ระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2549 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA-Watch), GRAIN และ bilaterals.org ได้ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติเพื่อวางยุทธศาสตร์การต่อสู้กับเอฟทีเอครั้ง แรกของโลกที่กรุงเทพมหานคร โดยมีภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านเอฟทีเอหรือข้อตกลงการค้า ระดับทวิภาคีในแต่ละประเทศจาก 19 ประเทศ ทุกมุมโลกมาหารือร่วมกัน อาทิ
คอสตาริก้า ประเทศที่เปรียบเสมือนหลังบ้านของสหรัฐฯ ที่แม้รัฐบาลจะลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกากลาง (CAFTA) ไปแล้ว ประชาชนซึ่งได้เรียนรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนเม็กซิโกหลังจากทำเขต การค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และประสบการณ์จากชิลีซึ่งได้ทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกาเช่นกัน รวมตัวกันเป็นเครือข่าย เคลื่อนไหวและผลักดันจนรัฐสภาไม่รับรอง ทำให้ คาฟต้าไม่มีผลบังคับใช้ในคอสตาริก้า “คอสต้าริก้ามีมหาวิทยาลัยของรัฐอยู่ 4 แห่ง สภามหาวิทยาลัย 3 ใน 4 แห่งร่วมกันต่อต้านเอฟทีเอ ผู้ตรวจการรัฐสภาก็เป็นองค์กรที่ประกาศตัวว่าไม่เอาเอฟทีเอด้วย เรามีสถาบันอื่นๆที่เป็นที่ยอมรับประกาศตัวว่า ไม่เอาเอฟทีเอด้วย มีศิลปินแสดงวัฒนธรรมคัดค้านเอฟทีเออย่างแข็งขัน จนทำให้รัฐสภาไม่รับรองในที่สุด” มาเรีย ยูเจนิโอ เทรโฮ (Maria Eugenio Trejos) จาก องค์กรความคิดแห่งการสมานฉันท์ (Pensamiento Solidario) กล่าว
โคลัมเบีย แม้จะเป็นประเทศที่สหรัฐ ฯ แทรกแซงทางการเมืองมากที่สุด แต่ เอฟทีเอ ทำให้ประชาชนออกมารวมพลังคัดค้านอย่างมาก “เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2547 เราสามารถระดัมพลังเป็นล้านคนออกมาประท้วง ในเมืองหลวง ประชาชน-ชนพื้นเมืองออกมาปิดถนน แล้วรัฐบาลก็ยิงประชาชน มีคนบาดเจ็บ 500 กว่าคน ตาย 6 คน แต่ก็สามารถให้รัฐบาลต้องนำเอฟทีเอกับสหรัฐเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และจะมีการลงคะแนนในเดือนตุลาคมนี้” ออเรลิโอ ซูอาเรซ (Aurelio Suarez) จาก สมาคมแห่งชาติเพื่อการกอบกู้เกษตรกรรมและปศุสัตว์ (Asociacion Nacional por la Salvacion Agropecuaria - ANSA) กล่าว
ในฟิลิปปินส์ แม้รัฐบาลจะเร่งรัดการเจรจาเอฟทีเอกับญี่ปุ่นและต้องการรวบรัดลงนาม แต่ประชาชนรวมทั้ง สมาชิกรัฐสภาไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลในการเจรจาเลย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงร่วมกับภาคประชาสังคมฟ้องร้องรัฐบาลในศาลสูงสุดฐาน ละเมิดรัฐธรรมนูญในการลงนามเอฟทีเอกับญี่ปุ่น ทำให้จนถึงขณะนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถลงนามได้ มาริโอ อากูจา (Mario Aguja) ส.ส.จากพรรคอัคบายัน ประเทศฟิลิปปินส์ (Akbayan Citizen Party) กล่าวว่า “เราร่างคำฟ้องไปที่ศาลบอกว่า คนงานจะได้ผลกระทบ เกษตรกรได้รับผลกระทบ เราต้องการข้อมูล ในฐานะที่เป็น ส.ส.ต้องปกป้องประชาชน ไม่รู้ข้อมูลจะปกป้องประชาชนได้อย่างไร และรณรงค์ว่า มันขัดรัฐธรรมนูญ”
ที่เกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ รอบที่ 2 แต่การเจรจาต้องจบก่อนเวลา เพราะมีผู้ประท้วงเกือบแสนคน และสหภาพแรงงานนัดหยุดงานทั่วประเทศเป็นเวลา 1 วัน ชอย แจ กวน (Choi Jae Kwan) ตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรเกาหลี (Korean Peasant League – KPL)กล่าวว่า “เมื่อเริ่มต้นการสำรวจ ความคิดเห็นมีคนคัดค้านแค่ 20% เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้จักเอฟทีเอจึงไม่มีความเห็น แต่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการด้านต่างๆ กว่า 300 คนได้ร่วมมือกันทำวิจัยครอบคลุมหลายมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมือง เป็นเวลา 3 เดือน ได้เอกสารวิชาการมีความหนา 700 หน้า เผยแพร่ต่อสาธารณะ ทำให้มีความตื่นตัวกันมาก ผลสำรวจล่าสุด คนเกาหลีใต้ 52% คัดค้านเอฟทีเอ ในการคัดค้านที่ผ่านมา มีผู้แทนจาก 14 ภาคส่วน อาทิ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม สาธารณสุข ภาพยนตร์ ดนตรี สื่อมวลชน การศึกษา ผู้บริโภค ฯลฯ เป็นเครือข่ายพันธมิตรทำงานทั้งในระดับภูมิภาค มีการเดินทางทัวร์ทั่วประเทศจัดการแสดงวัฒนธรรม และจัดสัมมนาทุกอำเภอ”ตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2545 โรเบิร์ต โซลลิค ผู้แทนการค้าสหรัฐในขณะนั้น ได้ให้การกับคณะกรรมาธิการ ด้านการเงินของวุฒิสภาสหรัฐ ระบุว่า สหรัฐฯจะใช้การเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคีเพื่อเป็นเครื่องมือในการประกันผล ประโยชน์ของอเมริกาทั่วโลกเอฟทีเอ หรือข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีถูกใช้เป็นเครื่องมือใหม่ในการสร้างหลัก ประกันผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในการเข้าถึงทรัพยากรและตลาดของประเทศต่างๆ รวมถึงการครอบงำเศรษฐกิจ ร่วมกับองค์กรอย่าง ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และธนาคารเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งลักษณะการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น USAID ที่ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่มาก่อนหน้า ควบคู่ไปกับการขยายอำนาจและอิทธิพลทางทหารในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐทั่ว โลกเอฟทีเอ จึงไม่ใช่แค่เรื่องการค้า แต่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของมหาอำนาจสหรัฐฯ ขยายอำนาจจักรวรรดินิยมยุคใหม่ ในการครอบครอง และควบคุมตลาดการค้า การลงทุน และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศต่าง ๆ ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั่วโลก เช่น จากประสบการณ์ของประเทศในอเมริกากลางและอเมริกาใต้, ปากีสถาน, เกาหลีใต้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทยและฟิลิปปินส์ และที่สำคัญประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ จะต้องหนุนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เช่นที่ ต้องส่งทหารไปร่วมรบในอิรัก และปราบปรามประชาชนในประเทศโดยอ้างว่าเป็น “พวกก่อการร้าย”
อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ประเทศเดียวที่พยายามขยายจักรวรรดิใหม่ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น รวมทั้งอินเดีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจเกิดใหม่ ก็พยายามขยายจักรวรรดิของตัวเองไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสร้างผลกระทบกับประเทศขนาดเล็กกว่าอย่างมาก โดยที่ผู้ประกอบการรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น ผู้หญิง เด็ก รวมทั้งทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
นอกจากนี้ ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ จะใช้ยุทธวิธีแบ่งแยกแล้วครอบครอง (Divide and Conquer) ทั้งในระดับระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อให้แต่ละประเทศแข่งขันกันเองเพื่อสรุปข้อตกลงฯให้เร็วที่สุด ข้อตกลงเหล่านี้ทำให้ผู้คนสังคมแตกขั้วขัดแย้งกัน ระหว่างผู้ที่คาดหวังจะได้ประโยชน์ กับผู้เสียประโยชน์ ได้แก่ ผู้ส่งออกซึ่งจะได้ประโยชน์จากการส่งออกได้มากขึ้น ผู้บริโภคซึ่งในระยะสั้นจะได้บริโภคของถูกที่นำเข้ามา ผู้ป่วยที่จะต้องซื้อยาแพง แรงงานที่ถูกกดขี่หนักขึ้น ไปจนถึงเกษตรกร ชาวนาที่วิถีชีวิตรอวันล่มสลาย
ลักษณะเด่นของการเจรจาเอฟทีเอที่ทุกประเทศต้องเผชิญคือ การเจรจาต้องเก็บเป็นความลับสุดยอด ไม่ว่าประเทศนั้นจะพัฒนาแล้วเพียงใด หรือมีประชาธิปไตยมากเพียงใดก็ตาม เช่นกรณีของแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ล่าสุด กรณีของเกาหลีใต้ รัฐบาลเกาหลีใต้ถึงกับยอมรับปากสหรัฐฯจะเก็บข้อตกลงเอฟทีเอเป็นความลับหลัง เอฟทีเอมีผลบังคับใช้แล้วถึง 3 ปี ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน และกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิการมีส่วนร่วม และการเข้าถึงข้อมูล แต่กระนั้นก็ยังได้รับข้อมูลอย่างจำกัดจำเขี่ย และบางประเทศรัฐบาลยังใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนที่เรียกร้อง “ถ้าเอฟทีเอให้ประโยชน์กับเราจริง ทำไมพวกเขาไม่บอกเราว่ากำลังเจรจาอะไร”
ลักษณะเด่นอีกประการของการเจรจาเอฟทีเอ คือ การที่รัฐบาลในแต่ละประเทศจะพยายามโหมโฆษณาชวนเชื่อว่า เอฟทีเอ จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น อย่างกรณีของรัฐบาลแอฟริกาใต้ถึงกับมีโฆษณาสร้างภาพว่า เอฟทีเอ เป็นรถไฟพาไปสู่สวรรค์ และจะทำให้แอฟริกาใต้เป็นประเทศพัฒนาระดับสูง แต่จากประสบการณ์ของประเทศที่ลงนามเอฟทีเอไปแล้ว เช่น ชิลี ออสเตรเลีย พบว่า ผลที่เกิดขึ้นไม่ดีอย่างที่โฆษณา หลายกรณีเลวร้ายกว่าที่คิด ในชิลี เอฟทีเอทำให้ประชาชนสูญเสียที่ดิน มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการแปรรูปสาธารณูปโภค จนขณะนี้ไม่เหลืออะไรให้แปรอีกแล้ว น้ำประปา น้ำดื่ม น้ำในทะเล ในอ่างเก็บน้ำ ในแม่น้ำ รวมทั้งสิ้น 80% ของน้ำในชิลีเป็นของบริษัทเอกชน รวมทั้งพื้นที่มหาสมุทรก็ถูกแปรรูปไปเป็นของเอกชน ในกรณีของออสเตรเลีย ที่เอฟทีเอ สหรัฐ-ออสเตรเลียมีผลบังคับใช้แล้วปีครึ่ง มีการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจพบว่า เพียง 1 ปีของเอฟทีเอทำให้การส่งออกของออสเตรเลียลดลง 5% และขาดดุลเพิ่มขึ้น 5% ซึ่งไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลสัญญาไว้แต่แรก นอกจากนี้ สหรัฐฯยังพยายามที่จะเปลี่ยนกฎหมายสิทธิบัตรและโครงการหลักประกันสุขภาพของ ออสเตรเลียที่จะทำให้ยามีราคาแพง ขณะที่อุตสาหกรรมยาของออสเตรเลียต้องย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับการนำเข้าของสหรัฐฯได้ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงผลเสียของเอฟทีเอ ขณะนี้กำลังเรียกร้องให้ทบทวนเอฟทีเอกับสหรัฐฯ และคัดค้านเอฟทีเอที่กำลังจะทำกับจีน
จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆพบว่า หากมีการเผยแพร่ข้อมูล การวิเคราะห์-วิจัย เอฟทีเออย่างรอบด้านครอบคลุมทุกมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง จะทำให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของเอฟทีเอที่จะมีขึ้นกับทุกภาคส่วน และมาร่วมกันคัดค้านอย่างมีพลัง ในกรณีของคอสตาริก้า ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกากลาง หรือ CAFTA ไปแล้ว แต่ประชาชนในประเทศจำนวนมากคัดค้าน CAFTA จึงไม่มีผลบังคับใช้ในคอสตาริก้า, ในฟิลิปปินส์ รัฐบาลยังไม่สามารถลงนามเอฟทีเอกับประเทศญี่ปุ่นได้ เนื่องจากเครือข่ายภาคประชาชนได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐบาลดำเนินการเจรจาไปโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในโคลัมเบีย สถาบันวิชาการและองค์กรอิสระต่างๆร่วมประกาศจุดยืนค้านเอฟทีเอ ขณะที่ เกาหลีใต้ ไทย และ เอกวาดอร์ สามารถใช้ข้อมูลรณรงค์จนสามารถชะลอการเจรจาและการลงนามได้
ทั้งนี้ จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของภาคประชาสังคม 19 ชาติทั่วโลกตลอด 3 วัน ผู้นำขบวนการประชาชนได้มีตกลงร่วมกันที่จะสนับสนุนการต่อสู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งการพัฒนาเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งการสังเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ งานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผลกระทบ วาระซ่อนเร้น และเล่ห์เหลี่ยมของประเทศมหาอำนาจ และแทคติคของรัฐบาลต่าง ๆ ที่จะจูงใจประชาชนให้สนับสนุนเอฟทีเอ รวมทั้งการเกาะติดพฤติกรรมบรรษัทข้ามชาติและกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังการ เร่งรัดทำเอฟทีเอ และประกาศเจตนารมย์ร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านเอฟทีเอด้วยความสมานฉันท์
หมายเหตุ
ภาคประชาสังคมจากประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ มาจาก 19 ประเทศทั่วโลกประกอบไปด้วย เม็กซิโก, คอสตาริก้า, นิการากัว, โคลัมเบีย, ชิลี, เอกวาดอร์, อาร์เจนติน่า, โมร็อคโก, เซเนกัล, โมซัมบิก, แอฟริกาใต้, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ปากีสถาน, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย