เกษตรกรเม็กซิโก ครอบครัวแตก ชุมชนล่มสลาย ผลกระทบค้าเสรีอเมริกาเหนือ บทเรียนสำหรับชาวนาไทย
ในทุกซอกมุมของรัฐแคริฟอร์เนียและรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐ อเมริกา เช่น เทกซัส หลุยเซียน่า นิวเม็กซิโก อริโซน่า ฯลฯ จะพบเห็นผู้คนที่รูปร่างหน้าตาคล้ายคนเอเชียแต่พูดภาษาสเปน พวกเขาคือชาวเม็กซิกันที่คนอเมริกันเรียกพวกเขาติดปากว่า “ลาติโน” ซึ่งจะพบเห็นชาวลาติโนได้ทุกที่ ทั้งในชนบท ในฟาร์ม ป้ายรถเมล์และตามท้องถนน โดยเฉพาะย่านมิสชั่น (mission) ใน เมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโก อันเป็นย่านที่ชาวลาติโนเข้ามาทำมาหากินกันอย่างหนาแน่น ถ้าหากถามคนอเมริกันทั่วๆ ไปว่าทำไมคนลาติโนจึงเข้ามาอยู่ในอเมริกามากมายขนาดนี้ มักจะได้รับคำตอบว่า “เขามาหาเงินส่งกลับบ้าน ประเทศเขายากจน ค่าเงินดอลลาร์ของเราแพง” คำตอบเหล่านี้เป็นแต่เพียงความจริงที่เห็นเป็นปรากฏการณ์เท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงอันเจ็บปวดที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์อพยพแรงงานข้ามชาติ ขนาดใหญ่นั้น มันโหดร้ายกว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้าหลายเท่านัก มันคืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติ โดยอำนาจทุนที่เหนือกว่าสมคบกับทุนภายในชาติทำลายรากฐานชีวิต ชุมชนและวัฒนธรรมของชาวเม็กซิกันอย่างโหดเหี้ยมไร้ความปราณี
ประวัติ ศาสตร์การเกษตรบอกว่าข้าวโพดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ชาวเม็กซิกันและชาวอเมริกาใต้มีวัฒนธรรมในการกินข้าวโพดเป็นอาหารหลัก อาหารพื้นบ้านต่างๆ เช่น tortilla, taco, enchilada, flanta ล้วนแล้วแต่ปรุงขึ้นจากแป้งข้าวโพดหรือมีข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก ชาวลาติโนจึงเป็นเจ้าของวัฒนธรรมข้าวโพดเช่นเดียวกับคนเอเชียเป็นเจ้าของ วัฒนธรรมข้าวและวัฒนธรรมปลาแดกในลุ่มน้ำโขง
Cristing Carrasquillo เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานติดตามสถานการณ์ปัญหาในเม็กซิโกเล่าว่า การเปิดเสรีให้ทุนใหญ่จากอเมริกาเข้าถึงตลาดเม็กซิโกอย่างรวดเร็วก่อให้เกิด ผลกระทบอย่างรุนแรง กิจการห้างร้านบริษัทขนาดเล็กของชาวเม็กซิกันอยู่ไม่ได้ต้องปิดกิจการ ห้างสรรพสินค้าใหญ่อย่างวอลล์มาร์ท (Wal-Mart) เข้า ไปตั้งเยอะมากในเม็กซิโก ข้าวโพดราคาถูกจากการอุดหนุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไหลบ่าเข้าตลาดเม็กซิโกทำ ให้เกิดการทำลายวิถีชุมชน ชาวชนบทที่มีอาชีพปลูกข้าวโพดต้องอพยพเข้าเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ ชุมชนเหลือแต่ผู้หญิงกับเด็ก
หลังจากการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือในปี 1994** รัฐบาลเม็กซิโกยกเลิกมาตรการปกป้องตลาดข้าวโพดทั้งมาตรการภาษีและระบบโควต้า ข้าวโพดส่งออกในราคาต่ำว่าทุนจากอเมริกา เข้าสู่ตลาดเม็กซิโก ฉุดให้ราคาข้าวโพดในเม็กซิโกต่ำลง 70 % เมื่อระยะเวลาผ่านไป 10 ปี พบว่าการนำเข้าข้าวโพดจากอเมริกา เพิ่มขึ้น 400% จาก 5 ล้านตันเป็น 20 ล้านตัน เกษตรกรผู้ผลิตข้าวโพดประมาณ 3 ล้านคนสูญเสียอาชีพหลั่งไหลเข้าเมืองเพื่อหางานทำเป็นกรรมกรและคนจนในเมือง เมื่อตำแหน่งงานในเม็กซิโกมีไม่พอก็ดิ้นรนหางานข้ามชาติเข้าสู่อเมริกา พื้นที่การเกษตรที่ดีที่สุดในเม็กซิโกถูกใช้เพาะปลูกผักผลไม้เพื่อส่งออกไป ยังรัฐที่มีฤดูหนาวยาวนานในสหรัฐอเมริกา โดยที่ชาวเม็กซิกันไม่มีโอกาสกินอาหารเหล่านั้นเลย
Watsonville เมืองเล็กๆ ในแคริฟอร์เนียเป็นเสมือนฐานที่มั่นของชาวลาติโน มีชาวเม็กซิกันย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ชนิดยกหมู่บ้าน ผู้คนในเมืองนี้เต็มไปด้วยชาวเม็กซิกันและพูดภาษาสเปนกันทั้งเมือง Watsonville เป็นที่ตั้งขององค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวลาติโนชื่อ “เบเล่ย์สีน้ำตาล” (BROWN BERETS) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ยุค 1960
การเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อหางานทำหรือแม้แต่ตั้งรกรากในแคริฟอร์เนีย
ของ ชาวเม็กซิกันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วอย่างยาวนาน อันเนื่องมาจากพื้นที่อยู่ใกล้กันและความเป็นมาในประวัติศาสตร์ แคริฟอร์เนียเป็นดินแดนอาณานิคมของสเปนมาก่อน ดังจะเห็นได้จากชื่อเมืองและสถานที่ต่างๆ ยังคงสืบทอดมาจากภาษาสเปน เช่น ซานฟานซิสโก (San Francisco) ซานโฮเซ (San Jose) แซคคาร์เมนโต (Sacramento) เป็นต้น สหรัฐอเมริกายึดครองแคริฟอร์เนียจากการทำสงครามขยายดินแดนกับสเปน ชนพื้นเมืองอเมริกันและชาวเม็กซิกันในฐานะพลเมืองอาณานิคมของสเปนย่อมอยู่ อาศัยบนแผ่นดินนี้มาก่อน
การพยายามเข้าอเมริกาเพื่อหางานทำใน ปัจจุบันของชาวเม็กซิกันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากลำบากอย่างยิ่ง เกษตรกรเม็กซิกันที่พลัดพรากจากครอบครัวจะต้องจ่ายเงินให้กับนายหน้าแล้วรอ จังหวะเวลาที่จะลักลอบข้ามพรมแดน การเข้าอเมริกาเพื่อทำงานอย่างถูกกฎหมายของแรงงานเม็กซิกันถูกควบคุมอย่าง เข้มงวด บางกลุ่มถูกเจ้าหน้าที่อเมริกาจับกุมแล้วส่งตัวกลับทันที หลายคนเสียชีวิตก่อนที่พวกเขาจะมีโอกาสได้งานทำในอเมริกา เนื่องจากในรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีพรมแดนติดกับเม็กซิโกมีขบวน การต่อต้านการเข้ามาหางานทำของชาวเม็กซิกันโดยคนในท้องถิ่น ถึงขนาดมีการลอบยิงชาวเม็กซิกันที่พยายามข้ามพรมแดนเสียชีวิตชนิดจับมือใคร ดมไม่ได้ สถิติตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2004 มีชาวเม็กซิกันเสียชีวิต 1,600 คน จากความพยายามที่จะเข้าไปหางานทำ สหรัฐอเมริกาประเทศที่สร้างขึ้นมาจากมือของผู้อพยพ ณ วันนี้ ผู้คนบางส่วนในสังคมนี้ซึ่งล้วนแต่กำเนิดมาจากบรรพบุรุษที่เป็นผู้อพยพกลับ ขลาดกลัวและรังเกียจผู้อพยพใหม่จากเม็กซิโก
จาก เกษตรกรมาสู่กรรมาชีพพเนจรข้ามชาติเมื่อเกษตรกรเม็กซิกันข้ามพรมแดนเข้า อเมริกาได้ เข้าไปทำงานที่ต้องการจ้างแรงงานราคาถูกและไม่จำเป็นต้องสื่อสารภาษาอังกฤษ ได้ดีอย่างงานในฟาร์ม พวกเขาเหล่านี้ต้องทำงานหนักทั้งวันแต่ได้ค่าแรงต่ำ และการอพยพแรงงานของเกษตรกรเม็กซิกันมักเป็นการอพยพระยะยาว 5-10 ปี ด้วยความหวังว่าลูกจะได้เรียนหนังสือ มีทุนรอนในการประกอบอาชีพกับครอบครัว คนที่ทำงานอยู่ในอเมริกาเป็นเวลานานพอจะรู้ที่รู้ทางก็จะพยายามเข้าไปหางาน ทำในเมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโก เพราะมีทรัพยากรมากกว่า แต่พวกเขายังคงต้องทำงานหนักแทบไม่มีวันหยุดและได้ค่าแรงต่ำ แม้ว่ารัฐแคริฟอร์เนียจะมีกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ 7 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง แต่มีโอกาสน้อยมากที่แรงงานชาวเม็กซิกันจะได้ค่าแรงตามกฎหมาย จำนวนมากต้องอยู่ในลักษณะลูกจ้างรายวัน ในช่วงเช้าของแต่ละวันก็จะเห็นชาวเม็กซิกันยืนรอนายจ้างในเมืองซานฟรานซิสโก บางวันหรือหลายวันอาจจะไม่มีงานทำเลย
Mexican-American Political Association มีข้อเสนอให้เปิดด่านเสรีการข้ามพรมแดน เพราะเมื่อเปิดเสรีการเงิน การค้าและการลงทุนได้เหตุใดจึงไม่เปิดเสรีคน ทั้งๆ ที่ความจริงการข้ามพรมแดนขณะนี้ก็เสรีอยู่แล้วสำหรับนักท่องเที่ยวและนัก ธุรกิจ มีชาวอเมริกันกว่าล้านคนเข้าไปซื้อที่ดินในเม็กซิโก แต่รัฐบาลอเมริกาและบริษัทใหญ่ในอเมริกากลับต้องการควบคุมแรงงานชาวเม็กซิ กันและกันพวกเขาออกจากสังคม กันแรงงานออกจากนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้พวกเขามีโอกาสสร้างครอบครัวในอเมริกา แม้แต่กลุ่มฝ่ายซ้ายบางส่วนในอเมริกาก็ยังมีความเห็นว่าควรควบคุมแรงงาน อย่างไรก็ตาม การหลั่งไหลเข้ามาทำงานในอเมริกาของชาวเม็กซิกันเป็นเสมือนกรรมติดจรวดที่ ตอบสนองอเมริกาอย่างทันตา วันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม 2006 ที่ ผ่านมามีแรงงานอพยพออกมาชุมนุมในเมืองต่างๆ นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส เป็นแสนคน ซานฟรานซิสโก ประมาณห้าหมื่นคน แรงงานอพยพข้ามชาติกำลังเป็นหนามยอกอกรัฐบาลอเมริกาที่ยังหาทางออกที่ลงตัว ไม่ได้
ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือได้ สร้างผลกระทบถึงขั้นทำลายสังคม วัฒนธรรมชุมชนของเม็กซิโก ขณะที่นายทุนเม็กซิโกหยิบมือเดียวได้ประโยชน์ ยอดการส่งออกของเม็กซิโกไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงงานในเม็กซิโกกลับลดลงจากวันละ 5 ดอลลาร์ เป็นวันละ 4 ดอลลาร์
บทเรียนสำหรับรัฐบาลและชาวนาไทย
เป็น ไปไม่ได้ที่รัฐบาลและชนชั้นนำในประเทศไทยจะไม่รับรู้ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและการเมืองจากการเปิดเสรีทางการค้า อีกทั้งความเลวร้ายก็ได้เกิดให้เห็นบ้างแล้ว มีการชุมนุมประท้วงกันไม่เว้นแต่ละเดือน เหตุการณ์ที่ชาวบ้านเป็นแสนคนมาชุมนุมปิดด่านนำเข้าข้าวโพดก็เกิดขึ้นแล้ว แต่เท่าที่ติดตามข่าวนโยบายของรัฐบาลไทยก็ยังต้องการที่จะเจรจาการค้าเสรี ต่อไป ใช่หรือไม่หากจะกล่าวว่าเป็นเพราะคนบางกลุ่มในรัฐบาลยังคงเกี่ยวข้องอยู่กับ ผลประโยชน์จากการสมคบร่วมทุนธุรกิจโลกาภิวัตน์นั่นเอง การทำนาบนหลังคนยังคงเป็นวิถีทางที่นายทุน ขุนศึก ศักดินา ใช้เพื่อฉกฉวยผลประโยชน์เข้าหาตัว ในขณะที่ครอบครัวเกษตรกรรายย่อยและชุมชนชนบทถูกกดดันจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ให้ล่มสลายไป การที่บนเครื่องบินโบอิ้ง 747 ซึ่งจุผู้โดยสารมากกว่า 300 คน ของสายการบินไชน่าแอร์ไลน์ กรุงเทพฯ-ไทเป แทบจะทุกเที่ยวบินผู้โดยสารกว่าครึ่งลำเป็นคนอีสาน เดินเว้าลาวกันได้ทั้งลำ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าหวั่นวิตกเป็นอย่างยิ่ง
ใน วันนี้ชุมชนชนบทถูกกระทำให้ค่อยๆ ล่มสลาย ขณะที่ห้างวอลล์มาร์ทจากอเมริกายึดเม็กซิโก ห้างคาร์ฟูจากฝรั่งเศสยึดอาเจนติน่า เทสโก้จากอังกฤษก็กำลังเข้ายึดประเทศไทย ได้แต่หวังว่าประชาชนไทยจะตื่นทันเห็นกึ๋นเห็นเหนียงของทุนนิยมเสรี ก่อนที่จะเหลือแต่ประเทศไทยในมือทุนข้ามชาติและนายทุนไทยหยิบมือเดียว...
-------------------------------------------------
หมายเหตุ
* เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนของไทยที่มีประสบการณ์ด้านการส่งเสริมเกษตรกรรม ทางเลือกมายาวนาน และบทความชิ้นนี้เขียนขึ้นในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่า Bolinas ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
** ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (The North American Free Trade Agreement – NAFTA) คือข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ แคนนาดา และเม็กซิโก มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2537 ก่อนหน้าที่จะมี NAFTA สหรัฐฯ และแคนนาดามีข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีอยู่แล้ว ต่อมาถูกแทนที่ด้วย NAFTA บทเรียนของ NAFTA จะเห็นผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยชัดเจนที่สุด ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในฐานะคนชายขอบมากยิ่งขึ้น (คัดลอกจาก มาเรีย เทเรซา ดี. ปาสควล. 2549. ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีของสหรัฐฯ อเมริกาในเอเชีย. กรุงเทพมหานคร: เครือข่ายอธิปไตยทางอาหารแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค คณะทำงานโลกาภิวัตน์. หน้า 50.)
อธิบายรูป
รูปที่ 1 การชุมนุมประท้วงของแรงงานอพยพในวันแรงงานสากล 1 พ.ค. 2006 ณ กรุงวอชิงตันดีซี พร้อมกับชูป้าย “เราคืออเมริกา”
รูปที่ 2 ผู้ใช้แรงงานตัวจริงชาวเม็กซิกันรวมกลุ่มกันดูนายจ้างชาวอเมริกันฉลองวันแรงงานสหรัฐอเมริกา 4 ก.ย. 2006
รูปที่ 3 กลุ่ม BROWN BERETS องค์กรเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิคนลาติโน ชุมนุมต่อต้านสงครามอิรักเพราะคนลาตินอเมริกันจำนวนมากต้องไปเป็นทหารในกอง ทัพสหรัฐฯ
รูปที่ 4 ชาวเม็กซิโกกำลังปีนกับกำแพงพรมแดนสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก เพื่อหลบเข้าไปหางานทำ
รูปที่ 5 รั้วเขตแดนอเมริกา-เม็กซิโก มีกลุ่มชาวอเมริกันลาดตระเวนตามแนวชายแดนเอาธงชาติไปปักไว้
รูปที่ 6 แรงงานชาวเม็กซิกันทำงานในฟาร์มสตรอเบอรี่
รูปที่ 7 แรงงานชาวเม็กซิกันที่หางานทำรายวันเข้าไปรุมล้อมของานทำจากชาวอเมริกันรายหนึ่ง
รูปที่ 8 การประท้วงเรียกร้องสิทธิแรงงานอพยพเนื่องในโอกาสวันแรงงานสากล 1 พ.ค. 2006