ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการเจรจาเอฟทีเอในบทว่าด้วยสิทธิบัตร: เลวร้ายกว่าที่คิด

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

การชุมนุมคัดค้านการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ในรอบที่ 6 ณ เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนมกราคม ถือได้ว่า เป็นการชุมนุมที่มีพลัง มีเนื้อหา และมีสีสันมากที่สุดครั้งหนึ่งของการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมา ปกป้องวิถีชีวิต ปกป้องคนไทยให้สามารถเข้าถึงยาและบริการทางสาธารณสุข รวมถึงฐานทรัพยากร

แต่กระนั้นก็ตาม อาจมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า การคัดค้านเอฟทีเอที่ประเทศไทยกำลังทำกับสหรัฐอเมริกานั้น เป็นเรื่องของผู้ที่วิตกกังวลและมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป

ข้อสังเกตที่ว่าถูกลบทิ้งไปทันที ที่ www.bilaterals.org  เปิด เผยเนื้อหาข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ เรื่องสิทธิบัตรที่ยื่นต่อฝ่ายไทยในการเจรจารอบที่ 6 ที่เชียงใหม่ ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวนายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายอมรับในเวลาต่อมาว่า เป็นของจริง เพราะความวิตกกังวลที่เกือบจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายนั้น กลายเป็นการมองโลกในแง่จริง แต่ที่ยิ่งกว่า คือ ข้อเรียกร้องดังกล่าว เป็นที่ยอมรับในบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่เกาะติดการทำเอฟทีเอของสหรัฐฯในระดับ นานาชาติว่า เลวร้ายกว่าที่คิด (worse than feared)  

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวโดยสรุปว่า เป็นข้อเรียกร้องที่ละโมภอย่างมากของบรรษัทยาผ่านทีมเจรจาสหรัฐฯ โดยฉกฉวยเอาประโยชน์ในทุกๆทาง ทั้งๆ ที่เป็นการรับประโยชน์ซ้ำซ้อน ต้องการผูกขาดตลาดยาและวิธีการรักษาโรค ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต ทำลายระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพและทำลายโอกาสการพัฒนาเพื่อ พึ่งตนเองทางยาของประเทศไทย

 

ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ สรุปได้ดังนี้

1. กดดันให้ไทยให้สิทธิบัตรพืช และสัตว์ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ไทยเป็นสมาชิก UPOV 1991 ในบททั่วไป

นั่นคือ ไทยต้องยอมให้สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตกับสหรัฐฯ  ขณะที่ระบบสิทธิบัตร คือ ระบบที่ได้ผลประโยชน์จากการต่อยอดความรู้เท่านั้น  โดยต้องมีความใหม่  มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรมได้   ขณะที่ ประเทศไทยในฐานะเจ้าของทรัพยากร และเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากระบบนี้เลย แต่สหรัฐฯสามารถเอาพืชสัตว์เหล่านี้ไปปรับปรุงพันธุกรรมแล้วผูกขาดความเจ้า ของได้  

 

2. กดดันให้ไทยให้สิทธิบัตรวิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย และการผ่าตัด

สหรัฐฯถือว่า ขั้นตอนการตรวจ รักษาโรคทุกขั้นตอน เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ป่วยต้องจ่าย  ไม่ว่าจะเป็นวิธีการตรวจโรค วิธีการรักษา และวิธีการผ่าตัด  นอกจากนี้วิธีการวินิจฉัยโรคต้องประกอบด้วยการใช้ยาหรือสารเคมีในการตรวจ รักษา   ถึงที่สุด ทุกข์หนักก็จะตกกับผู้ป่วยเพราะต้องจ่ายซ้ำ  จ่ายซ้อน ทั้งการใช้วิธีการวินิจฉัยโรคที่แพง ควบคู่ไปกับยาหรือสารเคมีที่แพงจากสิทธิบัตรทั้งคู่ ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ของสหรัฐฯ ไม่พบในเอฟทีเอที่สหรัฐฯ ได้ทำกับประเทศต่างๆ ที่ผ่านมาเลย เรียกว่า พิเศษสุดๆสำหรับ “มหามิตร” อย่างไทย

ดร.จิราพร  ลิ้มปานานนท์  อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขอเรียกร้องของสหรัฐครั้งนี้ เนื้อหามันแย่ที่สุด เท่าที่เคยเห็นมาเลย  ทั้งที่เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์โดยตรง

 

3. ไม่ให้มีการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร

โดยปกติคำขอรับสิทธิบัตร จะประกาศให้ผู้อื่นยื่นคัดค้านก่อนได้ ถ้าเห็นว่าสิทธิบัตรนี้ไม่ถูกต้อง แต่ข้อเรียกร้องนี้คือ การไม่ยอมให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะก่อนการออกสิทธิบัตร เมื่อได้รับสิทธิบัตรก็ได้รับประโยชน์ผูกขาดตลาดอย่างสมบูรณ์แล้ว กว่ากระบวนการเพิกถอนหรือคัดค้านหลังการออกสิทธิบัตรจะทำได้ต้องใช้เวลาใน ชั้นศาลเป็นปีๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มค่าการจัดการและภาระทางศาลทรัพย์สินทางปัญญา

 

4. จำกัดการบังคับใช้สิทธิ ทำให้การบังคับใช้สิทธิเป็นไปอย่างลำบาก หรือไม่สามารถใช้ได้

การบังคับใช้สิทธิ คือ ในวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุข ยาราคาแพง ยาขาดตลาด เกิดความเดือดร้อนในการเข้าถึงยา รัฐ/เอกชนสามารถบังคับใช้สิทธิผลิตยาที่ติดสิทธิบัตรได้เลยโดยไม่ต้องรอเจ้า ของอนุญาต  แล้วค่อยจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของอย่างเหมาะสม  แต่สหรัฐฯเรียกร้องให้การบังคับใช้สิทธิดังกล่าว ทำได้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น  และต้องจ่ายค่าตอบแทนสูง ทำให้ในที่สุด การบังคับใช้สิทธิไม่สามารถแก้ปัญหายาราคาแพง หรือยาขาดตลาดได้จริง

 

5. ขยายอายุสิทธิบัตร ทำให้ขยายเวลาผูกขาดออกไปมากขึ้น

5.1 การจดสิทธิบัตรมีความล่าช้าจากกระบวนการจดสิทธิบัตรที่ต้องใช้เวลา 4 ปีนับจากวันยื่นคำขอ หรือ 2 ปีนับจากวันยื่นให้พิจารณาคำขอ

แทนที่จะทำข้อตกลงร่วมมือพัฒนาระบบการจดสิทธิบัตรให้มี คุณภาพ แต่สหรัฐฯกลับมาเร่งรัดเวลาการออกสิทธิบัตรให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น คือ จะพิจารณาช้าไม่ได้อีกต่อไป ไม่เช่นนั้นต้องชดเชยอายุสิทธิบัตรช้าเกินกำหนดไปเท่าไหร่ก็ต้องชดเชยไปเท่า นั้น  เท่ากับเป็นการบังคับให้เร่งออกสิทธิให้อย่างรวดเร็ว ผลก็คือการพิจารณาสิทธิบัตรอาจขาดความรอบคอบมากขึ้น ทั้งๆที่พบว่า การให้สิทธิบัตรในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ ไม่มีคุณภาพ  มีคำขอมากมายที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร  ก่อให้เกิดปัญหา “สิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย” (evergreening patent) คือ การทำอย่างไรก็ได้ให้สิทธิบัตรไม่มีวันหมดอายุ  เพราะยิ่งได้รับการคุ้มครองจากสิทธิบัตรยาวนานแค่ไหน   ยาก็จะสามารถขายได้แพงนานขึ้นและจะไม่มีคู่แข่งในตลาดเลย  ยกตัวอย่างกรณีที่บริษัทยา นำยาเก่า 2 ชนิดที่กำลังจะหมดอายุสิทธิบัตร มารวมกัน โดยอ้างว่า ตัวเชื่อมยาสองชนิดนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ แล้วขอจดสิทธิบัตรใหม่ ทำให้การผูกขาดยานี้ยืดอายุออกไปได้อีก เป็นต้น

5.2 ถ้าการออกสิทธิบัตรขึ้นอยู่กับการให้สิทธิบัตรในประเทศอื่น ต้องชดเชยอายุสิทธิบัตรให้ตามการชดเชยอายุสิทธิบัตรในประเทศนั้นด้วย

5.3 ขยายอายุสิทธิบัตรเพื่อชดเชยจากความล่าช้าการขึ้นทะเบียนตำรับยาทั้งในประเทศไทย และระยะเวลาการขึ้นทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศ

ทั้งๆ ที่ กระบวนการจดสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนตำรับยาไม่เกี่ยวข้องกันเลย และมาตรการการขึ้นทะเบียนตำรับยาเพื่อกลั่นกรองให้เฉพาะยาที่มีประสิทธิผล และความปลอดภัยออกสู่ตลาด การเร่งรัดนี้อาจส่งผลให้คุณภาพการกลั่นกรองลดลง ความเสี่ยงต่ออันตรายของผู้ใช้ยาเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้นยังต้องชดเชยอายุสิทธิบัตรตามเวลาการขึ้น ทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศด้วย เช่น ยาสหรัฐฯ ที่มาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาในไทย ต้องแสดงเอกสารรับรองการขายในสหรัฐฯ (Certificate of Free Sale) ถ้าการขึ้นทะเบียนตำรับยาในสหรัฐฯ ใช้เวลา 5 ปี และเมื่อกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยาในไทยล่าช้าอีก 5 ปี ประเทศไทยต้องชดเชยอายุสิทธิบัตรของยาสหรัฐฯ อีก 10 ปี เป็นต้น

 

6. ต้องให้โอกาสผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แก้ไขคำขอได้อย่างน้อย 1 ครั้ง

นั่นคือเปิดโอกาสให้มีการจองการจดสิทธิบัตรในสิ่งที่ยัง ไม่ค้นพบ  และทำให้การคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตรเป็นไปไม่ได้  เพราะสามารถแก้ไขคำขอในสาระสำคัญได้ และ การแก้ไขคำขอได้อย่างน้อย 1 ครั้ง หมายความว่า จะแก้กี่ครั้งก็ได้  

 

7. ลดคุณภาพของข้ออ้างสิทธิในสิทธิบัตรโดยไม่ จำเป็นต้องมีการทดลองได้ และไม่จำเป็นต้องประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม เพียงแสดงว่ามีความจำเพาะ มีแก่นสาร และน่าเชื่อถือว่าใช้ประโยชน์ได้ก็พอ

ขอเรียกร้องนี้ทำให้เกิด “สิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย” เพราะสามารถกล่าวอ้างในข้ออ้างสิทธิที่ไม่ต้องทำการทดลอง เปิดโอกาสให้มีสิทธิบัตรต่อเนื่อง เพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ซึ่งอาจเกิดโดยธรรมชาติ เช่น ผลึกของสาร ก็สามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้

นอกจากนี้ ภายใต้ข้อเรียกร้องในบทสิทธิบัตร ยังมีส่วนเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตร แทรกมาเป็น ของแถม ที่ผู้รับไม่อยากได้  คือ ส่วนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุม นั่นคือ ยาและสารเคมีการเกษตร ที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดจากการผูกขาดข้อมูล

“ของแถม” ที่สหรัฐฯ ยัดเยียดให้ สรุปได้ดังนี้

1. ผูกขาดข้อมูลยาใหม่และสารเคมีการเกษตรใหม่ 5 และ 10 ปี ตามลำดับ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนตำรับในไทยหรือต่างประเทศ

ผลของข้อนี้คือนับจากวันที่บริษัทยาได้ทะเบียนตำรับยาในไทย บริษัทยาสามารถผูกขาดตลาดยาใหม่

อย่างสมบูรณ์ได้อย่างน้อย 5 ปี โดยปิดประตูตายสำหรับคู่แข่งรายอื่นๆ หลังจากสิ้น 5 ปีไปแล้ว ไทยจึงสามารถให้จดทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญได้  ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะนำเสนอในไทย หรือเป็นข้อมูลที่ได้นำเสนอแล้วในต่างประเทศก็ตาม

2. ผูกขาดข้อมูลคลินิกใหม่ของตัวยาเก่า 3 ปี ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนตำรับในไทยหรือใช้ในต่างประเทศมาแล้ว

กรณีที่หนึ่ง ถ้ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีตัวยาเก่า ที่ต้องนำเสนอข้อมูลคลินิกใหม่ ก็ได้ผูกขาดข้อมูล 3 ปี โดยที่คู่แข่งไม่มีสิทธิสอดแทรกตลาด เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยา ในกรณีที่สอง ถ้ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีตัวยาเก่า ที่ต้องนำเสนอข้อมูลคลินิกใหม่ที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ ก็ยังได้รับสิทธิผูกขาดข้อมูล 3 ปี เช่นกัน

ตัวอย่างข้อมูลคลินิกใหม่ เช่น  ยาเก่าเป็นยาแก้โรคกระเพาะ ต่อมามีการค้นพบใหม่ว่า เป็นยาต้านไวรัสได้ด้วย ถือว่าเป็นข้อมูลคลินิกใหม่ที่บริษัทยาสามารถผูดขาดข้อมูลได้ 3 ปี เป็นต้น

ผลของข้อนี้คือ การผูกขาดตลาดตัวยาเก่าที่มีข้อมูลคลินิกใหม่ ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี นับจากวันที่ได้ทะเบียนตำรับยาในไทย ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะนำเสนอในไทย หรือเป็นข้อมูล ที่ได้นำเสนอในต่างประเทศมาแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความน่าวิตกของ “ของแถม” ที่ว่านี้ นอกจากจะเพิ่มการผูกขาดตลาดยาในรูปแบบใหม่ซึ่งทำให้ยาแพงแล้ว เมื่อเกิดวิกฤตสาธารณสุข หรือเกิดภาวะขาดแคลนยา ซึ่งควรต้องนำมาตรการบังคับใช้สิทธิมาแก้ปัญหา จะไม่สามารถทำได้ เพราะยาสามัญที่จะผลิตขึ้น หรือนำเข้ามานั้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยา ถ้าไม่ได้ขึ้นทะเบียนยา ก็ใช้รักษาโรคในประเทศไทยไม่ได้

และที่สำคัญ ความผิดดังกล่าว เป็นความผิดอาญา จึงยิ่งจะไปลดความหาญกล้าของข้าราชการหรือผู้เกี่ยวข้องที่จะตัดสินใจแก้ ปัญหาสาธารณสุขของชาติ

3. ผูกขาดข้อมูลการใช้ใหม่ของสารเคมีการเกษตรตัวเก่า 10 ปี ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนในไทยหรือต่างประเทศ

ผลของข้อนี้คือการผูกขาดตลาดสารเคมีทางการเกษตรตัวเก่า ที่มีการใช้ใหม่อย่างน้อย 10 ปี นับจากวันที่ได้ทะเบียนในไทย ไม่ว่าข้อมูลนั ้น จะนำเสนอในไทย หรือเป็นข้อมูลที่ได้นำเสนอในต่างประเทศก็ตาม

4. ถ้ายาหรือสารเคมีการเกษตรข้างต้นมีสิทธิบัตร และหมดอายุก่อนการผูกขาดข้อมูล ก็ไม่มีผลให้การผูกขาดตลาดจากการผูกขาดข้อมูลหมดไป

ผลของข้อนี้คือ ต้องการผูกขาดตลาดทั้งจากระบบสิทธิบัตร และมาตรการผูกขาดข้อมูลยา แล้วแต่ว่าระยะเวลาใดหมดทีหลังนั่นเอง หมายความว่า ต้องการลากให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้

5. ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้การขึ้นทะเบียน ตำรับยามีการละเมิดสิทธิบัตร และต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบถึงการขึ้นทะเบียนตำรับยานั้น

ผลของข้อนี้ ทำให้หน่วยงานรัฐฯ คือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจสิทธิบัตร ดูแลผลประโยชน์ของบริษัทยา มากกว่า ความปลอดภัยของคนไทย และจะยิ่งส่งผลให้การอนุมัติทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญล่าช้า จากการต้องเสียเวลาในการค้นหาข้อมูลสถานะสิทธิบัตรที่หน่วยงานนี้ไม่มีความ ถนัดเลย และถ้าเกิดความผิดพลาด อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐฯ อาจตกเป็นจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บรรษัทยา

แม้ว่า ในขณะนี้ การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ จะยุติชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา แต่จากข้อเรียกร้องของสหรัฐในประเด็นสิทธิบัตรที่ถูกเปิดเผยออกมานั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ข้อห่วงใยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐในประเด็นอื่นๆ รวมทั้งประเด็นสิทธิบัตร ไม่ได้เป็นเรื่องเลื่อนลอย หรือการสร้างภาพที่เกินจริง

ดังนั้น กระบวนการเจรจาที่โปร่งใส เปิดเผย การศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านจริงจัง และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทุกขั้นตอนจึงมีความจำเป็นอย่าง ยิ่ง

 

 

เรียบเรียงจาก วิเคราะห์ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการเจรจาเอฟทีเอในบทว่าด้วยสิทธิบัตร, รอง ศาสตราจารย์ ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 6 กุมภาพันธ์ 2549

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: