เอฟทีเอว็อทช์เปิดเผยข้อเสนอและผลการวิเคราะห์เรื่องสิทธิบัตรเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนได้เปิดแถลงข่าวเป็นกรณีพิเศษ ภายหลังพบว่าข้อเสนอเรื่องสิทธิบัตรซึ่งฝ่ายสหรัฐฯได้ยื่นต่อรัฐบาลไทยในการ ประชุมที่เชียงใหม่ ขณะนี้ได้ถูกเผยแพร่ในเว็บไซท์ต่างประเทศแล้ว ที่เว็บไซท์ http://www.bilaterals.org/article.php3?id_article=3677 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กล่าวว่าข้อมูลดังกล่าวสำคัญมากด้วยเหตุสองประการคือ

ประการแรก ข้อเรียกร้องดังกล่าวฝ่ายสหรัฐได้กำชับฝ่ายไทยมิให้เผยแพร่โดยอาศัยสัญญา สุภาพบุรุษซึ่งฝ่ายไทยก็ทำตามอย่างเคร่งครัด ถึงกับคาดโทษคณะเจรจาที่จะไม่เผยแพร่แก่ผู้ใด แม้แต่ข้าราชการในกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ตาม ดังนั้นการได้มาของข้อเสนอนี้จึงมีความสำคัญมากต่อภาคประชาชนในประเทศไทย

ประการที่สอง ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลไทยก็ไม่ต้องการให้ข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่ออกไป เพราะจะทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ การเก็บเอกสารต่างๆไว้เป็นความลับรวมทั้งข้อตกลงที่ฝ่ายไทยยินยอมต่อฝ่าย สหรัฐจะถูกเผยแพร่ก็ต่อเมื่อการเจรจาใกล้แล้วเสร็จ จะทำให้ฝ่ายต่อต้านคัดค้านเอฟทีเอไม่ทันการณ์ ประชาชนไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทราบข้อมูลรัฐบาลก็เดินหน้าลงนามไปแล้ว ดังประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

นายวิฑูรย์ สันนิษฐานว่าเอกสารข้อเสนอของสหรัฐอาจหลุดลอดออกมาจากฝ่ายสหรัฐ เนื่องจากการเจรจาเอฟทีในด้านสหรัฐนั้น คณะกรรมการชุดต่างๆของสภาสามารถเรียกดูเอกสารและเรียกตัวแทนการค้าสหรัฐเข้า ไปชี้แจงได้ตลอดเวลา เอกสารเกี่ยวกับการประชุมและความคืบหน้าในการประชุมมีความโปร่งใสและประชาชน สามารถเข้าถึงได้มากกว่า ทั้งนี้โดยก่อนหน้าที่เอกสารนี้จะถูกเผยแพร่ในเว็บไซท์ได้มีบทความที่ตี พิมพ์ในอเมริกาได้ตั้งข้อห่วงใยว่า ข้อเสนอและเนื้อหาการทำเอฟทีเอที่สหรัฐได้ทำกับประเทศต่างๆและบังคับให้ ประเทศต่างต่อยอมลงนามนั้น ในท้ายที่สุดจะกลับมามัดคอสหรัฐอเมริกาเอง เนื่องจากข้อเสนอเรื่องสิทธิบัตรนั้นเข้มงวดมาก ในบางกรณีไปไกลกว่ากฎหมายภายในของสหรัฐเสียอีก ซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุดจะทำให้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐเองขาดความ ยืดหยุ่น ตลอดจนเกิดผลกระทบต่อประชาชนอเมริกันโดยส่วนร่วมเสียเอง

รศ.ดร.จิราพร นักวิชาการเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ผลกระทบสุดร้ายแรง

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองศาสตราจารย์ ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ผลกระทบเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อเสนอเรื่องสิทธิบัตรในด้านที่ เกี่ยวกับยาพบว่ามีผลกระทบร้ายแรงมาก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ในรอบที่หก ณ เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนมกราคม มีข้อน่าสนใจหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอดส์มีมากกว่าครึ่งของผู้มาชุมนุม และเนื้อหาการเจรจาโดยเฉพาะในบทที่ว่าด้วยสิทธิบัตร และตามมาด้วยการลาออกจากการเป็นหัวหน้าทีมเจรจาของท่านทูตนิตย์ พิบูลย์สงคราม การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ เป็นที่จับตามองของนักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อต่างๆ ทั้งนี้อาจเนื่องจากผลการเจรจาของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ที่ผ่านมา ล้วนส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนของประเทศต่างๆ เหล่านั้น โดยเฉพาะด้านการสาธารณสุขและระบบยา แต่ในห้ารอบของการเจรจาไทย-สหรัฐฯ ยังไม่มีประเด็นของสิทธิบัตร จนถึงรอบที่หกที่สหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องในเรื่องของสิทธิบัตร ซึ่งการเจรจาเปิดตลาดสินค้าโดยทั่วไปของคู่เจรจาอาจทำให้เกิดผลทางบวกทั้ง สองฝ่ายได้บ้าง ถ้าคู่เจรจามีข้อมูลที่ผ่านการถกเถียงวิเคราะห์อย่างรอบด้าน แต่ในประเด็นเรื่องสิทธิบัตรนี้เป็นผลประโยชน์ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ โดยฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ จึงมีการตั้งคำถามว่า แล้วทำไมต้องเจรจา ประเทศไทยต้องการตลาดสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวหรือ แล้วสหรัฐฯ เจรจาเปิดตลาดให้เฉพาะประเทศไทยหรือ คำตอบของรัฐบาลจึงออกมาว่า “ไม่ใช่ ไทยจึงต้องรีบเพื่อให้ได้ประโยชน์ก่อนประเทศอื่น” แสดงให้เห็นชัดว่ารัฐบาลก็รู้ว่าผลประโยชน์ที่ได้นี้เป็นเพียงชั่วคราว ซึ่งการรีบเร่งที่มิได้มีการเตรียมการอย่างดีย่อมนำไปสู่ข้อตกลงที่เสีย เปรียบอย่างค่อนข้างถาวร เป็นการเดินรอยตามความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากแนวคิดนี้ในอดีต หรือจะเป็นจริงที่คนไทยลืมง่าย ประเทศไทยยอมแลกสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ยากับการได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ จีเอสพีในปี 2535 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอินเดียที่มีความรอบคอบ ไม่อยากได้ผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่ยอมให้สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ยาและใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ได้จากข้อตกลง ทริปส์ พัฒนาอุตสาหกรรมยาจนปัจจุบันสามารถพึ่งตนเองได้
ถ้าข้อมูลเนื้อหาข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ เรื่องสิทธิบัตร ในการเจรจาเอฟทีเอ ที่เผยแพร่ผ่านเวปไซท์ www.bilaterals.com เป็นฉบับที่สหรัฐฯ ยื่นในโต๊ะเจรจาจริง ก็เป็นข้อเรียกร้องที่ละโมภอย่างมากของบรรษัทยาผ่านทีมเจรจาสหรัฐฯ โดยฉกฉวยเอาประโยชน์ในทุกวิถีทาง ทั้งๆ ที่เป็นการรับประโยชน์ซ้ำซ้อน ต้องการผูกขาดตลาดสินค้ายาและการรักษาโรคที่เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิต ทำลายระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพและทำลายโอกาสการพัฒนาเพื่อ พึ่งตนเองทางยาของประเทศไทย ภายใต้ข้อเรียกร้องในบทสิทธิบัตร ซึ่งเนื้อหาในบทสิทธิบัตรนี้มีส่วนแถมมาด้วย คือส่วนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุม นั่นคือ ยาและสารเคมีการเกษตร ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องสิทธิบัตรเลย ก็ให้มีการผูกขาดตลาดจากการผูกขาดข้อมูล ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ สรุปได้ดังนี้
1. เรียกร้องให้ไทยให้สิทธิบัตรพืช และสัตว์ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ไทยเป็นสมาชิก UPOV 1991 ในบททั่วไป
โดย ผลของข้อเรียกร้องทั้งสองในคนละที่ของข้อตกลงนี้เหมือนกัน คือยอมให้สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ซึ่งระบบสิทธิบัตร คือระบบที่ได้ผลประโยชน์จากการต่อยอดความรู้เท่านั้น โดยต้องมีความใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรมได้ นั่นคือ ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากระบบนี้เลย แต่สหรัฐฯ สามารถเอาพืชสัตว์เหล่านี้ไปปรับปรุงพันธุกรรมก็เป็นเจ้าของแล้ว
2. เรียกร้องให้ไทยให้สิทธิบัตรวิธีการวิเคราะห์โรค การรักษาโรค และการผ่าตัด
ปกติ องค์ความรู้เหล่านี้เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาการสาธารณสุข เป็นองค์ความรู้ผสมผสานจากงานวิจัยมากมาย ผู้วิจัยคิดค้นต้องการเผยแพร่ เพื่อให้มีการต่อยอด และบูรณาการ เพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งระบบสิทธิบัตรก็มิได้ให้ผลตอบแทนต่อผู้คิดค้นเพิ่มขึ้น แต่ทำให้อุตสาหกรรมเป็นเจ้าของการคิดค้น และผูกขาดการใช้ประโยชน์  นอกจากนี้วิธีการวิเคราะห์โรค การรักษาโรค และการผ่าตัด มิได้ทำได้สำเร็จด้วยตัวเอง ต้องใช้ยาหรือสารเคมีควบคู่ไป นั่นคือ มีการได้สิทธิผูกขาดซ้ำซ้อน การใช้วิธีการวิเคราะห์ที่แพงควบคู่ไปกับยาหรือสารเคมีที่แพงจากสิทธิบัตร ทั้งคู่ ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ของสหรัฐฯ ไม่พบในเอฟทีเอที่สหรัฐฯ ได้ทำกับประเทศต่างๆ ที่ผ่านมา นี่หรือคือสิ่งที่มหามิตรอย่างสหรัฐฯ ทำกับประเทศไทย
3. ไม่ให้มีการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร
นั่น คือ ไม่ยอมให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะก่อนการออกสิทธิบัตร เมื่อได้รับสิทธิบัตรก็ได้รับประโยชน์ผูกขาดตลาดอย่างสมบูรณ์แล้ว กว่ากระบวนการเพิกถอนหรือคัดค้านหลังการออกสิทธิบัตรต้องใช้เวลาเป็นปี เพิ่มค่าการจัดการและภาระทางศาลทรัพย์สินทางปัญญา
4. จำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ เป็นไปอย่างลำบาก หรือไม่สามรถใช้ได้
จำกัดให้ใช้ได้เฉพาะเมื่อประเทศมีอุบัติเหตุฉุกเฉินเท่านั้น และการจ่ายค่าตอบแทนต้องครอบคลุมอย่างสมบูรณ์ทั้งหมดของการใช้สิทธิ
5. ขยายอายุสิทธิบัตรเพื่อชดเชยความล่าช้าจากกระบวนการจดสิทธิบัตร 4 ปีนับจากวันยื่นคำขอ หรือ 2 ปีนับจากวันยื่นให้พิจารณาคำขอ
แทน ที่จะทำข้อตกลงร่วมมือพัฒนาระบบการจดสิทธิบัตรให้มีคุณภาพ ทั้งๆ ที่หลายการศึกษา พบว่า สิทธิบัตรในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาไม่มีคุณภาพ มีคำขอมากมายที่เป็นคำขอที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร ก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย (ever greening patent) แต่กลับมาเร่งรัดเวลาให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น
6. ถ้าการออกเอกสารสิทธิบัตรขึ้นอยู่กับการให้สิทธิบัตรในประเทศอื่น ต้องขยายอายุสิทธิบัตรตามการชดเชยอายุสิทธิบัตรในประเทศนั้นด้วย
7. ขยายอายุสิทธิบัตรเพื่อชดเชยความล่าช้าจากการขึ้นทะเบียนตำรับยาทั้งในประเทศไทย และระยะเวลาการขึ้นทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศ
ทั้งๆ ที่กระบวนการจดสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนตำรับยาไม่เกี่ยวข้องกันเลย และมาตรการการขึ้นทะเบียนตำรับยาเพื่อกลั่นกรองให้เฉพาะยาที่มีประสิทธิผล และความปลอดภัยออกสู่ตลาด การเร่งรัดนี้อาจส่งผลให้คุณภาพการกลั่นกรองลดลง ความเสี่ยงต่ออันตรายของผู้ใช้ยาเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้นยังต้องขยายอายุ สิทธิบัตรตามเวลาการขึ้นทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศด้วย เช่น ยาสหรัฐฯ ที่มาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาในไทย ต้องแสดงเอกสารรับรองการขายในสหรัฐฯ (Certificate of Free Sale) ถ้าการขึ้นทะเบียนตำรับยาในสหรัฐฯ ใช้เวลา 5 ปี และเมื่อกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยาในไทยล่าช้าอีก 5 ปี ประเทศไทยต้องขยายอายุสิทธิบัตรของยาสหรัฐฯ อีก 10 ปี เป็นต้น
8. ต้อง ให้โอกาสผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แก้ไขคำขอได้อย่างน้อย 1 ครั้ง นั่นคือเปิดโอกาสให้มีการจองการจดสิทธิบัตรในสิ่งที่ยังไม่ค้นพบ
9. ลด คุณภาพของข้ออ้างสิทธิในสิทธิบัตรโดยไม่จำเป็นต้องมีการทดลองได้ และไม่จำเป็นต้องประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม เพียงแสดงว่ามีความจำเพาะ มีแก่นสาร และน่าเชื่อถือว่าใช้ประโยชน์ได้ก็พอ

ของแถมที่ยัดเยียด: มาตรการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุม
1. ผูกขาดข้อมูลยาใหม่และสารเคมีการเกษตรใหม่ 5 และ 10 ปี ตามลำดับ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนตำรับในไทยหรือต่างประเทศ
นั่น คือ กรณีที่หนึ่ง ถ้าได้ให้ทะเบียนตำรับยาใหม่แล้ว จะไม่ให้ทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญภายใน 5 ปี หรือกรณีที่สองถ้ายาใหม่ที่มาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาในไทย และใช้ข้อมูลประสิทธิผลและความปลอดภัยเดียวกับที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้ว ในต่างประเทศ ก็สามารถผูกขาดตลาด 5 ปี นับจากวันได้รับทะเบียนตำรับยาในไทย
ผล ของข้อนี้คือการผูกขาดตลาดยาใหม่อย่างสมบูรณ์อย่างน้อย 5 ปี นับจากวันที่ได้ทะเบียนตำรับยาในไทย ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะนำเสนอในไทย หรือเป็นข้อมูลที่ได้นำเสนอแล้วในต่างประเทศก็ตาม
2. ผูกขาดข้อมูลคลินิกใหม่ของตัวยาเก่า 3 ปี ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนตำรับในไทยหรือใช้ในต่างประเทศมาแล้ว
นั่น คือ กรณีที่หนึ่ง ถ้ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีตัวยาเก่า ที่ต้องนำเสนอข้อมูลคลินิกใหม่ นอกจากชีวสมมูลของยา จะได้รับการผูกขาดตลาดยานั้น 3 ปี หรือกรณีที่สอง ถ้ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีตัวยาเก่า ที่ต้องนำเสนอข้อมูลคลินิกใหม่ที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ นอกจากชีวสมมูลของยา จะได้รับการผูกขาดตลาดยานั้น 3 ปี เช่นกัน
ผลของข้อ นี้คือการผูกขาดตลาดตัวยาเก่าที่มีข้อมูลคลินิกใหม่ ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี นับจากวันที่ได้ทะเบียนตำรับยาในไทย ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะนำเสนอในไทย หรือเป็นข้อมูลที่ได้นำเสนอในต่างประเทศมาแล้วก็ตาม
3. ผูกขาดข้อมูลการใช้ใหม่ของสารเคมีการเกษตรตัวเก่า 10 ปี ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนในไทยหรือต่างประเทศ
ผล ของข้อนี้คือการผูกขาดตลาดสารเคมีทางการเกษตรตัวเก่าที่มีการใช้ใหม่อย่าง น้อย 10 ปี นับจากวันที่ได้ทะเบียนในไทย ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะนำเสนอในไทย หรือเป็นข้อมูลที่ได้นำเสนอในต่างประเทศก็ตาม
4. ถ้ายาหรือสารเคมีการเกษตรข้างต้นมีสิทธิบัตร และหมดอายุก่อนการผูกขาดข้อมูล ก็ไม่มีผลให้การผูกขาดตลาดจากการผูกขาดข้อมูลหมดไป
5. ต้อง มีมาตรการป้องกันมิให้การขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีการละเมิดสิทธิบัตร และต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบถึงการขึ้นทะเบียนตำรับยานั้น

บทสรุปของแถมนี้ชัดเจนว่าไม่ใช่เรื่องสิทธิบัตร แต่เป็นเรื่องของมาตรการขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยนำมาตรการนี้มาใช้ประโยชน์ทางการค้า ย่อมส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและความปลอดภัยจากการใช้ยา ดังนั้น ทีมเจรจามีเหตุผลของการไม่ยอมรับในเรื่องที่ไม่อยู่ในกรอบการเจรจา ที่เป็นของแถมที่ยัดเยียด ในมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุม ตลอดจนไม่ยอมรับข้อเรียกร้องที่มากเกินมาตรฐานทริปส์ (ทริปส์พลัส) ในทุกข้อ โดยเฉพาะการขยายขอบเขตของสินค้าที่ให้สิทธิบัตร ไม่ว่าพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิต วิธีการวินิจฉัยโรค การรักษา และการผ่าตัด และหวังว่าทีมเจรจาไทยจะใช้ประโยชน์จากบทวิเคราะห์นี้เพื่อปกป้องคนไทยให้ สามารถเข้าถึงยาและบริการทางสาธารณสุข ไม่ยอมเสียอธิปไตยเหนือชีวิตกับผลประโยชน์ทางการค้าชั่วคราว หรือตัวเลขจีดีพีที่หลอกลวง

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ชี้ผลกระทบต่อภาคเกษตรและทรัพยากรรุนแรงไม่แพ้กัน

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นักวิชาการของ FTA Watch วิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่า ข้อเสนอเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐที่เผยแพร่ในเวปไซท์ www.bilaterals.com นั้นวัตถุประสงค์สำคัญของสหรัฐในการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา คือ การยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่เจรจาให้ทัดเทียมกับการคุ้มครองตามกฎหมายของสหรัฐ

1. ข้อเรียกร้องสำคัญของสหรัฐในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา คือ
(1.) ต้องการให้ประเทศคู่เจรจาขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์
(2.) ต้องการให้ประเทศคู่เจรจาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช ใหม่ ( International Convention for the Protection of New Varieties of Plants 1991 หรือ อนุสัญญายูปอฟ) ซึ่งหมายถึง การให้ยอมรับนำเอาระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชตามระบบอนุสัญญายูปอฟ (UPOV) มาใช้ในการคุ้มครองพืช

อนึ่ง ข้อเรียกร้องดังกล่าวปรากฏอยู่ในกฎหมาย Trade Promotion Authority  ของสหรัฐ (Sec. 2102 ข้อ b (4) –ii ) และในกรอบการเจรจาของสหรัฐกับประเทศไทยตามเอกสารที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ยื่นเสนอต่อรัฐสภาสหรัฐอยู่แล้ว และจากการเปรียบเทียบเนื้อหาข้อตกลง FTA ที่ทางสหรัฐได้ทำกับประเทศอื่นๆ เช่น จอร์แดน เวียดนาม สิงคโปร์ บาร์เรน โมร็อกโก ออสเตรเลีย ได้มีข้อกำหนดเรื่องการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตทุกชนิด   เช่นกัน

2. ข้อกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตของไทยในปัจจุบัน

การให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตของประเทศ ไทยอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

2.1 พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542
ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522  มาตรา 9 มีข้อกำหนดว่า
“ การประดิษฐ์ต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ
 (1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช
(2) กฏเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
...........................  ”
 จาก ข้อกำหนดดังกล่าว สรุปได้ว่า สิ่งมีชีวิตที่ขอยื่นจดคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทยได้ คือ จุลชีพหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของจุลชีพที่ไม่มีอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น สำหรับพืชและสัตว์ ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรคุ้มครองได้
ผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร (ผู้ทรงสิทธิบัตร) จะมีสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายค่อนข้างมาก กล่าวคือ
ในกรณีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ สิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร
 ใน กรณีสิทธิบัตรกรรมวิธี สิทธิในการใช้ กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขายมีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตาม สิทธิบัตร 

2.2 พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542
ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ถ้าพืชที่ปรับปรุงขึ้นใหม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด (ตามมาตรา 11 และ 12) และเป็นพันธุ์พืชที่ได้มีการประกาศให้เป็นพันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับการคุ้ม ครอง    นักปรับปรุงพันธุ์พืชก็สามารถจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชนั้นในฐานะ “พันธุ์พืชใหม่” ได้
จนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน 2548) ได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กําหนดชนิดพืชเป็นพันธุ์พืชใหม์ที่จะไดรับ ความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 แล้วรวมจำนวน 26 รายการ ได้แก่ ข้าว, อ้อย, มะม่วง, กล้วยไม้สกุลหวาย, หญ้าแฝก, โป๊ยเซียน, หยก, มะเขือเทศ, พริกเผ็ดและพริกยักษ์ หรือพริกหวาน, แตงกวาและแตงร้าน, แตงโม, มะระ ,ผักบุ้งจีน, ผักคะน้า, ผักกาดกวางตุ้ง, ถั่วฝักยาว , ข้าวโพด, ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ส้มโอ, ทุเรียน , ลิ้นจี่, ลำไย, มะละกอ, มันสำปะหลัง และ ไม้ดอกสกุลขมิ้น (Curcuma spp.)
หลักเกณฑ์สำคัญในการ พิจารณากำหนดชนิดพืชเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับความคุ้มครอง เช่น เป็นพันธุ์พืชที่นักปรับปรุงพันธุ์พืชของไทยมีศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์ เป็นพันธุ์พืชที่มีพันธุ์พืชพื้นเมืองเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการผูกขาดพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองเป็นพันธุ์พืช ใหม่ตามกฎหมาย
นอกจากนี้ กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยไม่ได้ให้การคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่ดัง เช่นในอนุสัญญายูปอฟหรือกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของบางประเทศ หากแต่คุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่าด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของบุคคลทุกฝ่าย ทั้งนักปรับปรุงพันธุ์ องค์กรธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และประโยชน์ของเกษตรกรและชุมชน

ในด้านการกำกับดูแลการเข้าถึงพันธุ์พืช พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ได้กำหนดเงื่อนไขการเข้าถึงพันธุ์พืชไว้ โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ ได้รับอนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ที่ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะ ถิ่น (กรณีเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น) และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชก่อน
ในการขอ จะทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ นอกเหนือจากที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว ในคำขอจดทะเบียนจะต้องมีรายละเอียดแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่หรือสารพันธุ กรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชใหม่  รวมทั้งข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่การใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือพันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์สําหรับใช้ ประโยชน์ในทางการค้า
จะเห็นได้ว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 นอกเหนือจากการให้ความคุ้มครองแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชแล้ว กฎหมายยังมีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะให้เกษตรกรและชุมชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการ อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืชได้รับความคุ้มครองที่เป็นธรรม และมีข้อกำหนดในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืช เพื่อการปกป้องทรัพยากรพันธุกรรมพืชของประเทศไม่ให้ถูกฉกฉวยเอาไปใช้ ประโยชน์โดยมิชอบ
โดยสรุป ภายใต้กฎหมายไทยในปัจจุบัน พันธุ์พืชที่พัฒนาหรือปรับปรุงขึ้น สามารถที่จะนำมาจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒ หากมีการสกัดยีนหรือสารพันธุกรรมของพืชดังกล่าว และทำให้มีความแตกต่างไปจากสภาพที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาติ ยีนหรือสารพันธุกรรมพืชนั้นก็อาจสามารถจดทะเบียนขอรับสิทธิบัตรได้

3. ความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ความตกลงระหว่างประเทศที่ เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
3.1 ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า
ตาม ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade Related Aspect of Intellectual Property Rights : TRIPs ) หรือความตกลงทริปส์ ซึ่งเป็นความตกลงฉบับหนึ่งภายใต้องค์การการค้าโลก มีเนื้อหาของความตกลงที่เกี่ยวโยงกับการคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตอยู่ใน มาตรา 27
ในมาตรา 27.2 มีเนื้อหากล่าวถึงข้อยกเว้นที่จะไม่ให้สิทธิบัตรแก่สิ่งประดิษฐ์ที่อาจก่อ ให้เกิดผลกระทบกับความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีงาม หรือก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ในมาตรา 27.3 (b) ได้ให้สิทธิแก่ประเทศสมาชิกที่จะไม่ให้การคุ้มครองสิทธิบัตรต่อพืชและสัตว์ ที่นอกเหนือจากจุลชีพ และกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตพืชและสัตว์ ตามข้อกำหนดในมาตรานี้ ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกจำนวนมากซึ่งรวมทั้งประเทศไทย จึงมีข้อยกเว้นในกฎหมายสิทธิบัตร ไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรต่อพืชและสัตว์
ในส่วนการคุ้มครองพันธุ์ พืช ตามมาตรา 27.3 (b)  ของความตกลงทริปส์ ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองพันธุ์พืช แต่ความตกลงทริปส์มิได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองพันธุ์พืช ใหม่ภายใต้ระบบสิทธิบัตรเท่านั้น ตามมาตรา 27.3 (b) เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถเลือกที่จะให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้ ระบบกฎหมายใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบสิทธิบัตร หรือระบบกฎหมายเฉพาะ หรือทั้งสองระบบนี้ร่วมกัน หลักเกณฑ์สำคัญประการเดียวของความตกลงทริปส์ที่กำหนดไว้ในการคุ้มครองพันธุ์ พืชตามระบบกฎหมายเฉพาะ คือ ต้องเป็น “ ระบบกฎหมายเฉพาะที่มีประสิทธิภาพ” ( effective sui generic system ) เท่านั้น
ทั้งนี้ ในความตกลงทริปส์ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าระบบกฎหมายเฉพาะที่มี ประสิทธิภาพไว้ และไม่ได้มีการกล่าวอ้างถึงอนุสัญญายูปอฟไว้ ทั้งที่อนุสัญญายูปอฟมีผลใช้บังคับมานานก่อนหน้าที่จะมีการร่างความตกลง ทริปส์ ดังนั้นประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกจึงมีอิสระที่จะเลือกให้ความคุ้มครอง พันธุ์พืชภายใต้ระบบกฎหมายเฉพาะ และตีความคำว่า “ระบบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพไว้” ให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศและระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของ ประเทศตนเอง โดยไม่ต้องคำนึงว่าอนุสัญญายูปอฟได้กำหนดหลักการในการคุ้มครองพันธุ์พืชไว้ อย่างใดบ้าง
 ในการอนุวัตรการตามความตกลงทริปส์ ประเทศไทยเลือกที่จะให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชด้วยระบบกฎหมายเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยไม่ได้ยึดถือแนวทางในการคุ้มครองพันธุ์พืชตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน อนุสัญญายูปอฟ แต่กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยได้สร้างหลักเกณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะขึ้น ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา และสภาพเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย

 3.2 อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
อนุสัญญาว่าด้วยการ คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรืออนุสัญญายูปอฟนั้น เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ถูกผลักดันจัดตั้งขึ้นโดยประเทศในแถบทวีปยุโรป ในปี ค.ศ. 1961 เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งหมายถึงผู้ปรับปรุง ค้นพบ หรือพัฒนาพันธุ์พืช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์ได้พัฒนาและปรับ ปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ ขึ้น อนุสัญญายูปอฟมีวัตถุแห่งสิทธิของการคุ้มครองเพียงอย่างเดียวคือ พันธุ์พืช (Plant varieties) ซึ่งหมายถึง กลุ่มของพืชที่เล็กที่สุดที่มีพันธุกรรมและลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สม่ำเสมอ คงตัว และแตกต่างจากกลุ่มอื่นในพืชชนิดเดียวกัน อันเป็นการคุ้มครองที่มีวัตถุประสงค์ที่แคบกว่าความตกลงทริปส์
 ประเด็น ที่เป็นข้อควรตระหนักอย่างยิ่งเกี่ยวกับอนุสัญญายูปอฟ คือ นับแต่อนุสัญญายูปอฟมีผลใช้บังคับ ได้มีการผลักดันจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วปรับแก้ไขเนื้อหา อนุสัญญารวมแล้ว 3 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1972 , 1978 และ 1991 โดยการแก้ไขในครั้งหลังสุด ได้มีการขยายสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม จนมีลักษณะเกือบจะคล้ายคลึงกับสิทธิตามกฎหมายสิทธิบัตร ( โปรดดูรายละเอียดในตารางที่ 1)

4. ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากข้อเรียกร้องดังกล่าวของสหรัฐ มีในหลายมิติ คือ

4.1 ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสิทธิบัตรของไทย เนื่องจากตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทยในปัจจุบัน ให้การคุ้มครองเฉพาะจุลินทรีย์ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเท่านั้น ไม่รวมถึงพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองที่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ตามความตกลงทริปส์ ในองค์การการค้าโลกอยู่แล้ว ถ้าต้องการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรไปยังสิ่งมีชีวิตทุกประเภท จึงต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรของไทย

4.2 ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายของไทยในการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งในกรณีนี้ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เนื่องจากหลักการ เงื่อนไข แนวปฏิบัติในการคุ้มครองพันธุ์พืชตามกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช แตกต่างกับกฎหมายสิทธิบัตรและระบบการคุ้มครองตามอนุสัญญายูปอฟฉบับปี ค.ศ. 1991 อย่างมาก

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มีลักษณะเป็นกฎหมายเฉพาะ (sui generic system ) จัดทำขึ้นโดยให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรม ให้การคุ้มครองทั้งพันธุ์พืชใหม่ และพันธุ์พืชที่มีอยู่เดิมในป่า หรือในชุมชนท้องถิ่น มีการผ่อนปรนเงื่อนไขการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ไม่ให้เข้มงวดจนเกินไป เพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกร

นอกจากนั้นกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชยังได้ กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เช่น การกำหนดให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุง พันธุ์ (Disclosure of Origin) การกำหนดให้การเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมพืชต้องเป็นไปโดยได้รับความยินยอม ล่วงหน้า (Prior Informed Consent) และการกำหนดให้มีการแบ่งบันผลประโยชน์ระหว่างนักปรับปรุงพันธุ์กับเจ้าของ แหล่งพันธุกรรม เป็นต้น

 ในทางตรงกันข้าม กฎหมายสหรัฐไม่ได้ให้ความคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมพืชเช่นเดียวกับประเทศ ไทย สหรัฐมุ่งแต่ที่จะให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชที่ได้ถูกค้นพบหรือปรับปรุงขึ้น ใหม่เท่านั้น การคุ้มครองพันธุ์พืชในสหรัฐจึงมีหลายรูปแบบด้วยกันคือ การคุ้มครองพันธุ์พืชที่ขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศตามระบบสิทธิบัตรพันธุ์พืช (Plant Patent) การคุ้มครองพันธุ์พืชที่ขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศตามระบบกฎหมายคุ้มครองพันธุ์ พืช (Plant Variety Protection) และการคุ้มครองพันธุ์พืชตามระบบสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ (Utility Patent) ซึ่งมักจะเป็นการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการทางพันธุ วิศวกรรม

ดังนั้น จากข้อเรียกร้องของสหรัฐภายใต้การเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีที่กำหนดให้ ประเทศไทยต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟ และ/หรือ ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรแก่พันธุ์พืชด้วยนั้น จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ประเทศคู่ค้ากับสหรัฐต้องให้ความคุ้มครองแก่ พันธุ์พืชภายใต้ระบบสิทธิบัตรนั่นเอง ซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นหลัก ให้การคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่ ไม่รวมถึงพันธุ์พืชป่าและพันธุ์พืชพื้นเมือง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ นำไปสู่ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชของไทย ผลกระทบต่อการสิทธิเกษตรกร เป็นอุปสรรคต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน

4.3 ผลกระทบต่อการกำกับดูแลการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ความหลาก หลายทางชีวภาพอย่างไม่เป็นธรรม ผลกระทบต่อสิทธิเกษตรกรในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทาง ชีวภาพอย่างยั่งยืน ฯลฯ เนื่องจากตามระบบกฎหมายสิทธิบัตร ไม่มีข้อกำหนดที่พิจารณาถึงแหล่งที่มาของพันธุกรรมที่ใช้เป็นฐานในการ ประดิษฐ์ ไม่มีเงื่อนไขเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประดิษฐ์ กับบุคคลหรือชุมชนที่เป็นเจ้าของพันธุกรรมที่เป็นฐานในการประดิษฐ์

ดัง นั้น ถ้ามีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรไปยังพืชและสัตว์ อาจจะทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิง ฉกฉวยทรัพยากรชีวภาพของไทยไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ หรือที่เรียกกันว่า Bio-piracy มากขึ้น สร้างผลกระทบต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย

4.4 ปัญหาผลกระทบต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทาง ชีวภาพ (CBD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ ซึ่งตามอนุสัญญาฯ มีข้อกำหนดเรื่องการแจ้งขออนุญาตการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมล่วงหน้า เรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เรื่องการเคารพภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ ถ้าประเทศไทยต้องนำระบบสิทธิบัตรพืชและสัตว์ หรือการคุ้มครองพันธุ์พืชตามระบบ UPOV มาใช้ จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ต่อการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขดังกล่าวที่เป็นพันธกรณีภายใต้ อนุสัญญา CBD

ทั้งนี้ ภายใต้การเจรจาในหัวข้อว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ( Environment Chapter)  ทางสหรัฐฯ ได้มีข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยยอมรับสิทธิ หน้าที่ และพันธกรณีเฉพาะความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ( Multilateral Environmental Agreements : MEAs ) ที่ประเทศไทยและสหรัฐเป็นภาคีร่วมกันเท่านั้น  สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของ CBD ซึ่งมีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม 2547 แต่สหรัฐฯ ไม่ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิก ตามข้อเรียกร้องของสหรัฐดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิของประเทศไทยในการนำเอา มาตรการ ข้อกำหนดต่างๆ ในอนุสัญญามาใช้ดำเนินการ และอาจทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าการดำเนินการใดๆ ตามพันธกรณีของไทย ขัดแย้งกับข้อกำหนดที่มีอยู่ในความตกลง FTA ระหว่างไทย-สหรัฐ

เอฟทีเอรายประเทศ: 
หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: