทศที่ถูกโลภะจริต โทสจริต และโมหะจริตเข้าครอบงำ ได้แปรเปลี่ยนจากเห็นผิดเป็น
ชอบ ลด ละ เลิก การพัฒนาที่เอาโลภะเป็นที่ตั้ง ได้หันกลับมาสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง เดินตามรอยวิถีของปู่ย่าตายาย เพื่อสร้างสังคมและชีวิตที่ดีงามกันด้วยเทอญฯ”


เป็นขบวนประชาชนที่ทำให้ผู้คนสองข้างทาง ที่ต่างให้ความสนใจและแวะเข้ามาทักทายถามว่า ทำไมต้องมาเดินขบวน ทำไมต้องมาเดินห้าก้าวแล้วก้มลงกราบ เมื่อเคลื่อนขบวนผ่านทางเชียงใหม่ไนท์บาร์ซาร์ พ่อค้าชาวม้งคนหนึ่ง มาจากหมู่บ้านม้งห้วยลึก อ.เชียงดาว เดินเข้าไปถามว่า ทำไมถึงมาประท้วง เอฟทีเอ คือ
อะไร? ตัวแทนองค์กรชาวบ้าน อธิบายให้ฟังว่า การเปิดเสรีทางการค้า จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนทุกภาคส่วน ไม่ว่าในเรื่องของภาคการเกษตร การบริการ ด้านสาธารณสุข การศึกษา เป็นต้น
 
“เฮาบ่ฮู้เรื่องนี้มาก่อนเลย ถ้าเฮาฮู้เฮาจะมาร่วมคัดค้านด้วย” ชายม้งพูดออกมา
ใน ระหว่างที่มีการเคลื่อนขบวนไปตามถนนย่านไนท์บาร์ซาร์ ผ่านถนนช้างคลานนั้น จะมีทั้งนักเรียน คนขับสามล้อ พ่อค้าแม่ค้าออกมารับแผ่นพับชี้แจงถึงผล
เสีย ของการเปิดเจรจาการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ว่าจะกระทบต่อคนกลุ่มใดบ้าง แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แม่ค้าขายไข่ปิ้ง กับแม่ค้าขายนกเพื่อปล่อยทำบุญสะเดาะเคราะห์ก็ยังเอาธงสัญลักษณ์ต้านเอฟทีเอ มาปักตรงตระกร้าหาบคอนของตัวเอง

ครั้นเดินออกจากถนนช้างคลาน มุ่งหน้าไปยังสะพานเม็งราย ขบวนหยุดอยู่ที่บริเวณโรงเรียนมงฟอร์ต เพื่อรับทานอาหารกลางวันหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินมาครึ่งวัน สังเกตได้ว่า มีชาวบ้านนำข้าวกล่องพร้อมน้ำดื่มมาแจกจ่ายให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมกันอย่างต่อเนื่อง
เมื่อ ขบวนประชาชนเคลื่อนข้ามผ่านสะพานเม็งราย ไปถึงหน้าโรงแรมเชอราตัน ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมเจรจาข้อตกลงการเปิดการค้าเสรี ไทย-สหรัฐ
เหตุการณ์ เริ่มชุลมุนตึงเครียดกันขึ้นทุกชั่วขณะ เมื่อภาคประชาชนต่างทยอยเคลื่อนกันเข้ามาอยู่ด้านหน้าโรงแรมกันอย่าง เนืองแน่น ในขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยนายกำลังจัดเตรียมนำแผงเหล็กสองชั้นมาปิดกั้นล้อมรอบ เพื่อไม่ให้ฝูงชนเข้าไปในเขตของโรงแรม

“พี่น้องเอ๋ย ที่เรามาในวันนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า สิ่งที่ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสื่อมวลชนได้ตั้งฉายานามว่า รมว.พลัง ‘น้ำ’ ได้ไป รายงานต่อนายของท่านว่า มีคนมาชุมนุมเพียง 300-400 คนนั้น เป็นสิ่งที่โกหกมดเท็จทั้งสิ้น เพราะว่าขณะนี้พวกเรามากันเรือนหมื่น และนี่เป็นเพียงแค่ตัวแทนของภาคประชาชนเท่านั้น เพื่อจะมาบอกว่า สิ่งที่พวกท่านกำลังเจรจากันนั้น มันกระทบต่อพี่น้องคนไทยทั้งทั่วประเทศ...” เสียงประกาศดังก้องไปทั่วบริเวณหน้าโรงแรมเชอราตัน

เมื่อองค์กรประชาชนต้านการเปิดการค้าเสรีและแปรรูปประเทศไทย เกือบ10,000 คน ได้เคลื่อนขบวนจากหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ ไปร่วมชุมนุมกันบริเวณ หน้าโรงแรมเชอราตัน จ.เชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนับพันนายตั้งแผงเหล็กกั้นรอบๆ บริเวณโรงแรมนั้น ทางแกนนำของผู้ชุมนุมได้ประกาศโจมตีการเปิดเจรจาการ ค้าเสรี ไทย-สหรัฐ ที่กำลังมีการประชุมเจรจากันอยู่ในโรงแรมเชอราตัน เชียงใหม่ อยู่นั้น โดยองค์กรประชาชนฯ เรียกร้องให้นายนิตย์ พิบูลย์ สงคราม หัวหน้าคณะผู้เจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ได้ออกมาพูดกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ว่าจะยุติหรือไม่อย่างไรนั้น

องค์กรประชาชนปักหลักชุมนุมเพื่อรอคำตอบผ่านไปหลาย ชั่วโมง ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีผู้แทนคนใดลงมาเจรจา จึงได้มีการพยายามจะเข้าไปภายในโรงแรมเพื่อทำการกด ดันให้มีการยุติการเจรจาต่อไป โดยกลุ่มผู้ชุมนุมหน้าโรงแรมได้พยายามเคลื่อนตัวบุกเข้าไปข้างในจนเกิดการ ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรึงกำลังอยู่หลังแผงกั้น เหล็กจนล้มระเนระนาด และมีกลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บกันหลายคน ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายกำลังยื้อกำลังกันอยู่นั้น กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้วิ่งเข้าไปในโรงแรม แต่สุดท้ายก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวควบคุมเอาไว้

เมื่อผู้สื่อข่าว ประชาไท วิ่งย้อนเข้าไปทางด้านหลังของโรงแรมซึ่งติดกับแม่น้ำปิง ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน ได้ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำปิงจากฝั่งตะวันตกมา ยังโรงแรมเชอราตันที่อยู่ฟากฝั่งตะวันออก เมื่อทุกคนเคลื่อนขึ้นบก ได้พยายามจะบุกเข้าไปทางด้านหลังโรงแรม จนเกิดการปะทะกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ซึ่งขณะสื่อมวลชนกำลังเข้าไปในเหตุการณ์อยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามควบคุมฝูงชน และมีการใช้กระบองทุบตีกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งมีการใช้เข่ากระแทกร่างชาวบ้านให้ล้มนอนลงบนผืนหญ้าจนเกิดการชุลมุนกันอยู่ตรงนั้นกลุ่มชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองตีทำร้ายจนเลือดอาบ ได้ออกมาตะโกนเรียกร้องว่า ตำรวจทำร้ายประชาชน ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล

“แม้เวลาจะยังยาวไกล เลือดรดรินหลั่งไหล
เราก้าวไปด้วยกำลังใจ สู่เส้นชัยเสรี”

เสียงเพลงของกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงดังก้องไปทั่วโรงแรม แม้ว่าจะถูกทำร้ายจนบาดเจ็บกันก็ตาม
ขณะที่ด้านหน้าโรงแรม ตัวแทนองค์กรประชาชน พยายามตะโกนบอกว่า เรามาด้วยสันติวิธี ไม่ชอบการใช้ความรุนแรง แต่ฝ่ายรัฐกลับพยายามใช้ความ
รุนแรงกับประชาชนเสียเอง

เมื่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย บอกว่า ไม่รู้เรื่องเอฟทีเอ และถูกผู้บังคับบัญชาให้มาอารักขา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธร จากทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ผลัดเปลี่ยนกันมาอำเภอละ 20 คน
“กำลังตำรวจมีเพียงพันกว่านาย จะไปรับมืออะไรได้ ในเมื่อชาวบ้านมีกันเป็นหมื่นคน” ตำรวจนายหนึ่งบ่นให้ฟัง
อย่างไรก็ตาม ทางด้านองค์กรประชาชนองค์กรประชาชนต้านการเปิดการค้าเสรีและแปรรูปประเทศไทย ยังคงประกาศว่า จะนอนปักหลักอยู่บนถนนหน้า

โรงแรมเชอราตันกันต่อไป และจะพยายามเข้าไปยุติการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหรัฐ ให้ได้


*******************

เล่าเรื่องการชุมนุมเอฟทีเอ 
บันทึกโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการประชาไท 13/1/2549
 

ในวินาทีที่ขบวนผู้ชุมนุมต้านเอฟทีเอเคลื่อนมาถึง หน้าโรงแรมเชอราตัน จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเสียงเพลง ‘อะไรก็ไม่รู้’ แม้คุณจะฟังเนื้อเพลงที่ผ่านออกมาจากลำโพงเสี้ยง อู้อี้ไม่ออก หรือจับเนื้อหาของเพลงที่เบลอๆ จากปากของผู้คนเรือนหมื่นไม่ได้ แต่มันเป็นวินาทีที่คุณสามารถรู้สึกได้อย่างกระจ่างแจ้งในความหมายของเพลง สัมผัสได้ในเอกภาพและการต่อสู้

คุณไม่ต้องเห็นด้วยกับผู้ชุมนุม หรืออาจจะมีท่าทีขาวๆ ดำๆ กับการเจรจาเอฟทีเอ หรืออาจจะถูกหัวโขนความเป็นสื่อกักขังมิให้อารมณ์ความรู้สึกไหลลื่นไปกับกระแส ประชาชน แต่หากคุณเชื่อว่า สิ่งที่คุณเห็นอยู่ตรงหน้าคือคลื่นขบวนนับหมื่นที่ต่อสู้เพื่อเพื่อน ญาติมิตร เพื่อคนอื่นๆ เพื่อตัวเขาเอง และเพื่อคุณ เชื่อเถิดบางทีน้ำตาของคุณอาจจะต้องไหลรื่นอยู่ในเบ้าตา

เราไม่เห็นความตื้นตันของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งกำแพง กั้นผู้ชุมนุมอยู่ในวันนั้นหรอกครับ เพราะทุกคนหยุดนิ่ง หรืออันที่จริงคงต้องบอกว่า ‘โลกในเวลานั้นหยุดยิ่ง มีแต่ผุ้ชุมนุมเท่านั้นที่เคลื่อน’ ผมเองก็ไม่มีปัญญาจะเห็นว่า หัวใจของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นสูบฉีดเลือดให้ไหลลงไปที่ตาตุ่มหรือไม่ แต่ผมมั่นใจได้ว่า แต่ละคนคงจะงงๆ หรือบางคนอาจจะถามตัวเองอยู่บ้างก็ได้ว่า นี่เขาได้รับคำสั่งให้ต้องมาเผชิญหน้ากับ ‘กองทัพ’ อันแข็งแกร่งเช่นนี้เชียวหรือ

อย่าลืมนะครับว่า ผู้คนที่มาชุมนุมในวันนั้นมาจาก 12 เครือข่าย ส่วนใหญ่ไม่รู้จักกันมาก่อน มาจากคนละภาค เหนือ กลาง อีสาน ใต้ มากันด้วยความตระหนักเน้นกันคนละปัญหา แต่มีจุดร่วมกันคือ ต่อต้านการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ การบริหารขบวนประชาชนนับหมื่นให้อยู่ในระเบียบวินัยทั้งๆ ที่แต่ละคน ที่ไม่เคยผ่านการอบรม ฝึกฝน และใช้ชีวิตอย่างธรรมดาเหมือนเราๆ นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย และคงจะยากกว่าที่จะขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมาย กระทั่งยากยิ่งกว่ายาก ที่จะร้อยรัดเครือข่ายเหล่านี้เข้ามาเหนื่อยร่วมกัน อาทรกันและกัน กระทั่งสละทุกอย่างเพื่อต่อสู้ร่วมกัน

