เดินหน้าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ความพ่ายแพ้ของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเลข

โดย  ประชาไทออนไลน์

<p>หลังจาก ?ประชาพิจารณ์? JTEPA หรือเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ไปแล้วครึ่งวัน ( 22 ธ.ค.49) ไม่ว่าใครจะเรียกมันว่า ประชาพิจารณ์หรือไม่ แต่ผลการประชุมคราวนั้นจะถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับรอง ก่อนที่จะนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับรองอีกทีให้ดูหนักแน่นยิ่งขึ้นก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย</p>
<p>JTEPA เจรจากันเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว มีแผนจะลงนามกันกลางปีแต่เกิดความผันผวนทางการเมืองเสียก่อน แต่เหตุว่า JTEPA เป็นข้อตกลงที่เน้นมิติเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก และเจรจาตีคู่กับกับเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยของสหรัฐครอบคลุมทุกมิติ สร้างผลกระทบกว้างขวาง การต่อต้านเอฟทีเอจึงพุ่งเป้าไปยังฉบับของสหรัฐแทน </p>
<p>กระนั้น ถึงตอนนี้เอฟทีเอฉบับของญี่ปุ่นก็ยังมีเครื่องหมายคำถามในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรจุลินทรีย์ที่เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าเข้าเจ้าของความหลากหลายทางชีวภาพของไทย, ของเสียอันตรายที่ญี่ปุ่นอาจส่งเข้ามาในไทยผ่านข้อตกลงนี้ที่ลดภาษีให้เหลือ 0 , การรักษาพยาบาลที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากอาจเข้ามาใช้แย่งทรัพยากรทางการแพทย์ ใช้บริการในไทย, มาตรการปกป้องฉุกเฉินที่อาจเป็นข้อจำกัดทำให้ไทยไม่อาจมีมาตรการปกป้องสินค้าเกษตรภายในได้เวลาเกิดวิกฤตต่างๆ<br />
คำถามเหล่านี้ถูกตอบทุกคำถาม เคลียร์มากบ้างน้อยบ้าง ส่วนใหญ่แล้วอ้าง ?กฎหมายภายใน? ที่ยังคงใช้ได้เช่นเดิมเป็นปราการคุ้มครองคนไทยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าข้อตกลงจะว่าไว้อย่างไร แต่ปัญหาหนึ่งที่มีมาตลอดแทบจะเรียกได้ว่าตลอดประวัติศาสตร์รัฐไทยก็คือ การบังคับใช้กฎหมาย</p>
<p>เรื่องนี้ ?เดือนเด่น นิคมบริรักษ์? แห่งทีดีอาร์ไอพูดไว้นานแล้วว่า จะทำข้อตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศ สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆ คือการปฏิรูปกฎหมายภายในให้ทันสมัยและ ?ใช้บังคับได้จริง? ไม่ใช่แหว่งวิ่นและเว้นโหว่แบบทุกวันนี้ </p>
<p>แต่ก็นั่นแหละ เรื่องนี้เรื่องใหญ่ สำหรับประเทศไทยแล้วยิ่งเป็นปัญหาที่สำคัญ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากเท่าไร มันจะได้รับการพูดถึงมากแต่ไม่ได้รับการแก้ไข !! </p>
<p>การเจรจาเอฟทีเอกับทุกประเทศดูเหมือนแยกส่วนเด็ดขาดกับเรื่องนี้ อย่าลืมว่านักเจรจามีหน้าที่ดูว่าประเทศไทยมีกฎหมายอะไรบ้างที่จะปกป้องเรื่องนี้เรื่องนั้น แต่ไม่ได้มีหน้าที่ (หรือต้องมีด้วย ?) ดูว่ากฎหมายนี้มันบังคับใช้ได้แค่ไหน เพียงไร มีปัญหาอะไรอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ </p>
<p>แม้ว่าข้อถกเถียงหลายส่วนยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน และหลายฝ่ายทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เอฟทีเอว็อทช์ สภาที่ปรึกษาฯ ทีดีอาร์ไอ นักวิชาการตลอดจนสมาชิกสภานิติบัญญัติบางส่วนเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนี้น่าจะเริ่มต้นด้วยการร่าง ?กติกา? หรือกฎหมายเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กันเสียก่อนเพื่อแก้ปัญหา ?การมีส่วนร่วม? และ ?ความโปร่งใส? ให้นอกจากจะฟังดูดีแล้วยังทำได้ดีด้วย แต่รัฐบาลไม่มีเวลาสำหรับการนั้นเสียแล้ว</p>
<p>ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต่างชาติเกิดเครื่องหมายคำถามกับรัฐบาลนี้ตัวเบ้อเริ่มในแนววิถีของรัฐไทย ทั้งจากกรณี ธปท.ได้ออกมาตรการ การกันสำรอง 30% จากกรณี พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ...เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น จะเป็นตัวยืนยันให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นว่า รัฐไทยยังน่ารักเหมือนเดิม ยังเดินในแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เช่นเดิม แม้จะต้องมีสโลแกนเก๋ๆ หลอกเด็กอย่างเศรษฐกิจพอเพียง หรือมีมาตรการแปลกๆ ออกมาสำหรับจัดการกับกลุ่มอำนาจเก่าบ้างก็ตาม... ?ขอได้โปรดอย่าหวั่นไหว? </p>
<p>ขุนคลังคนสำคัญ ?หม่อมอุ๋ย? ก็ประกาศชัด การที่เศรษฐกิจไทยปี 50 จะดีขึ้นหรือไม่ จะได้ตรงเป้ากับจีดีพีที่วางไว้หรือไม่ ตัวตัดสินอยู่ที่เมนโมตัมของภาคเอกชนว่าจะยังขยายดีต่อไปหรือไม่ </p>
<p>ข้อห่วงใยในเอฟทีเอไทยญี่ปุ่นที่ว่ากันมาทั้งหมด จึงเป็นอีก ?โลก? หนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวพันโดยตรงกับตัวเลขต่างๆ ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เผลอๆ อาจเป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ด้วยซ้ำไปในแว่นสี ?เงิน? </p>
<p>ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุด ทางประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ศ.เสน่ห์ จามริก และท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย รวมทั้งนักวิชาการจำนวนหนึ่งกำลังทำเรื่องขอเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ชะลอเรื่องนี้และเสนอข้อเสนอการร่างกฎหมายเอฟทีเอ<br />
ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาก็กำลังจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีที่กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ และอดีตส.ว.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ยื่นเรื่องเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วว่า รัฐบาลชุดที่แล้วลงนามเอฟทีเอโดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภา ขัดกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่เพิ่งถูกฉีก) มาตรา 224</p>
<p>ระหว่างที่ประเทศไทยกำลังฝุ่นตลบ หันดูในต่างประเทศ จะพบว่า ประเทศใหญ่ๆ มักวางระบบการเจรจาการค้าแบบนี้ไว้ค่อนข้างรัดกุม หลายประเทศต้องนำข้อตกลงเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อนลงนาม บางประเทศมีการตรวจสอบหลายชั้น </p>
<p>เช่น ในออสเตรเลียมีคณะกรรมาธิการร่วมด้านสนธิสัญญาของรัฐ (JSCOT) คอยตรวจสอบการทำสนธิสัญญา และต้องมีการนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลประโยชน์แห่งชาติซึ่งครอบคลุมทุกมิติ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ให้รัฐสภาพิจารณาประกอบด้วย </p>
<p>กระนั้นก็ตาม แม้มีระบบที่ค่อนข้างดีแล้วก็ยังมีตัวอย่างความผิดพลาดให้เห็น เช่น ออสเตรเลีย ตอนที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อปี 2548 นั้น มีการซิกแซกเร่งรัดให้รัฐสภาเห็นชอบเอฟทีเอโดยที่ยังไม่ทันได้พิจารณาให้ถ้วนถี่ ยังไม่ได้ดูรายงาน ความเห็นจากหน่วยตรวจสอบที่อุตส่าห์วางระบบไว้อย่างดีเลยแม้แต่น้อย </p>
<p>จากผลในตอนนั้น ทำให้ตอนนี้ออสเตรเลียได้รับผลกระทบเต็มๆ ในเรื่องสาธารณสุข เพราะโครงการสิทธิประโยชน์ด้านยา (PBS) ที่ดูแลประชาชนในประเทศ และเคยได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบที่ดีและแข็งแกร่งที่สุดระบบหนึ่งของโลกต้องสั่นคลอน ร่อแร่ใกล้สิ้นแรงในปัจจุบัน </p>
<p>นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถึงที่สุดแล้ว บางทีประชาชนอาจจะต้องยอมรับและอดทนกับความจริงอันหดหู่ ที่ว่า ไม่อาจวางใจรัฐบาลหน้าไหนได้พอกับที่ไม่อาจฝากความหวังไว้กับกฎหมายใดๆ ได้ ...นอกจากพลังของตัวเอง... </p>
<p>ที่มา: ประชาไท วันที่ 23 มกราคม 2550</p>
หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: