
(อิมแพค/ 18 พฤษภาคม 2550) เมื่อเวลา 12.00 น.ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายชุมชนแออัด เครือข่ายชนกลุ่มน้อย เครือข่ายแรงงานนอกระบบเครือข่ายผู้บริโภคและกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กว่า 300 คน ได้รวมตัวกันประท้วงหน้าการการสัมมนาเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย- ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารชาเลนเจอร์อิมแพค เมืองทองธานี ทั้งนี้ ตัวแทนองค์กรภาคประชาชนทั้ง 6 เครือข่ายได้ถือป้ายมีข้อความ อาทิ เซ็นเอฟทีเอ ฉิบหายทั้งชาติ, เอาขยะพิษมาทิ้งไทย แลกกุ้ง-ไก่ได้ส่งออก, FTA ไทย-ญี่ปุ่น สัญญาทาส ไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส ไม่มีส่วนร่วม, FTA ไทย-ญี่ปุ่น ซาเล้งขนขยะพิษ, FTA ไทย-ญี่ปุ่น โจรสลัดชีวภาพ, FTA ไทย-ญี่ปุ่น ปล้นทรัพยากรไทย, FTA ไทย-ญี่ปุ่น ปั่นเศรษฐกิจผีหลอก, FTA ไทย-ญี่ปุ่น ทำหมอสมองไหล คนไข้นอนตาย
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การมาประท้วงวันนี้ อันที่จริงเป็นเรื่องบังเอิญที่พวกเรามาประชุมเพื่อเลือกคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ฮอลล์ 9 ขณะที่เพิ่งทราบว่า ที่อาคารชาเลนเจอร์มีการประชุมนักธุรกิจว่าจะหาช่องทางหาประโยชน์จากเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นกันอย่างไร จึงมีความรู้สึกร่วมกันว่า รัฐบาลมีการประชุมวางแผนว่าจะใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น แต่ไม่มีการประชุม วางแผนรองรับ หรือวางยุทธศาสตร์นโยบายสำหรับกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ ฉบับนี้ ดังนั้นเราจึงรวมตัวมาแสดงพลังให้เห็น และเป็นการสะท้อนความเห็นของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เร่งลงนามเอฟทีเอ และ อยากให้รัฐบาลคิดเก็บภาษีพิเศษจากกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากโอกาสทางนโยบาย ไม่ใช่สร้างภาระให้สังคมจากการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เท่านั้น นอกจากนี้ การรวมตัวกันครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการให้การศึกษากับสังคมว่า
เราต้องพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 186 อย่างรอบคอบ เพราะเป็นมาตราหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการเมือง และสร้างการเมืองภาคประชาชน โดยเสนอให้ สสร. ปรับปรุงมาตรา 186 ว่า สัญญาระหว่างประเทศ ต้องเห็นก่อนเซ็น รัฐสภาต้องพิจารณา ประชาต้องมีส่วนร่วม และมาตรา 295 ที่ต้องระบุให้ มาตรา 186 ต้องมีผลบังคับใช้ทันที ถ้าหนังสือสัญญาระหว่างประเทศใดๆ ยังไม่มีผลผูกพันต้องผ่านกระบวนการเหล่านี้ทั้งสิ้น