ในภาวการณ์ที่การเมืองไทยยังไม่กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย การเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศของไทยกับประเทศต่างๆ จึงหยุดชะงักไปโดยปริยาย แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่นกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทางฝ่ายญี่ปุ่นกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้กระบวนการลงนามเดินหน้าต่อไป สำหรับฝ่ายไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้เตรียมแผนที่จะจัดเวที “ประชาพิจารณ์” ขึ้นในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ นี้ และจะเสนอเรื่องต่อ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เพื่อพิจารณาลงนามความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น ภายในเดือนมกราคม ปีหน้า
คณะผู้รับผิดชอบจัดเวทีประชาพิจารณ์ได้ติดต่อมายัง FTA Watch เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ เพื่อเชิญเข้าร่วมเป็นวิทยากรอภิปราย ทาง FTA Watch ได้มีหนังสือแจ้งตอบไปยังผู้จัดงานโดยมีสาระสำคัญว่า
1. ต้องมีการเปิดเผย “ร่างความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น” ที่คณะเจรจาสองฝ่ายถือว่าได้เจรจาเสร็จสิ้นไปแล้วต่อประชาชน ผู้ที่จะเข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์ โดยให้เปิดเผยทั้งฉบับเนื่องจากเป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย ถ้อยคำต่างๆ ที่เขียนไว้ในร่างความตกลงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชน ผู้เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์จะต้องได้อ่าน ได้มีเวลาศึกษาเพื่อที่จะสามารถให้ความเห็น ข้อเสนอแนะอย่างเป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ ตามเป้าหมายของการทำประชาพิจารณ์ได้
2. ต้องมีกติกากำหนดชัดเจนว่า หากการทำประชาพิจารณ์ได้ผลสรุปว่า ร่างความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น มีเนื้อหาส่วนใดที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทยจะต้องนำไปสู่การปรับแก้ไขเนื้อหาร่างความตกลงส่วนนั้นๆ ได้ มิฉะนั้นการทำประชาพิจารณ์จะเป็นเพียงพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะเจรจา แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติ เสียภาษีประชาชนในการจัดประชาพิจารณ์โดยไร้ประโยชน์ นอกจากนี้ เนื่องจากสาระของเนื้อหาในร่างความตกลง FTA มีหลายบทกว้างขวาง การจัดประชาพิจารณ์เพียง 1 วัน จึงไม่เพียงพอ
หลังจากที่ FTA Watch ส่งหนังสือไปยังผู้จัดงาน ได้มีการประสานติดต่อระหว่างผู้จัดงานกับกลุ่ม FTA Watch โดยทางกลุ่มผู้จัดงานได้ให้ข้อมูลว่ากระทรวงต่างประเทศพร้อมจะเปิดเผยเนื้อหาที่กลุ่ม FTA Watch ต้องการให้แจ้งความจำนงว่าต้องการเห็นส่วนใด แต่ทางกลุ่มเห็นว่า การพิจารณาเนื้อหาความตกลงไม่สามารถพิจาณาเป็นเสี้ยวส่วนได้ต้องพิจารณาเนื้อหาความตกลงทั้งฉบับ โดยทางผู้จัดงานได้เจรจาอีกรอบ และยินยอมให้กลุ่ม FTA Watch สามรถดูเนื้อหาทั้งฉบับได้ในวันแลเวลาทำการและต้องแจ้งล่วงหน้า ๑ วัน และไม่สามารถทำสำเนาเอกสารเพื่อเผยแพร่ได้เนื่องจากยังจัดเป็นเอกสารลับทางราชการ
ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์นี้ ทาง FTA Watch พร้อมกับคณะนักวิชาการอิสระจำนวนหนึ่ง จะเข้าไปดูร่างความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อที่จะได้มีข้อมูลมาวิเคราะห์ เผยแพร่ทำงานต่อไปตามภารกิจที่ทาง FTA Watch ได้ดำเนินงานมาโดยตลอดได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ร่างความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น ถูกเก็บรักษาเป็นความลับไว้เป็นอย่างดี ไม่เคยมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ เมื่อมีการตั้งคำถาม วิพากย์ วิจารณ์ต่อเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น ก็มักจะถูกหน่วยงานที่รับผิดชอบการเจรจาตอบโต้ว่า ผู้วิจารณ์ไม่รู้ข้อมูลที่เป็นจริง เป็นการวิจารณ์ไม่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจต่อสังคมด้วยว่า การที่กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตให้กลุ่ม FTA Watch เข้าไปดูเอกสารร่างความตกลงฯ นี้ ไม่ได้เป็นการหมายความว่า ทางกระทรวงได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะแล้ว กลุ่ม FTA Watch ไม่เคยอ้างสิทธิในฐานะตัวแทนประชาชนทั้งหมด ทาง กลุ่ม FTA Watch ได้ดำเนินกิจกรรม นำเสนอแนวคิด ข้อมูลในแง่มุมต่างๆ เพื่อต้องการถ่วงดุลกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ข้อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยร่างความตกลง FTA ทั้งฉบับก่อนการทำประชาพิจารณ์และก่อนการลงนามความตกลง ยังเป็นสิ่งที่ทางกลุ่ม FTA Watch ยืนยันว่าจะต้องปฏิบัติเป็นสิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับรู้ในฐานะเป็นพลเมือง และในฐานะเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากความตกลง
นอกเหนือจากนั้น กลุ่ม FTA Watch มีความตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า ภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด ( 1 วัน) ที่กระทรวงการต่างประเทศจัดให้ไปดูเอกสารร่างความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น จะไม่สามารถศึกษา วิเคราะห์ประเด็นปัญหา ผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ สิ่งที่ทาง กลุ่ม FTA Watch จะได้นำมาวิเคราะห์ศึกษาและเผยแพร่ต่อสาธารณะภายหลังจากได้เห็นเอกสารร่างความตกลงแล้ว จะไม่ใช่ปัญหาผลกระทบทั้งหมดของความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น แต่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปัญหาผลกระทบที่ประชาชนมีสิทธิได้รับรู้ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เรื่องที่ กลุ่ม FTA Watch ไม่ได้นำมาเผยแพร่ มิได้หมายความว่า จะไม่มีผลกระทบต่อประชาชน ทางออกของปัญหานี้ก็คือ ต้องเปิดเผยเนื้อหาร่างความตกลงทั้งหมด เพื่อให้ประชาชน นักวิชาการ สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ร่วมกันศึกษา ทำความเข้าใจ อันจะทำให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบ โดยการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างกว้างขวางและยืนยันว่าหากถือว่าการจัดเวทีครั้งนี้ เป็นการทำประชาพิจารณ์ที่แท้จริง จะต้องสามารถแก้ไขร่างความตกลงที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อสังคมไทยได้