แถลงการณ์อย่ายอมให้สหรัฐฯทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ไปตลอดชาติ

แน่นอนว่า ในที่สุด สหรัฐฯจะสร้างวงจรอุบาทว์อีกครั้ง ด้วยการยื่นเงื่อนไขบีบบังคับประเทศไทยให้ยกเลิกการประกาศบังคับใช้สิทธิ และต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าพันธกรณีในองค์การการค้าโลก โดยแลกกับการถอนชื่อประเทศไทยออกจากประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็จะใช้ยุทธศาสตร์สร้างความแตกแยกในประเทศระหว่างกลุ่มผู้ได้ผลประโยชน์จากการส่งออก (อัญมณี, ทีวีสี, พลาสติก และยางเรเดียล) กับประชาชนทั้งประเทศที่ต้องการเข้าถึงยา

 

แถลงการณ์
อย่ายอมให้สหรัฐฯทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ไปตลอดชาติ

เมื่อวานนี้ (30 เมษายน 2550) สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้เผยแพร่รายงานประจำปีตามมาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ย้ายประเทศไทยไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Priority Watch List - PWL)

ข้อสรุปผลการศึกษาของยูเอสทีอาร์ ไม่ใช่ผลการศึกษา หรืองานวิจัย แต่ได้มาจากการรายงานของกลุ่มธุรกิจอเมริกันที่ทำการค้าในประเทศนั้นๆ 

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้ มาตรา 301 พิเศษเป็นเครื่องมือข่มขู่ประเทศคู่ค้าในลักษณะมาตรการฝ่ายเดียว เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ ใช้กดดันประเทศคู่ค้าเมื่อการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีหรือข้อตกลงการค้าโลกแบบพหุภาคียังไม่ประสบความสำเร็จดังใจหมาย ทั้งๆ ที่ สิ่งที่ธุรกิจสหรัฐฯ ตั้งเป้าไว้ คือ การเอาเปรียบคู่ค้าและละโมบเกินกว่าที่สังคมโลกจะยอมรับได้ก็ตาม คือ เกินกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลก เรียกง่ายๆว่า นี่คือ เครื่องมือขู่กรรโชกของอันธพาลอเมริกัน

 ในอดีต ปี 2535 ช่วงรัฐบาล รสช. สหรัฐฯ ก็เคยใช้มาตรา 301 พิเศษ บีบให้ประเทศไทยแก้กฎหมายสิทธิบัตรเพื่อขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร และรับสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ ก่อนหน้าความผูกพันธ์ใน WTO ถึง 8 ปีโดยใช้ยุทธวิธีสร้างความแตกแยกในประเทศไทย ระหว่างมูลค่าการส่งออกสินค้า กับชีวิตของประชาชน ในที่สุดรัฐบาลรัฐประหารขณะนั้นซึ่งแสวงหาการยอมรับจากนานาประเทศอย่างมาก ยอมตาม “เกมขู่กรรโชก” ส่งผลให้อุตสาหกรรมยาในประเทศอ่อนแอ และยามีราคาแพงขึ้นอย่างมาก

สหรัฐฯพยายามอย่างยิ่งที่จะบีบบังคับประเทศต่างๆขยายความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด เมื่อไม่สำเร็จในพหุภาคี ก็ใช้การเจรจาทวิภาคี ในกรณีของไทย การเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯหยุดชะงักไป และหน่วยราชการก็ยืนยันชัดเจนที่จะไม่ยอมตามข้อตกลงที่มากไปกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลก สหรัฐฯจึงใช้มาตรา 301 บีบไทยอีกครั้ง ไม่ต่างกับพฤติกรรมของหมาป่าที่ไล่ต้อนลูกแกะว่า “ทำน้ำขุ่น” ในนิทานอีสป

ข้ออ้างเรื่อง “ความไม่โปร่งใส” รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างโปร่งใสตามขั้นตอนที่ชัดเจน เปิดเผยต่อสื่อมวลชน มาโดยตลอด เป็นลำดับ ตลอดจนจัดพิมพ์สมุดปกขาว ชี้แจง อย่างละเอียด ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ขณะที่การบังคับใช้สิทธิโดยรัฐบาลที่สหรัฐฯเคยดำเนินการมาในอดีตก็ไม่เคยต้องมีการปรึกษาหารือกับผู้ทรงสิทธิก่อนแต่อย่างใด

เมื่อเปรียบเทียบมาตรการใช้สิทธิของรัฐบาลไทยที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่า “ไม่มีความโปร่งใส” กับการเจรจาเอฟทีเอที่สหรัฐฯ ยื่นเงื่อนไขให้ไทยเก็บข้อมูลการเจรจาเป็นความลับ ทั้งๆ ที่ข้อตกลงเอฟทีเอจะส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยอย่างกว้างขวาง และแม้ภาคประชาสังคมจะถามหาความโปร่งใส  แต่สหรัฐฯ ก็ไม่สนใจนั้น เห็นได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยใช้สองมาตรฐานอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ตามเหตุผลที่กว่าอ้างในรายงานฯ ล้วนเป็นเนื้อหาที่เกินกว่าข้อตกลงทริปส์ ทั้งการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) และ เร่งกระบวนการออกสิทธิบัตร ซึ่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม 

แน่นอนว่า ในที่สุด สหรัฐฯจะสร้างวงจรอุบาทว์อีกครั้ง ด้วยการยื่นเงื่อนไขบีบบังคับประเทศไทยให้ยกเลิกการประกาศบังคับใช้สิทธิ และต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าพันธกรณีในองค์การการค้าโลก โดยแลกกับการถอนชื่อประเทศไทยออกจากประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็จะใช้ยุทธศาสตร์สร้างความแตกแยกในประเทศระหว่างกลุ่มผู้ได้ผลประโยชน์จากการส่งออก (อัญมณี, ทีวีสี, พลาสติก และยางเรเดียล) กับประชาชนทั้งประเทศที่ต้องการเข้าถึงยา

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) จึงขอเรียกร้องให้

1.กระทรวงสาธารณสุข หนักแน่น และยืนหยัดในจุดยืนที่ถูกต้อง  อย่าคลอนแคลน หรือ ถอดใจเพียงเพราะ เล่ห์เหลี่ยมการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือความไม่เข้าใจของคนในรัฐบาลที่สหรัฐฯกำลังหาช่องยุแหย่ให้เกิดความแตกแยก เพราะหากการบังคับใช้สิทธิของไทยไม่เป็นผลสำเร็จจากการขู่ของประเทศมหาอำนาจในครั้งนี้จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หมดโอกาสในการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้อง

2.ทุกองคาพยพของรัฐบาลต้องเป็นเอกภาพและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ที่ควรทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ชี้แจงความถูกต้องในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของไทยที่ถูกต้องตามกฎหมายไทยและกติกาสากล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย ชีวิตของคนไทย มิใช่โดดเดี่ยวกระทรวงสาธารณสุข

3.ความเป็นผู้นำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีให้ยึดมั่นในคำมั่นสัญญาที่จะทำให้ประเทศไทยมีความสุขมวลรวมประชาชาติ ไม่คำนึงความเจริญเติบโตแค่เพียงตัวเลขเท่านั้น

ประเทศไทยมิใช่ประเทศเดียว ที่ติดอยู่ใน PWL ดังนั้น ต้องรอบคอบในการแสดงจุดยืนของประเทศ เพื่อแสดงถึงอธิปไตยของประเทศที่ใช้หลักนิติธรรมในการปกครอง และการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกต้องยึดหลักนิติธรรมเช่นเดียวกัน การที่ประเทศไทยดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายทั้งกฎหมายภายในประเทศและกติกาสากล สังคมโลกให้การยอมรับ รวมทั้งสหรัฐฯ เองก็ยอมรับแต่ยังอ้าง “ความโปร่งใส” นั้น   หากสหรัฐฯ จะตอบโต้ทางการค้าย่อมถูกประนามไปทั่วโลก

คนไทยทุกคนต้องไม่ตระหนกต่อการคุกคามที่เป็นกับดักของสหรัฐฯ  และต้องแก้ไขปัญหาอย่างมีศักดิ์ศรีของชาติที่เป็นเอกราชด้วยวุฒิภาวะและความเข้าใจ ร่วมทำงานกับภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมกันประนามและต่อต้านพฤติกรรมอันธพาลอย่างถึงที่สุด

 

ลงนามโดย

นายจอน อึ๊งภากร อดีตสมาชิกวุฒสภา

ผศ.ภญ. สำลี ใจดี นักวิชาการอิสระ

รศ.ดร.สุธี ประศาสตร์เศรษฐ์ นักวิชาการอิสระ

รศ. ดร. สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ. ดร. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร. วิทยา  กุลสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ. สุนทรี วิทยานารถไพศาล ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.)

มูลนิธิเภสัชชนบท

มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)

โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.)

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (คลท.)

มูลนิธิชีวิตไทย (RRAFA)

คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) 

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (ACCESS)

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (TNP+)

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป. อพช.)

กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม

มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

กลุ่มปฏิบัติการท้องถิ่นสากล (Local Action Link)

องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย)

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: