ข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรา 130(3) ระบุว่า ?ภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้ความมั่นใจว่าคำขอรับสิทธิบัตรใดๆจะไม่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวว่าสาระที่ขอถือสิทธิในคำขอนั้นเกี่ยวข้องกับจุลชีพที่เกิดตามธรรมชาติ? สาระสำคัญนี้มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นข้อความที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยไม่เฉพาะแต่จุลินทรีย์เท่านั้น แต่รวมถึงการนำจุลินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพันธุ์พืช อุตสาหกรรมอาหาร และยาของประเทศไทยด้วย
ภายใต้กฎหมายไทย จุลชีพหรือจุลินทรีย์และส่วนหนึ่งส่วนใดของจุลชีพ เช่น หน่วยพันธุกรรม(gene) โปรตีนหุ้ม(coat protein) และสารสกัดอื่นใด ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ ตามมาตรา 9(1) ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 ซึ่งระบุว่า ?จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช? ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ
การที่ไทย ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพปฏิเสธมิให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตเนื่องจากตระหนักดีว่าการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตนอกจากเหตุผลทางจริยธรรมแล้ว ยังเป็นเพราะไม่ต้องการให้ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายใช้กฎหมายสิทธิบัตรเข้ามาใช้ประโยชน์และครอบครองทรัพยากรชีวภาพในประเทศของตนนั่นเอง ทั้งนี้เป็นที่ตระหนักกันโดยทั่วไปว่าอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปนั้นมีความสามารถในการวิจัยและใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์และทรัพยากรชีวภาพเป็นอย่างมาก หากเปิดโอกาสให้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตจะเปิดทางให้ประเทศอุตสาหกรรมเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพทั้งหมดในท้ายที่สุด ทั้งๆที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ(อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ)ได้บัญญัติให้ทรัพยากรชีวภาพภายใต้เขตแดนของประเทศใดต้องอยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตยของประเทศนั้น
โดยในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยนั้นญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพฤติกรรมที่ถูกขนานนามว่า ?โจรสลัดชีวภาพ? มากกว่าใครอื่นทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การจดสิทธิบัตรสมุนไพรเปล้าน้อย การจดสิทธิบัตรกวาวเครือ และการจดลิขสิทธิ์ฤาษีดัดตน เป็นต้น
หากนึกไม่ออกว่าการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยขนาดไหน ให้ถึงถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลจดสิทธิบัตรไวรัสสายพันธุ์ไทยที่ต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวนในมะละกอ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา โดยที่สิทธิบัตรดังกล่าวครอบคลุม การแยกและจำแนกยีนจากโปรตีนหุ้มไวรัสใบด่างจุดวงแหวนมะละกอ(coat protein of papaya ringspot virus)สายพันธุ์ในประเทศไทย การใช้ไวรัสดังกล่าวเพื่อสร้างการต้านทานโรคไวรัสในมะละกอ สิทธิบัตรนี้ยังให้สิทธิผูกขาดแก่เจ้าของสิทธิบัตรเมื่อมีการนำไวรัสนี้ไปใช้ ในการพัฒนาพันธุ์พืชอื่นๆทั้งหมด รวมข้อถือสิทธิ์(Claims) ทั้งหมด 51 รายการ ซึ่งจะส่งผลให้มะละกอดัดแปลงพันธุกรรมที่กระทรวงเกษตรฯทำวิจัยในประเทศไทยทั้งหมดในประเทศไทยกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเดนนิส กอนซาลเวส และมหาวิทยาลัยคอร์แนล กรรมสิทธิ์นี้ยังครอบคลุมไปถึงมะละกอสายพันธุ์ท้องถิ่นอื่นๆที่ผสมข้ามกับมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม รวมไปถึงกรรมสิทธิ์ในพันธุ์พืชตระกูลแตง มะเขือเทศ และพืชอื่นๆทั้งหมดที่นำเอายีนจากไวรัสใบด่างจุดวงแหวนสายพันธุ์ไทยไปใช้ประโยชน์ด้วย เกษตรกรและแม้กระทั่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบด้วยเพราะจะถูกเรียกเก็บค่าสิทธิบัตรสูงถึง 35 % ของยอดขายจากผลิตภัณฑ์หากพบว่าเกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรที่เขาจดเอาไว้
ผลกระทบจากการลงนามเอฟทีเอระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมิได้ให้ประโยชน์กับประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวเท่านั้น แต่เป็นการเปิดให้สหรัฐอเมริกา ยุโรปและประเทศอุตสาหกรรมอื่นทั้งหมดที่เป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกไปพร้อมๆกันด้วย ตามหลักปฎิบัติต่อ ?คนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured-Nation Treatment)? ที่ระบุไว้ในมาตราที่ 4 ของข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลก
ในแง่นี้นอกจากนายเดนิส กอนซาลเวสจะจดสิทธิบัตรไวรัสใบด่างจุดวงแหวนของมะละกอกับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยอานิสงค์ของเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เขายังสามารถนั่งเครื่องบินจากฮาวายเข้ามาจดสิทธิบัตรดังกล่าวกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยได้ ซึ่งจะทำให้เขาสามารถไล่จับเกษตรกรไทยที่ปลูกมะละกอสายพันธุ์ท้องถิ่นที่บังเอิญมีเกสรมะละกอของมะละกอจีเอ็มโอปลิวมาผสมได้ เกษตรกรอาจต้องได้รับโทษสูงสุดคือ ?จำคุกสองปี ปรับสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ? ตามมาตรา 85(5) ของพ.ร.บ.สิทธิบัตร
เจตนารมณ์ของฝ่ายญี่ปุ่นในการบัญญัติมาตรา 130(3) นั้นชี้ให้เห็นชัดเจนว่าต้องการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยวาง ?หลักการ? และ ?แนวปฎิบัติ? ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรหน่วยพันธุกรรม หรือสารสกัดอื่นใดที่ได้มาจากจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรของไทย
รัฐบาลพึงตระหนักว่าตระหนักว่ากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั้นถูกผลักดันอย่างหนักจากประเทศอุตสาหกรรม ดังนั้นแนวปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยจึงโลเลไม่แน่นอนแปรเปลี่ยนไปตามแรงกดดันของชาติมหาอำนาจตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ความพยายามที่จะทำให้ชื่อพันธุ์ข้าวหอมมะลิเป็นชื่อทั่วไป (generic name) ภายใต้กฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เมื่อปี 2546 แต่น่ายินดีที่รัฐสภาในสมัยที่แล้วกลับลำเสียทันในวาระสามของการพิจารณากฎหมาย กรณีการคัดค้านมิให้องค์การเภสัชกรรมใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์(compulsory license)เพื่อผลิตยาราคาถูกกรณียารักษาโรคเอดส์ ก็เป็นตัวอย่างการวาง ?แนวปฎิบัติ? ที่ปกป้องผลประโยชน์ของมหาอำนาจยิ่งไปกว่าผลประโยชน์ของประชาชนของตนเอง
เพื่อขจัดช่องโหว่ที่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศ รัฐบาลจะต้องตัดข้อความในมาตรา 103(3) ของข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นออกทั้งหมด ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆที่จะคงมาตราดังกล่าวเอาไว้ เนื่องจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาและหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นระบุตรงกันว่าข้อตกลงนี้มิได้ให้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาแก่ญี่ปุ่นมากไปกว่าที่ระบุไว้ในกฎหมายสิทธิบัตรของไทย อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบเอกสารข้อตกลงเอฟทีเอที่ญี่ปุ่นทำกับฟิลิปปินส์ แล้วก็ไม่มีการเขียนข้อความเหมือนกับที่ปรากฏในข้อตกลงไทย-ญี่ปุ่นแต่ประการใด
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษขึ้นมาพิจารณาข้อตกลงนี้โดยละเอียด ทั้งนี้โดยระดมนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันวิเคราะห์เนื้อหารายละเอียดในทุกมาตรา การยกมือให้ความเห็นชอบโดยแค่รับฟังสรุปความเห็นของคณะเจรจาประกอบผลการศึกษาของนักวิชาการคนสองคนจากสถาบันแห่งหนึ่ง เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงในอนาคต
Attachment | Size |
---|---|
ตารางเปรียบเทียบเอฟทีเอญี่ปุ่น ทำกับมาเลเซียและฟิลิปินส์เฉพาะในหมวดทรัพย์สินทางปัญญา | 79.46 KB |