ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิจัยของทีดีอาร์ไอและหัวหน้าผู้จัดทำรายงาน "การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะได้รับจากร่างความตกลง" ได้เขียนบทความตอบคุณนันทน อินทนนท์เรื่อง "ตอบประเด็นสิทธิบัตรจุลชีพใน JTEPA กับรายงานของทีดีอาร์ไอ" โดยเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และเว็บไซท์ของทีดีอาร์ไอเมื่อเร็วๆนี้ ส่วนหนึ่งของบทความดังกล่าว ได้ยอมรับความบกพร่องในรายงานการประเมินผลของตนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิบัตรในจุลชีพโดยกล่าวว่า " การแบ่งจุลชีพออกเป็นประเภทต่างๆ และชี้ว่าจุลชีพประเภทที่อาจเกิดปัญหาในการตีความว่าจะต้องให้การคุ้มครองภายใต้สิทธิบัตรหรือไม่คือ จุลชีพที่ถูกสกัดออกมาแต่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติทุกประการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมเองยอมรับว่าไม่ได้คิดถึงมาก่อน จึงไม่ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ในรายงาน"
อย่างไรก็ตามได้มีบางส่วนในบทความดังกล่าวพาดพิงถึงกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์)ซึ่งผมเองเป็นสมาชิกอยู่ และเป็นผู้รับผิดชอบในประเด็นการวิเคราะห์ผลกระทบของเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นที่มีผลกระทบต่อการจดสิทธิบัตรในทรัพยากรชีวภาพ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า "กลุ่มเอ็นจีโออ้างว่าประเทศไทยต้องให้การคุ้มครองจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความแตกตื่นในวงกว้าง แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญารวมทั้งคุณนันทนเห็นว่าการตีความของกลุ่มเอ็นจีโอน่าจะไม่ถูกต้อง แต่ไม่ทราบว่าข้อมูลใหม่นี้จะสามารถลดความเข้าใจผิดและความแตกตื่นของประชาชนได้เพียงใด และใครต้องรับผิดชอบกับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนนี้ "
ผมขอชี้แจงประเด็นดังกล่าวดังต่อไปนี้
1) ในบทวิเคราะห์ของเอฟทีเอว็อทช์เกี่ยวกับประเด็นผลกระทบของเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นนั้น ผมใช้คำว่า "เอฟทีเอไทยญี่ปุ่นเปิดช่องให้มีการจดสิทธิบัตรจุลชีพตามธรรมชาติ" (จากหนังสือวิเคราะห์ความตกลงที่ถูกปกปิด เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หน้า26) รวมถึงการยกตัวอย่างกรณีการจดสิทธิบัตรไวรัสมะละกอใบด่างจุดวงแหวนสายพันธุ์ไทยของนายเดนิส กอนซาลเวส (ในบทความเรื่องระวังการลงนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เปิดทางต่างชาติยึดครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ตีพิมพ์ในเว็บไซท์ ftawatch.org และ prachatai.com) มิได้เป็นการวิเคราะห์ที่คลาดเคลื่อนแต่ประการใด เพราะเป็นการ "เปิดช่อง" ให้ญี่ปุ่น สามารถจดสิทธิบัตรหน่วยพันธุกรรม หรือสารสกัดอื่นใดจากจุลชีพได้ ซึ่งตรงกับการวิเคราะห์ของท่านนันทนที่เห็นว่า "จุลชีพที่ถูกสกัดออกมาแต่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติทุกประการ" นั้น อาจจะถูกจดสิทธิบัตรได้ภายใต้เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น สิ่งที่ขาดในบทความที่ผมเขียนคือ มิได้แจกแจงแยกแยะให้เห็นว่าการจดสิทธิบัตรที่ "เกี่ยวข้อง" กับจุลชีพตามธรรมชาตินั้นมีอยู่หลายประเภทดังที่บทความของท่านนันทนซึ่งได้ทำให้เห็นอย่างชัดเจน เนื่องจากเกรงว่าการลงลึกในประเด็นทางเทคนิคมากเกินไปอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนั้น อย่างไรก็ตามการที่ผมยกตัวอย่างกรณีการจดสิทธิบัตรไวรัสมะละกอใบด่างจุดวงแหวน มาอธิบายแทบทุกครั้งทั้งในบทความและการอภิปรายในที่สาธารณะ คือเจตนาที่ชี้ให้เห็นว่าการลงนามเอฟทีเอกับญี่ปุ่น "เปิดช่อง" ให้มีการจดสิทธิบัตรประเภทที่ท่านนันทนแจกแจงให้เห็น
2) เป็นความจริงที่ท่านนันทนไม่เห็นตรงกับการวิเคราะห์ของผมและเอฟทีเอว็อทช์เกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรไวรัสที่ได้มาจากธรรมชาติโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ แต่ผมและนักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมากสามารถยืนยันได้ว่าทั้งกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นนั้นเปิดช่องให้มีการจดสิทธิบัตรจุลชีพตามธรรมชาติได้ และ "เจตนา" ของญี่ปุ่นที่ผลักดันเนื้อหาเรื่องสิทธิบัตรจุลชีพนั้นประสงค์จะให้ครอบคลุมประเด็นดังกล่าวด้วยนอกเหนือจาก "จุลชีพที่ถูกสกัดออกมา" ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว ไม่ว่ากฎหมายภายในของเราจะเป็นเช่นไร
ในตอนแรกผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่าความตกลงในข้อ 130(3) จะกินความไปถึงสิทธิบัตรจุลชีพที่ได้มาจากธรรมชาติโดยตรง จึงได้เขียนจดหมายไปขอความเห็นของ ศ.คาร์ลอส คอเรีย นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คำตอบของคาร์ลอส คอเรีย ในจดหมายที่ส่งมาถึงผมเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 คือ "ตามความในมาตรา 130(3) ข้อตกลงความร่วมมือญี่ปุ่น-ไทย อาจถูกตีความไปไกลถึงการอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรในจุลชีพที่พบได้ในธรรมชาติ หากตรงตามเงื่อนไขในองค์ประกอบการจดสิทธิบัตร (มีความใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม) กล่าวกันให้ชัดๆคือ ร่างข้อตกลงนี้มีความพยายามเร่งให้ตีความในทำนองที่ว่าจุลชีพชนิดหนึ่งๆนั้นอาจถือได้ว่าเป็น "สิ่งประดิษฐ์" นั่นเอง " (อ่านจดหมายฉบับดังกล่าวพร้อมคำแปลได้จาก
http://www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=11&s_id=74&d_id=74)
3) น่าเสียดาย ดร.สมเกียรติ ตอบประเด็นการวิเคราะห์ของท่านนันนทนเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิบัตรจุลชีพเท่านั้น
แต่มิได้กล่าวถึงประเด็นอื่นที่ท่านนันทนเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของเอฟทีเอว็อทช์ เช่น การวิเคราะห์ว่าข้อตกลงในข้อ 135(2) ซึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชของความตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นว่า "หลักการเช่นนี้ไม่ได้มีผลแตกต่างไปจากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟ ๑๙๙๑" ซึ่ง "เกินเลยไปกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของความตกลงทริปส์"
ซึ่งความตกลงในเรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ รวมถึงมีผลกระทบต่อการบริหารกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 "เพราะการประกาศรายชื่อพันธุ์พืชที่จะได้รับความคุ้มครองไม่ได้เป็นไปตามอำเภอใจของรัฐมนตรี คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยมีองค์ประกอบที่หลากหลายและมีหน้าที่ให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีในการประกาศรายชื่อพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แก่ประเทศไทยมากที่สุด"
(บทความของ นันทนเรื่อง JTEPA กับตำราพิชัยสงคราม ใน http://www.biothai.net/autopage1/show_page.php?t=20&s_id=47&d_id=47)
คำกล่าวของดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ที่ว่าเอ็นจีโอ "ทำให้เกิดความแตกตื่นในวงกว้าง" และเรียกร้องให้ " ต้องรับผิดชอบกับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนนี้ " จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่เป็นธรรม เอฟทีเอว็อทช์มีความรับผิดชอบต่อสังคมไทยและพร้อมที่จะรับผิดชอบหากมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจริงใน
รายงานที่กลุ่มได้จัดทำและเผยแพร่เพื่อทักท้วงกรณีเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น แม้ว่าการดำเนินงานของกลุ่มจะมิได้รับการสนับสนุนโดยตรงใดๆจากรัฐบาลเหมือนที่ทีดีอาร์ไอได้รับก็ตาม ในทำนองเดียวกันผมเห็นว่าทีดีอาร์ไอควรที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อความบกพร่องในรายงาน "การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะได้รับจากร่างความตกลง" ด้วยมาตรฐานเช่นเดียวกันนั้นด้วย