วันนี้ (23 ก.ย.) กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA-Watch) แถลงข่าว ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้นำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาตามข้อบัญญัติ มาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญฯ 2550
การแถลงข่าวครั้งนี้สืบเนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือเลขที่ กต.1305/2007 ลงวันที่ 17 ก.ย. 2550 ถึงคณะรัฐมนตรีให้นำข้อตกลง JTEPA ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจไม่ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเห็นชอบ และเตรียมส่งหนังสือแลกเปลี่ยนหนังสือทางการฑูตกับรัฐบาลญี่ปุ่นภายในวันที่ 2 ต.ค.นี้ เพื่อให้ข้อตกลง JTEPA มีผลบังคับใช้ทันวันที่ 1 พ.ย. นี้ และประกาศพร้อมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประกาศบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา และมีผลต่อรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันให้ปฏิบัติตาม เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ระบุว่าหนังสือสัญญาใดที่มีผลผูกผันด้านการค้าการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน และรัฐบาลจะต้องดำเนินการเปิดเผยรายละเอียดหนังสือสัญญาให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กำหนดมาตราการดำเนินการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลจะต้องทำก่อนทำหนังสือแสดงเจตนาผูกพัน
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า กระบวนการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศมี 7 ขั้นตอนนับจากการเริ่มต้นถึงการบังคับใช้ ปัญหาตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่ 5 กับขั้นตอนที่ 6 การลงนามของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ญี่ปุ่นนั้นถือเป็นขั้นตอนที่ 5 การรับรองความถูกต้องแท้จริง ยังไม่มีผลผูกพันใดๆ ขั้นต่อไปคือทั้งสองประเทศแสดงเจตนาผูกพัน ซึ่งในขั้นตอนนี้แต่ละประเทศมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของตนว่าต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนไปลงสัตยาบัน
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าการลงนามเมื่อวันที่ 3 เม.ย. เท่ากับเป็นการแสดงเจตนาผูกพันไปแล้ว แต่แท้ที่จริงไม่ใช่ ดังที่กระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี ระบุชัดเจนว่าข้อตกลง JTEPA เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการเจรจา JTEPA มาโดยตลอด จึงรู้รายละเอียดและมีความชัดเจน
นายบัณฑูร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณี JTEPA จะเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จะมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จริงใจต่อรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลนี้ได้มีส่วนสร้างขึ้นมาหรือไม่ การประกาศลาออก ไม่ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบใดๆ เพราะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำผิดรัฐธรรมนูญ
นายจักรชัย โฉมทองดี กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า รัฐบาลนี้ดำเนินการข้อตกลง JTEPA ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว และเคยได้นำเรื่องนี้เข้าหารือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ไม่ใช่เป็นการขอให้พิจารณาลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ หลังจากนั้นไปลงนามเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะนี้ข้อตกลง JTEPA ยังไม่มีผลบังคับ หรือผูกพันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น จะต้องมีขั้นตอนแสดงเจตนาผูกพันระหว่าง 2 รัฐก่อนตามพิธีทางการฑูต ซึ่งนับจากวันที่ 3 เม.ย.จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยยังไม่ได้ส่งหนังสือแสดงเจตนาผูกพัน
การที่ผู้นำรัฐบาลยืนยันแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาทางการฑูตโดยไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติก่อน ถือเป็นการกระทำที่พยายามหลบเลี่ยงการทำตามขั้นตอน และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว และจะส่งผลกระทบต่อทั้งภายในคือ รัฐบาลจะนำกฎหมายภายในประเทศมากล่าวอ้างที่จะไม่ดำเนินการตามข้อตกลงไม่ได้ ส่งผลให้ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ทั้งที่การเลื่อนการบังคับใช้ออกไป ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีความเข้าใจเพราะเรามีรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ขณะที่ภาคเอกชน อัญมณี เครื่องนุ่งห่ม ที่ได้รับประโยชน์จาก JTEPA ก็บอกว่าการเลื่อนออกไปไม่มีผล แต่กลับช่วยเปิดโอกาสในการปรับตัวและรับประโยชน์ได้มากขึ้น
นายจักรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่นายกสุรยุทธ์ออกมาระบุว่าไม่นำเข้าสนช. และจะลาออกหากมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และศาลตัดสินว่าผิด ขัดรัฐธรรมนูญ อันนี้เราเห็นว่าเป็นจุดยืนที่ขาดความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง เทียบได้กับการนำประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องการความสงบสุขเรียบร้อยทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมาเป็นตัวประกัน กับเรื่องที่มีทางออกตามครรลองแห่งรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และถือเป็นการกดดันศาลอย่างเห็นได้ชัด
?เราขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทบทวนการตัดสินใจอย่างด่วนที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาวิกฤตรัฐธรรมนูญ การประกาศลาออก คณะรัฐมนตรีก็ต้องลาออกทั้งหมด แล้วจะบริหารประเทศ จัดการเลือกตั้งอย่างไร เราไม่ต้องการเห็นกระบวนการนี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง?นายจักรชัย กล่าว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า ประเด็น JTEPA เราติดตามมาโดยตลอดและคัดค้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการทำให้ขยะเป็นสินค้า แล้วลดภาษีให้ขยะ การจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต รวมถึงการเปิดเสรีบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อคนไทย
?พล.อ.สุรยุทธ์ไม่ควรใช้กรณี JTEPA มาขู่ และกดดันทั้งศาล และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สิ่งที่เราเรียกร้องวันนี้คือ ควรทำให้ถูกขั้นตอนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด วันนี้เรามาเตือนรัฐบาล ต่อไปเราจะต้องติดตามมติคณะรัฐมนตรีว่ามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร และเราฟ้องศาลรัฐธรรมนูญแน่ถ้ารัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญ? นางสาวสารีกล่าว