ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยนายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคณะเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศจะเสนอร่างความตกลง JTEPA ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเท่านั้นว่า การเจรจายกร่างความตกลงได้เสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ดังนั้น เพื่อความรอบคอบโปร่งใส กระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเพิ่มเติมว่า จะมีการทำประชาพิจารณ์ใหญ่โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม จะมีการถ่ายทอดทั้งโทรทัศน์และวิทยุทั่วประเทศ เพื่อฟังเสียงประชาชน และกระทรวงการต่างประเทศยังเสนอให้คณะรัฐมนตรีนำร่างความตกลงฯ ไปเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติถกแถลง อภิปราย ให้ข้อคิดเห็นในเดือนมกราคมศกหน้าว่า สมควรมีการลงนามทั้งฉบับหรือไม่ หลังจากนั้น คาดว่า คณะรัฐมนตรีจึงจะพิจารณามีมติว่าจะลงนามหรือไม่
ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ซึ่งถูกกระทรวงการต่างประเทศอ้างถึงมาโดยตลอดว่า ได้รับโอกาสเข้าไปตรวจสอบร่างความตกลงฯ ขอชี้แจงว่า
การเข้าไปดูร่างความตกลงฯ เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มศึกษาฯทำหนังสือถึงคณะผู้รับผิดชอบจัดเวทีประชาพิจารณ์ว่า ต้องมีการเปิดเผยร่างความตกลงฯ ต่อประชาชนผู้ที่จะเข้าร่วมการประชาพิจารณ์ โดยเปิดเผยทั้งฉบับ และให้ผู้เข้าร่วมมีเวลาศึกษาก่อน แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศกลับต่อรองให้ทางกลุ่มศึกษาฯ ส่งตัวแทนเข้าไปดูร่างความตกลงฯที่กระทรวงฯ โดยต้องแจ้งชื่อก่อนล่วงหน้า 1 วัน
ทางกลุ่มศึกษาฯ ได้ส่งตัวแทนเข้าไปดูร่างความตกลงฯ 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ามีเงื่อนไขไม่อนุญาตให้นำเอกสารออกมาศึกษาได้เลย ซึ่งไม่มีทางที่ผู้เชี่ยวชาญท่านใดสามารถศึกษาร่างความตกลงหนา 900 หน้าในเวลาอันจำกัดเช่นนั้นได้ และยังผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการรับฟังความเห็นประชาชน 2548 ที่กำหนดไว้ว่า ต้องเปิดเผยสาระสำคัญล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 15 วัน จึงปฏิเสธที่จะเข้าไปดูความตกลงฯด้วยวิธีการเช่นที่ว่าอีก
นอกจากนี้ การประชาพิจารณ์ต้องมีหลักการและกติกาที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า หากผลการจัดทำประชาพิจารณ์นำไปสู่ข้อสรุปว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่ไม่อาจรับได้จากร่างความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น จะต้องนำไปสู่การเจรจาขอแก้ไขร่างความตกลงในส่วนนั้นๆ มิฉะนั้นแล้ว การจัดทำประชาพิจารณ์จะเป็นเพียงการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น หรือแสดงความกังวล แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในความตกลง การประชาพิจารณ์แบบนี้จึงเป็นเพียงรูปแบบกิจกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะเจรจาเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นการทำประชาพิจารณ์ที่มีความหมายแต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับเป็นการผลาญเงินภาษีของประชาชนไปในการจัดกิจกรรม และยังไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
ทั้งนี้ ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ขอเรียกร้องต่อคณะรัฐมนตรีที่นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้ตระหนักถึงความไม่โปร่งใสที่ปรากฏอยู่ตลอดกระบวนการนับตั้งแต่เริ่มเจรจา จนกระทั่งเตรียมส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ในชั้นนี้ เพื่อที่จะไม่ไปซ้ำรอยปัญหาที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำเอาไว้..