21 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ ห้องประชุมกระจก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) เปิดแถลงข่าวคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ให้เดินหน้าลงนามเอฟทีเอกับญี่ปุ่น
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สมาชิกเอฟทีเอว็อทช์ กล่าวว่า เอฟทีเอว็อทช์ขอคัดค้านมติของคณะรัฐมนตรี ให้เดินหน้าลงนามเอฟทีเอกับญี่ปุ่น และมอบหมายให้หัวหน้าคณะเจรจา คือ คุณพิศาล มาณวพัฒน์ เจรจากับญี่ปุ่นและทำความเข้าใจใน 2 ประเด็นเท่านั้น คือ จุลชีพและของเสียอันตราย เท่าที่ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ตั้งธงมาชัดเจนอยู่ก่อนแล้วว่าจะลงนาม สิ่งที่กลัวคือ อำนาจที่ให้คุณพิศาล จะไม่ทำให้มีการแก้ไขในข้อบทความตกลงฯแต่อย่างใด จะมีเพียงการเขียนบันทึกความเข้าใจท้ายบท (end note) ซึ่งมีแนวโน้มอย่างมากว่าจะไม่มีน้ำหนักลบล้างข้อบทที่เป็นปัญหาในตัวสัญญาได้
คำอภิปรายของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลายท่าน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ไม่ได้อิงอยู่บนข้อมูลจริง หลายท่านกล่าวเห็นด้วยกับการลงนามกับญี่ปุ่น ทั้งๆที่รัฐบาลชุดนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนในการทำงาน จึงไม่ควรนำผลประโยชน์ประเทศชาติไปแลก ซึ่งในเอฟทีเอ ยังมีข้อบทอีกหลายข้อที่อาจส่งผลกระทบด้านลบได้อีก
ขณะนี้ เอฟทีเอว็อทช์กำลังประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาชน 11 องค์กรซึ่งร่วมกันประท้วงการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯที่เชียงใหม่เมื่อต้นปี 2549 เพื่อหารือเรื่องการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ หากรัฐบาลไม่แก้ไขข้อบท เพราะเมื่อศึกษาไปเรื่อยๆจะพบว่า เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นแทบไม่ต่างอะไรจากเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ข้อตกลงด้านการเกษตรซึ่งคิดว่าจะได้มากที่สุด ก็ปรากฏว่า สองรายการแรก เป็นกุ้งและไก่ ซึ่งผู้ได้ผลประโยชน์ก็เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
คุณบัณทูร เศรษฐศิโรตม์ สมาชิกเอฟทีเอว็อทช์ อีกท่าน กล่าวว่า มติครม. ที่ผ่านมา ทำให้สามารถตีความได้ 2 แบบ คือ คณะรัฐมนตรี ไม่ได้มีความเข้าใจในตัวบทจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อมีความหนาถึง 940 หน้า หรือ เข้าใจ แต่เห็นว่าต้นทุนชีวิต สุขภาพ เป็นต้นทุนที่ต่ำมากที่ไปแลกกับสิ่งที่รัฐบาลหวังจะได้ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นข้อหลังมากกว่า
เมื่ออ่านร่างความตกลงฯหลายรอบและเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ทำให้เริ่มเข้าใจว่าญี่ปุ่นนั้นมีแบบร่างพิมพ์เขียว (template) ซึ่งจะเจรจาได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับคู่เจรจาที่จะไปขอเพิ่มหรือตัด ดังนั้น เรามีต้นทุนที่ต้องจ่ายและเป็นต้นทุนที่ญี่ปุ่นได้กำหนดไว้แล้วว่าต้องเป็นอย่างไร ที่เจรจาล่าช้า ไม่ได้เป็นเพราะเจรจาเรื่องต้นทุนเหล่านี้ แต่ไปอยู่ที่การเจรจาสินค้า ทำให้ดูเหมือนว่า เราต้องเหน็ดเหนื่อยเพื่อเจรจาให้ได้เป็นอย่างมาก แต่ความเป็นจริง ต้นทุนอื่นๆที่นอกเหนือจากเรื่องการค้าขายสินค้านั้นญี่ปุ่นได้วางไว้หมดแล้ว
สรุปสั้นๆ เรากำลังเปิดประตูสิทธิบัตรให้ญี่ปุ่นสามารถจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ได้ ซึ่งหมายถึงการอนุญาตให้จดสิทธิบัตรพันธุ์พืชนั่นเอง และก็ไม่ต่างจากกรณีเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ และกรณีกองทุนป่าเขตร้อนเลย และนอกจากนี้ คนที่ไปเจรจากองทุนเรื่องป่าเขตร้อน เจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ และเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น คือคนๆเดียวกันด้วย
เราได้เข้าไปคุยกับสมาชิกสนช. 7-8 คนก่อนการอภิปราย ท่านเหล่านั้นยังไม่ได้รับเอกสารความตกลงฯเลย แต่คณะเจรจาบอกว่าได้ส่งไปล่วงหน้าก่อน 1 วัน ดังนั้น จึงไม่มีสมาชิกท่านใดเลยที่จะอภิปรายโดยอ้างอิงถึงตัวความตกลงฯ จะมีก็เพียงคุณ บดินทร์ อัศวาณิชย์ ซึ่งได้ไปขอความตกลงฯมาก่อน 2 วัน จะสังเกตได้ว่า ในการอภิปราย คำที่ใช้กันมากที่สุด คือ เราต้องนึกถึงภาพรวม คำถามก็คือ ในเมื่อไม่ได้อ่านเอกสารทั้งหมด แล้วจะตัดสินใจบนภาพรวมได้อย่างไร ดังนั้น การอภิปรายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าความหวังของประชาชนในการปฏิรูปการเมืองนั้นแทบไม่มี
คณะเจรจาไม่เคยตระหนักถึงเรื่องสิทธิบัตรและขยะมลพิษเลย เอกสารของกระทรวงการต่างประเทศพิมพ์ครั้งแรกที่ไปแจกในวันประชาพิจารณ์ ไม่มีเรื่องขยะด้วยซ้ำ นี่คือข้อบกพร่องของคณะเจรจา ผลดีที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดกับผู้ส่งออก แต่ผลลบจะกระจายไปถึงทุกคนถ้วนหน้ากัน ถ้ายังเดินหน้าเอฟทีเอกับญี่ปุ่นต่อไป รัฐบาลควรจะเลิกพูดเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงเสียที สิ่งนี้แย่กว่าการที่คุณสมคิดมาช่วยงานรัฐบาลเสียอีก เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนจากคุณสมคิดเป็นใคร ถ้าเอฟทีเอกับญี่ปุ่นยังดำรงไปเช่นนี้ก็ไม่มีประโยชน์
พื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น หากมีการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ จะกระทบถึงทรัพยากรชุมชนที่เกษตรกรจะนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ ยังหมายถึงการพึ่งพาตัวเอง ถ้าไปอ่านบททรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ใช่สิทธิบัตร การเรียกร้องให้ไทยคุ้มครองสูงขึ้น เช่น ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือการกำหนดโทษการละเมิดสิทธิบัตรเป็นโทษอาญา จะเป็นการทำลายความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องเทคโนโลยีของประเทศไทย
คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กลุ่มศึกษารณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวว่า รู้สึกเสียใจอย่างยิ่งกับมติ ครม. ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ ได้รับปากต่อหน้าสาธารณะและเป็นการส่วนตัวด้วยว่ายินดีรับฟังข้อท้วงติง จะจัดประชุมเวทีเพิ่มเติมเพื่อรับฟังความคิดเห็น และจะศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อดีและข้อเสีย แต่บัดนี้ คณะเจรจาได้กลายเป็นนายหน้ารักษาผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถอ้างตัวได้ว่าเป็นผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ ขอเสนอให้มีการถอดถอนคนกลุ่มนี้ออกจากการเป็นคณะเจรจาในความเมืองใดๆของประเทศ
คณะเจรจาอ้างว่า เอฟทีเอจะไม่เหนือกว่ากฎหมายไทยที่มีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา เราได้ทำเอกสารชี้แจงว่ากฎหมายควบคุมของไทยมีจุดอ่อน ซึ่งต่อมา ทุกคนก็ยอมรับในจุดนี้ ผู้แทนของกรมควบคุมมลพิษเองยอมรับว่า เขาไม่ได้เข้าไปมีส่วนรับรู้ในการเจรจาเอฟทีเอเลย นี่เป็นสิ่งที่น่าตกใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกลับไม่ได้รับรู้เลย และหากไปดูในรายชื่อคณะเจรจา มีเพียงนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม หนึ่งท่านเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ระบุสังกัดชัดเจน
หากว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้าตามมติวันที่ 20 กุมภาพันธ์ กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะเจรจา สมาชิก สนช. ที่อภิปรายสนับสนุน หรือรัฐบาล ต้องรับผิดชอบหากเกิดการไหล่บ่าของของเสียอันตราย คนที่ถูกมัดมือชกไม่ใช่สมาชิก สนช. ที่อภิปรายเห็นด้วย แต่เป็นคนไทยทั้งประเทศที่ถูกมัดมือชก ยืนยันว่า รัฐบาลต้องตัดนิยามที่ว่าด้วยของเสียอันตรายและยกพิกัดที่เกี่ยวข้องออกจากความตกลงฯ
คุณ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สมาชิกกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ ได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า แม้ในบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาจะสนับสนุนให้สามารถใช้มาตรการยืดหยุ่นด้านสาธารณสุขตามองค์การการค้าโลกได้ แต่บทที่ 8 ข้อ 91 (j)(i)(BB) ในความตกลงฯจะทำให้ มาตรการอย่าง เช่น มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing-CL) อาจถูกตีความได้ว่าเป็นการยึดทรัพย์ทางอ้อม ซึ่งในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นไม่ได้ระบุยกเว้นไว้ และเมื่อไปดูในเอฟทีเอไทยกับสหรัฐฯ เรื่องการลงทุน พบว่ายังดีกว่าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นด้วยซ้ำไปในประเด็นนี้ เพราะมีการยกเว้นไว้ว่ามาตรการยืดหยุ่นอย่างมาตรการบังคับใช้สิทธินั้น ไม่ถือว่าเป็นการยึดทรัพย์ ซึ่งหากถือเป็นการยึดทรัพย์จริง จะต้องมีการชดเชยในมูลค่าตลาด ทันที และให้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้มีปัญหามาก เพราะมาตรการบังคับใช้สิทธิจะไม่สามารถถูกนำมาใช้ได้เลย
แต่หากรัฐบาลยังคงยืนยันจะทำมาตรการบังคับใช้สิทธิต่อไป รัฐบาลก็จะเสี่ยงกับการถูกฟ้องร้องจากนักลงทุนผ่านอนุญาโตตุลาการนอกประเทศ นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดให้มีการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) หมายความว่า ประเทศอื่นก็สามารถจะได้สิทธินี้เช่นกัน
อยากให้นายกรัฐมนตรีรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับ ศ. เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และท่านผู้หญิง สุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานสถาบันธรรมรัฐเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เข้าพบกับนายกฯเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา และกล่าวว่าจะให้เวลา 3 เดือนในการพิจารณาข้อบกพร่องที่มีอยู่ในร่างความตกลง