ผมเคยเห็นการชุมนุมมาหลายครั้งครับ แต่ถ้ามันไม่ต่างก็คงไม่หยิบมาพูดมาเขียนมาบอกเล่า

เพลงที่มารู้ชื่อทีหลังว่า ‘โซลิดาริตี้’ ในจังหวะมาร์ชทรงพลัง ฮึกเหิม “แม้เวลาจะยังยาวไกล เลือดรดรินหลั่งไหล เราก้าวไปด้วยกำลังใจ สู่เส้นชัยเสรี” ที่มีท่อนแทรก ว่า ‘ไม่เอาเอฟทีเอ’ เปล่งออกมาอย่างเต็มปากเต็มคำของคนทั้งหมื่นเท่าที่ปอด หลอดคอ และกล่องเสียงจะอนุญาต นั่นเป็นเพียงส่วนเดียว

อีกไม่กี่นาทีต่อมาที่คุณได้เห็น ‘หน่วยผ้าดำ’ ทำหน้าที่แนวหน้าผลักดันแนวกำแพงของตำรวจ ในขณะที่ ด้านหลังหน่วยผ้าดำ มีอีกหน่วยหนึ่งที่นำไม้รวกกั้นเป็นแนว เพื่อป้องกันผู้คนนับหมื่นที่อยู่หลังแนวนั้นฮือบุกเข้าสมทบกับหน่วยผ้าดำ จนอาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายหรืออยู่ในสภาพที่ควบคุมไม่ได้นั้น บอกกับเราว่า นี่เป็นการจัดการม็อบที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้คนอันรอบคอบ

พูดก็พูดเถิดครับ เราเห็นแม้กระทั่งการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน สาธารณะที่อยู่บริเวณนั้น ขณะที่เราไม่เห็นการป้องกันนี้จากเจ้าหน้าที่ รัฐ  อาจจะเพราะเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งมาเพียงแค่ป้องกันมิให้ผู้ชุมนุมเข้ามาใน บริเวณที่ผู้แทนจากสองประเทศกำลังเจรจาเท่านั้น ขณะที่ผู้ชุมนุมเหล่านั้นมาด้วยจิตใจที่เห็นใจคนอื่นๆ ไม่ว่าคนอื่นๆ เหล่านั้นจะก่นด่า ไม่เห็นด้วย หรือเพราะไม่รับรู้ถึงความร้ายแรงจากเอฟทีเอหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องบอกว่า ตำรวจภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งผมไม่ทราบว่าเป็นใคร เป็นตำรวจชุดที่รับมือกับผู้ชุมนุมได้ดี เราได้ยินการ สำทับครั้งแล้วครั้งเล่าจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงสั่งการให้ตำรวจใช้การผลัก ดันอย่างเดียว เราไม่เห็นเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ (มีแต่ปืนยิงแก๊สน้ำตาที่สะพายหลังอยู่กับตำรวจ ตระเวนชายแดนซึ่งไม่ได้ใช้) กระบองที่ตำรวจถือ เราไม่เห็นว่ามันถูกยกขึ้นมาเกินกว่าระดับเอว นั่นหมายความว่า มันไม่ได้ถูกใช้เพื่อฟาด เว้นเสีย

แต่ตำรวจบางคนที่สกัด หน่วยผ้าพันคอดำ 20 คนที่ว่ายน้ำข้ามแม่ปิงขึ้นโรงแรม ที่เลือกจะใช้ความรุนแรง ทั้งฟาดทั้งกระทืบเพียง เพื่อจะหยุดการรุกคืบของมนุษย์ กบ แทนที่จะเลือกใช้กำแพงเจ้าหน้าที่ที่มากพอจะยืนนิ่งๆ ปิดทางสกัดการวิ่งขึ้นบก ซึ่งทำให้เราไม่สามารถจะเอ่ยชมเจ้าหน้าที่ชุดนี้ได้เต็มปาก

เช่นเดียวกับผู้ชุมนุมที่เราไม่เห็นแม้แต่การชูมือขึ้น เหนือไหล่ในยามที่บุกเข้าผลักดันตำรวจ ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมต่างก็ทำหน้าที่ของตน อยากจะบอกด้วยสำเนียง แบบน้ำเน่าสักนิดด้วยซ้ำว่า ผู้ชุมนุมหน่วยผ้าดำเขาใช้หน้าอกในตำแหน่งที่ตรงกับหัวใจ และไหล่ที่เขาใช้แบกชีวิตเป็นอวัยวะส่วนที่ดันกำแพง แน่นอนภายใต้ขนาดหัวใจที่ต่างกัน ผลก็คือ ม็อบทั้งหมดรุกคืบเข้ายึดพื้นที่หน้าโรงแรมได้เกือบเบ็ดเสร็จ

ภายใต้สภาพการจัดการเช่นนี้ ผมเชื่อแน่ว่า จะไม่มีทางที่ความรุนแรงและความวุ่นวายใดๆ จะเกิดขึ้นจากฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ  ผมไม่เชื่อด้วย ว่าจะมีใครกล้ามาสลายการชุมนุม เพราะนั่นเท่ากับผู้สลายนั่นเองที่จงใจใช้ความรุนแรงเพื่อทำให้เกิดสภาพ จลาจล ใครที่มักจะด่าว่าการชุมนุมเป็นพวกชอบใช้ความ รุนแรง น่าจะได้ลองมาดูการชุมนุมครั้งนี้หรือครั้งไหนๆ บ้างว่า การชุมนุมโดยการจัดการทั้งครั้งนี้และในทุกครั้งที่ผ่านมา เป็นกลไกที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันความรุนแรง ทั้งจากแรงกดดันของปัจเจกที่ไม่พอใจที่รัฐกระทำกับเขา ทั้งจากมือที่สาม หรือทั้งจากฝ่ายรัฐที่จะใช้ความรุนแรง

หากชัยชนะของการชุมนุมครั้งนี้อยู่ที่การยกเลิกการเจรจา หรือล้มการเจรจา ก็คงต้องบอกว่า ขบวนผู้ชุมนุมครั้งนี้มิได้ประสบชัยชนะ ชัยชนะแบบนั้นมิได้ยั่งยืน เพราะที่สุดมันจะมี ประเด็นอื่นๆ คืบเข้ามาอีก ชัยชนะที่ยั่งยืนคือจะทำอย่างไรที่จะเกิดการต่อสู้อย่างทรงพลังในทุกครั้ง ที่มีประเด็นเข้ามาอันกัดกินชีวิต ซึ่งผมว่าการ ชุมนุมครั้งนี้ทำได้ ทำได้ดี และเกินความคาดหวังของแกนนำการชุมนุมทุกคน นอกเหนือจากที่ทำให้ผู้แทนเจรจาทั้งสองฝ่ายต้องเผ่นหนีข้ามจังหวัดไปประชุมที่อื่นซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้การชุมนุมที่อ่อนล้าโรยแรงต้องสลายลง

ผมคิดว่า ผู้ชุมนุมทุกคนต่างก็รู้ว่า วันหนึ่งเขาจะกลับมา คราวนี้เขาจะร้องเพลง ‘โซลิดาริตี้’ ได้ดีกว่าเดิม ทรงพลังกว่าเดิม

ไม่แน่นักหากวันหนึ่ง การค้าเสรีมันเข้ามาคุกคามธุรกิจและเสรีภาพของสื่อ วันหนึ่งมันเข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนชั้นกลางให้เป็นแรงงานไร้ความหมาย เปลี่ยนเถ้าแก่ ให้กลายเป็นลูกจ้างบรรษัทข้ามชาติ กินข้าวจีเอ็มโอ จำต้องก้มกราบหากจะหาซื้อยามารักษาโรค ไม่แน่หรอกว่า วันนั้น ‘สื่อ’ คนชั้นกลางเองก็อาจจะต้องมาร้องเพลงนี้ร่วมกัน  ผมจึงอยากเสนอว่า หัดร้องเพลงนี้ไว้บ้างก็ดี

ก่อนผู้ชุมนุมจะแยกย้าย ผมได้ยินเพลงโซลิดาริตี้อีกครั้ง เชื่อไหมครับ ในเนื้อเร้องเดิม จังหวะมาร์ช จังหวะเดิม เพลงนี้ช่างเป็นเพลงที่หวานจับใจ และอบอุ่น

อย่างที่มนุษย์ในชีวิตปัจเจกไม่เคยหรือไม่มีโอกาสได้สัมผัสมาก่อนเลย

****************


แถลงประกาศชัยชนะเบื้องต้นขององค์กรภาคประชาชน 11 เครือข่าย
ต้านข้อตกลงเขตการค้าเสรีและการแปรรูปประเทศ

 

สมาชิกเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนสิบเอ็ดเครือข่ายมากกว่า หนึ่งหมื่นคนที่ชุมนุมอยู่ ณ ที่นี้ สมาชิกอีกนับแสนๆคนซึ่งรอฟังผลการประชุมอยู่ที่บ้าน ประชาชนไทยที่เคารพ และเพื่อนสื่อมวลชนที่รักทุกท่าน

เครือข่ายสิบเอ็ดองค์กรภาคประชาชนขอประกาศว่าวัตถุ ประสงค์ในการชุมนุมของพวกเราได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้วในขั้นต้นแล้ว และเป็นชัยชนะครั้งแรกของสังคมไทยทำให้ประเด็นการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีได้กลายเป็นประเด็นนโยบายสาธารณะที่สังคมไทยทั้งหมดได้เฝ้าจับตา และการให้คำมั่นสัญญาของรัฐบาลเกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกาว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน จะเป็นการตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตรในท้ายที่สุด

 ชัยชนะข้อแรก

นี่เป็นครั้งแรกที่ข้อกังวลของผู้ป่วยและผู้บริโภคเกี่ยว กับเรื่องยาแพงเพราะการผูกขาดยาโดยการขยายอายุสิทธิบัตรมากกว่าข้อตกลงใน องค์กรการค้าโลก ผลกระทบเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมที่จะทำให้เกษตรกรล่มสลายและทรัพยากรธรรมชาติถูกยึดครอง ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นการเปิดพื้นที่ข่าว ขยายพื้นที่การรับรู้เพื่อให้สังคมไทยทั้งหมดให้ได้มาพิจารณาเรื่องนี้ร่วม กัน  ในสถานการณ์ที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ปราศจากเสรีภาพที่จะขุดคุ้ยเอาประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนและความเสียหายของประเทศที่เกิดจากเอฟทีเออกมาตีแผ่ก่อน หน้านี้กระบวนการเจรจาเอฟทีเอเป็นเรื่องการตัดสินใจของรัฐบาลและอุตสาหกรรม อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์และโทรคมนาคมซึ่งใกล้ชิดแนบแน่นกับรัฐบาล แต่เพียงกลุ่มเดียว กระบวนการของรัฐสภาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการตรวจสอบการทำเอฟทีเอ ทั้งๆที่สมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งได้ทำงาน อย่างหนักใน การคัดค้านการทำเอฟทีเอโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐอมริกา ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมากกว่าสองในสามเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ถูกพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรให้สัมภาษณ์ดูแคลนว่าไม่มีความรู้เพียงพอที่จะพิจารณาเรื่องอันสำคัญนี้

ชัยชนะประการที่สอง

หลังการชุมนุมของเครือข่ายสิบเอ็ดองค์กรภาคประชาชนเมื่อ วันที่เก้ามกราคมที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ การทำเอฟทีเอของประเทศ ได้ให้แถลงว่า  “เรื่องทรัพย์สินทางปัญญานั้น ยืนยันว่าสิ่งใดที่ทำให้ไทยลำบากจะไม่ทำแน่นอน นอกจาก นี้นายกรัฐมนตรีเองพูดชัดว่าในเรื่องสิทธิบัตรยาต้องดูให้ดีเป็นพิเศษ ถ้าเสียผลประโยชน์ต้องตั้งป้อมสู้” (มติชน สิบมกราคม สองพันห้าร้อยสี่สิบเก้า)ในขณะที่นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า “ พ.ต.ท.ทักษิณ กำชับให้มีการเจรจาโดยการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นสำคัญ หากสินค้าใดที่ไทยเสียเปรียบจะไม่มีการตกลงอย่างแน่นอน และขอให้นำข้อท้วงติงของผู้คัดค้านมาเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาด้วย” (มติชน สิบเอ็ดมกราคมสองพันห้าร้อยสี่สิบเก้า)

เราถือว่านี่คือการให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนไทยทั้ง ประเทศ โดยมีสื่อมวลชนเป็นสักขีพยานว่ารัฐบาลจะไม่ยอมตกลงเอฟทีทำให้มีการผูกขาดยา และยามีราคาแพง และไม่ยอมเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่เกษตรกรเป็นจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบ

นี่คือชัยชนะขั้นต้นของพี่น้องประชาชนทั้งสิบเอ็ดเครือข่ายและเป็นชัยชนะขั้นต้นของคนไทยทั้งประเทศด้วย

เพื่อนผู้ร่วมชุมนุม และพี่น้องประชาชนไทยที่เคารพทุกท่าน เราขอประกาศว่าเราจะผนึกกำลังกันติดตามข้อตกลงเอฟทีเอต่อไป  เพราะขณะนี้ข้อตกลงดังกล่าวกำลังดำเนินไปใกล้แล้วเสร็จและจะมีสรุปผลการเจรจาภายในเมษายน สองพันห้าร้อยสี่สิบเก้านี้

เราขอประกาศบนแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุดอยสุเทพ อันศักดิ์สิทธิ์  และต่อสิ่งศักดิ์ของทุกศาสนาว่า เราจะติดตามตรวจสอบในทุกบรรทัด ทุกประโยค และทุก ถ้อยคำในข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยจะมิยินยอมให้มีข้อความใดที่ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียอธิปไตย ผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากยาแพง และเกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องล่มสลาย

เมื่อใดก็ตามข้อตกลงเอฟทีเอทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าว แสดงว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรตระบัดสัตย์และไม่เคารพต่อสัญญาที่ให้ไว้กับมหาชน พวก เราเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนสิบเอ็ดองค์กร จะกลับมาระดมพลพร้อมเพรียงกันอีกครั้งหนึ่งที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเมื่อวันนั้นมาถึง จำนวนเครือข่ายขององค์กรภาคประชาชนและผู้เข้าร่วมชุมนุมจะมากกว่านี้นับสิบเท่าร้อยเท่า

เราจะเรียกร้องและดำเนินการทุกวิถีทางภายใต้รัฐธรรมนูญและโดยสันติวิธีเพื่อให้คำเรียกร้องทั้งหมดบรรลุผล

ขอขอบพระคุณพี่น้องชาวเชียงใหม่เป็นจำนวนมากที่โบกธงสนับ สนุนเมื่อพวกเราเคลื่อนขบวนผ่าน ขอขอบคุณน้ำเย็นบรรจุขวดที่ท่านมอบให้สมาชิกของเรา และ ขอบคุณที่บางท่านเปิดบ้านเชื้อเชิญให้พวกเราเข้าไปดื่มน้ำ รับประทานอาหารถึงในตัวบ้านเพื่อแสดงความสนับสนุน และอีกเป็นจำนวนมากที่กำลังใจ

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แห่งประเทศไทยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน 4 ภาค, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายสลัมสี่ภาค, สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, สมัชชาคนจน, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ(สนนท.) และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

***************

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: